กรมวิชาการเกษตร ระงับส่งออกทุเรียนจากล้ง 12 แห่งหลังจีนพบแคดเมี่ยมปน

กรมวิชาการเกษตร ระงับส่งออกทุเรียนจากล้ง 12 แห่งหลังจีนพบแคดเมี่ยมปน

กรมวิชาการเกษตร สั่งระงับการส่งออกทุเรียน ล้ง สวน 12 แห่ง หลังจีนพบปนเปื้อนสารแคดเมียม พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง ดิน น้ำ ปัจจัยการผลิต ขณะ ธรรมนัส”สั่งดำเนินการขั้นเด็ดขาด ชี้ปลอมแปลงสวมการใช้ใบรับรอง GAPถือเป็นคดีอาญา

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการอย่างเด็ดขาดกับเจ้าของล้งและสวนทุเรียนที่มีสารแคดเมียมปนเปื้อน ซึ่งนำมาสู่กรณีที่จีนตีกลับและระงับการนำเข้าทุเรียนไทยอย่างจริงจัง เพื่อยกระดับคุณภาพและความเชื่อมั่นในทุเรียนไทยและยกระดับราคาที่เกษตรกรขายได้

กรมวิชาการเกษตร ระงับส่งออกทุเรียนจากล้ง 12 แห่งหลังจีนพบแคดเมี่ยมปน

ทั้งนี้ หากพบการลักลอบนำเข้าทุเรียนต่างประเทศ เพื่อมาสวมสิทธิทุเรียนไทยเพื่อส่งออก ถือเป็นการทำลายคุณภาพและภาพลักษณ์ทุเรียนไทย จึงต้องดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด โดยเฉพาะกลุ่มที่ปลอมแปลงหรือสวมการใช้ใบรับรอง GAPให้เป็นคดีอาญาเพราะถือเป็นการปลอมแปลงเอกสารทำอย่างจริงจัง โดยเพิ่มความเข้มงวดและบทลงโทษสำหรับผู้กระทำผิด เพราะทุเรียนที่จะส่งออกจีนได้ต้องได้ ขึ้นทะเบียน GAP

ล่าสุดข้อมูล ณ วันที่ 9 ม.ค.2567 ผลการขึ้นทะเบียน GAP ของจีน มีผลไม้ที่จีนได้ทำพิธีสารอนุญาตให้ไทยสามารถนำเข้าได้ จำนวน 22 ชนิด พบว่าข้อมูลการขึ้น ที่จีนขึ้นทะเบียนสวน รวมทั้งสิ้น 218,922แปลง และมีจำนวนโรงคัดบรรจุ ที่ได้รับการรับรอง GMP-DOA และจีนได้ขึ้นที่เว็บไซต์พร้อมส่งออกแล้ว รวมทั้งสิ้น 2,038 แห่ง ต่อมา

เมื่อวันที่ 9 เม.ย.2567ได้มีการเสนอขอขึ้นทะเบียนเพิ่มเติมกับจีน อยู่ระหว่างรอ มีจำนวนสวน รวมทั้งสิ้น 227,879 แปลง และมีจำนวนวนโรงคัดบรรจุที่ขอการรับรอง GMP-DOA รวมทั้งสิ้น 2,123 แห่ง ซึ่งเมื่อเปรียบเพียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกันพบว่าผลการขึ้นทะเบียนดังกล่าวทั้งสวนและโรงคัดบรรจุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น 4.4%และ 4.2% ตามลำดับ เมื่อเข้าไปดูเป็นรายสินค้าจะเห็นได้ว่าทุเรียน และมังคุดที่ถือว่าเป็นสินค้าผลไม้สำคัญที่ส่งออกไปจีนมีการขึ้นทะเบียนกับจีนได้เพิ่มขึ้น 7.9% และ 1.6% ตามลำดับ

ด้านนายภัสชญภณ หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว ภายหลังเป็นประธานการประชุมแนวทางการป้องกันแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียนส่งออกไปจีน กับผู้ประกอบการส่งออก ว่า หลังมีการรายงานการแจ้งเตือนการตรวจพบการปนเปื้อนแคดเมียมในทุเรียนส่งออกไปจีนปี 2567 จีนได้มีการแจ้งเตือนมาตั้งแต่ 11 มี.ค. 2567 จนถึงปัจจุบันมีการแจ้งเตือน จำนวน 6 ครั้ง จากผู้ประกอบการโรงคคัดบรรจุ 12 ราย และแหล่งผลิตจำนวน 15 สวน จำนวน 16 ชิปเมนต์

ทั้งนี้ กรมวิชาการเกษตรได้สั่งระงับการส่งออกทันทีที่ตรวจพบ ทั้งในส่วนของโรงคัดบรรจุและสวนที่ระบุแล้ว พร้อมส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่เก็บตัวอย่าง ดิน น้ำ ปัจจัยการผลิต ทุเรียน เพื่อหาสารแคดเมียม ซึ่งจากการตรวจสอบตัวอย่าง พบตัวอย่างแคดเมียมแต่ไม่เกินมาตรฐานที่ทางการจีนกำหนด ที่ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

 ดังนั้นเพื่อหาสาเหตุทุเรียนไทยพบสานแคดเมี่ยมปนเปื้อนที่จีน จึงขอความร่วมมือผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน ที่จะส่งออกทุเรียนระหว่างวันที่ 2 -16 ก.ย.2567 นำตัวอย่างทุเรียนตู้ละ 5 ลูก ส่งตรวจสอบหาสารปนเปื้อนแคดเมียมเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้นำเข้า และนำไปใช้วิเคราะห์หาที่มาของการปนเปื้อนแคดเมียม โดยผู้ส่งออกจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ในอัตรา 800-1,200 บาท รวมค่าขนส่ง

กรมวิชาการเกษตรได้ประสานตลาดกลางผลไม้ตลาดมรกต จังหวัดชุมพรเป็นจุดรับตัวอย่าง เพื่อนำมาวิเคราะห์หาสาเหตุได้ พร้อมยืนยันว่า แม้จีนจะมีการแจ้งเตือนพบแคดเมียมปนเปื้อนในทุเรียน แต่จีนยังไม่ได้ระงับการการนำเข้าทุเรียนจากไทยแต่อย่างใด โดยทางการจีนและไทยมีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดและไทยแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหา ส่วนกรณีผู้ส่งออกบางรายตั้งข้อสังเกตุว่า ทุเรียนที่มีการปนเปื้อนสารแคดเมียมนั้น มาจากการสวมสิทธิทุเรียนเวียดนาม นั้น กรมไม่ได้ทิ้งประเด็นนี้และขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูลว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่

สำหรับการส่งออกทุเรียนไทยไปจีนตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-27 ส.ค. 2567 ส่งออกไปแล้ว 45,359 ตู้/ชิปเมนต์ ปริมาณ 714,334 ตัน มูลค่า 94,870 ล้านบาท ขณะนี้เหลือผลผลิตในพื้นที่ภาคใต้ 20% คาดว่าสิ้นปีนี้ ไทยจะส่งออกทุเรียนได้มูลค่าเกิน 1 แสนล้านบาท ส่วนปี 2566 ไทยส่งออกทุเรียนไปจีนจำนวน 56,992 ตู้/ชิปเมนต์ ปริมาณ 945,789 ตัน มูลค่า 120,459 ล้านบาท