ถอดบทเรียนจาก ‘เศรษฐา‘ ถึง ’แพทองธาร’ เมื่อนายกฯนั่ง ‘หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ’

ถอดบทเรียนจาก ‘เศรษฐา‘ ถึง ’แพทองธาร’  เมื่อนายกฯนั่ง ‘หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ’

ถอดบทเรียน “เศรษฐา” ถึง “แพทองธาร”5 ข้อสำคัญบริหารนโยบายเศรษฐกิจบนความท้าทาย นายกฯนั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจเองไม่ง่าย ต้องทำงานประสานพรรคร่วม ใช้กลไก ครม.เศรษฐกิจ กำหนดตัวชี้วัด ติดตามงานใกล้ชิด และสื่อสารนโยบายให้ประชาชนเข้าใจป้องกันความสับสน

KEY

POINTS

  • การเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีของแพทองธาร ชินวัตร กับบทบาทหัวหน้ารัฐบาล และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เต็มไปด้วยความท้าทายและต้องแบกรับความคาดหวังจากสังคม
  • หากย้อนกลับไปในช่วงที่เศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีเข้ามาเป็นนายกฯในช่วงแรกได้ควบตำแหน่ง รมว.คลัง และควบตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ แต่การผลักดันงานด้านเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม
  • การบริหารงานเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีจำเป็นต้องบริหารผ่านกลไกราชการ การบริหารราชการแผ่นดินในคณะกรรมการระดับชาติ โดยนายกฯต้องนั่งสั่งการและติดตามงานในบอร์ดเศรษฐกิจที่สำคัญ
  • นอกจากนั้นนายกฯต้องมีบทบาทประสานนโยบายเศรษฐกิจกับพรรคร่วมเช่น เรื่องราคาพลังงาน ราคาค่าจ้างขั้นต่ำ และการสร้างแรงงานฝีมือเพื่อตอบอุตสาหกรรมเป้าหมาย เป็นต้น 

ตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ถือเป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหาร มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย และมีอำนาจในการสั่งการทุกกระทรวงและหน่วยงานทุกหน่วยงานที่อยู่ภายใต้องคาพยพของรัฐบาล รวมทั้งมีอำนาจในการแต่งตั้งแบ่งงานหน้าที่ต่างๆให้รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบในเรื่องต่างๆ รวมทั้งมีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ โดยเฉพาะงบกลางรายการสำรองจ่ายฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนที่เป็นอำนาจโดยตรงของนายกรัฐมนตรีที่มีอยู่แต่ละปีงบประมาณกว่า 9 หมื่นล้านบาท

รัฐบาลแบกความหวังแก้เศรษฐกิจ

พรรคเพื่อไทยเข้ามาเป็นแกนนำรัฐบาลตั้งแต่เดือน ก.ย.ปี 2566 เป็นรัฐบาลที่ได้รับการคาดหวังว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่มีปัญหาอยู่หลายด้าน ในการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาฯ เมื่อเดือน ก.ย.ปี 2566 รัฐบาลมีการตั้งเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว โดยตั้งเป้าให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวเฉลี่ยปีละ 5% ขณะที่เป้าหมายในการบริหารเศรษฐกิจระยะสั้นฝากความหวังไว้กับการกระตุ้นเศรษฐกิจและมีการตั้งเป้าหมายให้เศรษฐกิจในปี 2567 ขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 3%

การให้ความสำคัญต่อนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเพื่อไทยในระยะแรกแสดงให้เห็นผ่านการที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นนั่งควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตามการบริหารงานสไตล์อดีตนายกฯเศรษฐาที่มีการเดินทางมากทั้งการลงพื้นที่ในประเทศ และเดินทางต่างประเทศมากทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ รวมทั้งในตำแหน่งรมว.คลังก็ไม่ได้มีการเข้าไปนั่งบริหารประชุมกับข้าราชการที่กระทรวง แต่มีการเข้าไปที่กระทรวงการคลังแค่ 3 ครั้งเท่านั้น

ขณะที่หลังการปรับ ครม.ที่มีการปรับเปลี่ยนทีมเศรษฐกิจหลายตำแหน่งรวมทั้งการเข้ามาของพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง ที่เริ่มมีการขยับนโยบายเศรษฐกิจทั้งฝั่งการคลังและตลาดทุน ส่วนบทบาทของนายกรัฐมนตรี ถอยไปนั่งเป็นประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจแค่ไม่กี่คณะได้แก่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเท่านั้น ประกอบกับรูปแบบการบริหารราชการแผ่นดินที่ไม่เป็นเนื้อเดียวกันกับรูปแบบการบริหารงานของข้าราชการทำให้การขับเคลื่อนงานเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผ่านมามีการสะดุด และล่าช้าไปหลายเรื่อง

จับตาบทบาทแพทองธารหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ

สำหรับบทบาทของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีคนที่ 31 ในการทำงานเรื่องเศรษฐกิจ อดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ผู้เป็นบิดาของนายกรัฐมนตรีให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อวันที่ 20 ส.ค.ที่ผ่านมาเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า น.ส.แพทองธาร คือหัวหน้าทีมเศรษฐกิจหรือไม่ นายทักษิณกล่าวว่า “แน่นอนครับ แน่นอน แต่ต้องมีคนช่วย นายกฯ อิ๊งค์เน้นเรื่องการทำงานเป็นทีมตลอด ในพรรคเขาก็ทำงานเป็นทีม แล้วเขาเอาคนจากพรรคมาช่วยหลายคน”

พร้อมกล่าวว่าดีเอ็นเอเดียวกัน คิดว่าคงจะได้ ส่วนต้องมีติวเข้มหรือไม่นั้น คงต้องช่วยกันคิด ไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียวคิด แต่ทำงานต้องเป็นทีม เรื่องเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องเล่น

“กรุงเทพธุรกิจ” สรุปบทเรียนในการบริหารงานด้านนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางและคำตอบว่ารัฐบาลใหม่ที่ น.ส.แพทองธารที่กำลังจะเข้ามาทำงานในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมควบตำแหน่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจถือว่าเป็นความท้าทายอย่างมาก และประเด็นที่ต้องติดตามและเตรียมพร้อมการทำงานใน 5 ประเด็นที่อาจส่งผลต่อการบริหารงานเศรษฐกิจในภาพรวมของนายกรัฐมนตรีได้

1.) บทบาทของนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ หากนายกรัฐมนตรีจะทำหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ถือว่าเป็นการสื่อสารกับสังคมว่ารัฐบาลของนายกฯแพทองธารจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาในช่วงนายเศรษฐาเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจแม้จะมีการประกาศออกไปแล้วนายกฯนั่งควบตำแหน่ง รมว.คลัง แต่บทบาทในการเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจไม่ชัดเจน แม้ว่าจะมีการเรียกหน่วยงานเศรษฐกิจเข้ามาหารือบ่อยครั้ง แต่รัฐบาลให้เวลาเรื่องการทำนโยบายดิจิทัลวอลเล็ตไปมาก ทั้งที่จริงแล้วเป็นเพียงแค่นโยบายเศรษฐกิจเดียวของรัฐบาลเท่านั้น

ทั้งนี้หากนายกรัฐมนตรีจะเล่นบทบาทหัวหน้าทีมเศรษฐกิจก็ต้องมีการติดตามสั่งการทุกประเด็นและนโยบายเศรษฐกิจที่มีความสำคัญ เช่น การแก้หนี้ครัวเรือน การแก้ปัญหาหนี้เสียภาคเอกชน การติดตามสถานการณ์ส่งออก ค่าเงิน และดอกเบี้ยนโยบาย ราคาสินค้า รวมทั้งสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ที่จะกระทบกับการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย หากมีประเด็นที่กระทบกับเศรษฐกิจรุนแรงนายกรัฐมนตรีต้องมีการเรียกประชุมหรืออาจใช้กลไกการตั้ง “ครม.เศรษฐกิจ”เพื่อกำหนดแผนในการรับมือ การเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีจะต้องมีการเดินหน้าบริหารในลักษณะเช่นนี้ โดยทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล และข้าราชการประจำในหน่วยงานและกระทรวงเศรษฐกิจ รวมทั้งเชิญเอกชนเข้ามาหารือช่วยกันผนึกกำลังแก้ปัญหานายกรัฐมนตรีจึงจะได้ชื่อว่าเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง

2.) การประสานนโยบายเศรษฐกิจกับพรรคร่วมรัฐบาล แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล และมีโควต้ารัฐมนตรีอยู่ในกระทรวงเศรษฐกิจจำนวนมากอย่างไรก็ตามหลายนโยบายเศรษฐกิจที่พรรคเพื่อไทยเคยหาเสียงไว้ต้องใช้ความร่วมมือของพรรคร่วมในการขับเคลื่อนนโยบาย เช่น นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ ที่จะปรับขึ้น 400 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 ต.ค.นี้ จะต้องใช้การขับเคลื่อนของกระทรวงแรงงาน ที่อยู่ภายใต้โควตาของพรรคภูมิใจไทย นโยบายการดึงการลงทุนซึ่งนักลงทุนต้องการแรงงานที่มีฝีมืออยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายก็ต้องใช้การขับเคลื่อนของพรรคภูมิใจไทยที่ดูแลกระทรวงศึกษา และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ส่วนนโยบายลดค่าครองชีพ น้ำมันและค่าไฟฟ้าก็ต้องใช้การขับเคลื่อนผ่านกระทรวงพลังงานที่เป็นโควต้าของพรรครวมไทยสร้างชาติ เป็นต้น

ดังนั้นนายกรัฐมนตรีจะต้องสามารถที่จะสั่งงานแบบบูรณาการ ทำงานร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลที่อยู่ใน ครม.เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจต่างๆได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าหมายไว้

3.) บทบาทของนายกรัฐมนตรีในการประชุมคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีควรให้ความสำคัญกับการประชุมคณะกรรมการเศรษฐกิจที่เป็นคณะกรรมการระดับชาติ เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญที่จะขับเคลือนนโยบายเศรษฐกิจและอนุมัติงบประมาณได้ โดยที่ผ่านมานายเศรษฐานั้นให้เวลาในการนั่งประชุมในคณะกรรมการระดับชาติที่เป็นบอร์ดด้านเศรษฐกิจน้อยเนื่องจากมีภารกิจหลายด้านโดยเฉพาะการลงพื้นที่ และในการประชุมแต่ละครั้งก็ใช้เวลาในการประชุมน้อย บางครั้งไม่ถึง 30 นาที ที่จริงแล้วการที่นายกรัฐมนตรีนั่งเป็นประธานบอร์ดคณะกรรมการใดๆย่อมเท่ากับว่าเป็นการส่งสัญญาณว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายนั้นๆ 

ที่ผ่านมามีหลายบอร์ดที่เป็นบอร์ดด้านเศรษฐกิจแล้วนายกรัฐมนตรีในหลายรัฐบาลที่ผ่านมาลงไปนั่งกำกับและติดตามนโยบายในฐานะประธานบอร์ดด้วยตัวเอง เช่น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) คณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ (นบข.) คณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) เป็นต้น ซึ่งก็ทำให้เห็นภาพว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายด้านนี้เป็นพิเศษ และการนั่งเป็นประธานคณะกรรมการด้วยตัวเองทำให้นายกฯทราบถึงปัญหาและข้อมูลทำให้สามารถตัดสินใจด้านนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.) การวางกลไกในการติดตามงานนโยบายด้านเศรษฐกิจ แม้ว่ารูปแบบสไตล์การทำงานของนายกรัฐมนตรีแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน แต่ในการสั่งการของนายกรัฐมนตรีในแต่ละเรื่องต้องมีการมอบหมายให้หัวหน้าส่วนราชการ หรือรัฐมนตรีในแต่ละกระทรวงรับไปปฏิบัติต่อมีการกำหนดกรอบระยะเวลา และมีการติดตามความคืบหน้าเป็นระยะๆซึ่งกลไกที่จะทำให้การบริหารงานในด้านนี้มีประสิทธิภาพต้องใช้กลไกการบริหารราชการแผ่นดิน ที่มีการประชุมมอบหมายงานที่ชัดเจน มีคำสั่งแต่งตั้งกรรมการ อนุกรรมการ ให้ทำงานในด้านต่างๆมอบหมายอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจน

ที่ผ่านมา อดีตนายกฯเศรษฐานั้นเป็นนายกฯที่มีข้อสั่งการมาก บางครั้งในการประชุม ครม.มีข้อสั่งการมากกว่า 10 ข้อ แต่ยังขาดกลไกที่จะลงไปติดตามความคืบหน้าของข้อสั่งการต่างๆ ซึ่งนายกฯแพทองธารควรจะมีมีการกำหนดกลไกในส่วนนี้ให้ชัดเจน โดยอาจกำหนดเป็นตัวชี้วัด (KPI) ให้กับรัฐมนตรีแต่ละคน รวมทั้งหัวหน้าส่วนราชการ หากทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ก็ต้องมีการคาดโทษ มีการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจนหากงานล่าช้า ผลงานไม่สัมฤทธิ์ผล

และ 5.) การสื่อสารนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะนโยบายเศรษฐกิจ มีความจำเป็นที่นายกรัฐมนตรีจะต้องมีการสื่อสารเรื่องนโยบายเศรษฐกิจในแต่ละนโยบาย ความสำคัญและความคืบหน้าของนโยบายต่างๆ ว่ารัฐบาลขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจต่างๆที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาลคืบหน้าไปอย่างไรบ้าง  ซึ่งที่ผ่านมาการสื่อสารผิดพลาดทำให้คนเกิดความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องและทำให้รัฐบาลเสียคะแนนนิยม เช่น นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีการชี้แจงที่ไม่ตรงกันในเรื่องวันลงทะเบียนของประชาชน และร้านค้า และการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ 2 ที่มีการเปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการจากเดือนละ 1 รอบ เป็นเดือนละ 2 รอบ โดยคาดว่าจะบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป

หลังจากการแถลงข่าวดังกล่าว ได้เกิดการถกเถียงและโต้แย้งเป็นวงกว้าง ว่าการจ่ายเงินเดือนข้าราชการเดือนละ 2 รอบอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการเงินให้กับข้าราชการ และอาจทำให้มีปัญหาเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากภาระการผ่อนจ่ายหนี้ที่ยังคงเป็นเดือนละครั้ง หากมีการบังคับให้ข้าราชการรับเงินเดือนเดือนละ 2 ครั้ง ก็อาจะทำให้ข้าราชการจำนวนมากมีปัญหาในการบริหารภาระหนี้สินได้

ต่อมานายเศรษฐาใช้การโพสต์ข้อความทางบัญชีเอ็กซ์อธิบายในเรื่องนี้ว่า เขาเข้าใจว่าเรื่องการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ เป็นการเสนอทางเลือกใหม่ อาจจะมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ ก็ขอยืนยันว่า รัฐบาลเสนอให้เป็นทางเลือกไม่ได้เป็นการบังคับ

จะเห็นได้ว่าการชี้แจงและสื่อความนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลถือว่าเป็นจุดอ่อนที่รัฐบาลของนายกฯแพทองธารต้องเข้ามาปิดจุดอ่อนในส่วนนี้