เศรษฐกิจฟื้นช้า -ต้นทุนการเงินสูง-ไร้วินัย ปัจจัยก่อหนี้ครัวเรือนไทยปี67

เศรษฐกิจฟื้นช้า -ต้นทุนการเงินสูง-ไร้วินัย   ปัจจัยก่อหนี้ครัวเรือนไทยปี67

“หนี้”เป็นเหมือนตุ้มถ่วงทั้งทางความรู้สึก และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ดังนั้นหากมีหนี้มากๆ ก็เท่ากับว่าเศรษฐกิจอาจไม่ไปถึงไหน รวมถึงความรู้สึกประชาชนที่แทบไม่มีแก่ใจจะคิดริเริ่มสิ่งใหม่ เพราะวันเวลาแห่งการทำงานต้องหมดไปกับการใช้หนี้

หากจะถามว่า คนไทยจะปลอดหนี้เมื่อไหร่ รายงานสถานการณ์ หนี้ครัวเรือนไทย และ หนี้ภาคธุรกิจไทย ผลกระทบต่อขีดความสามารถทางการเเข่งขันของเศรษฐกิจ จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ สาระสำคัญส่วนหนึ่งระบุถึงประมาณการหนี้ครัวเรือนของประเทศไทย ปี 2567 อ้างอิงข้อมูลจากสมาคมธนาคารไทย ที่ระบุว่าจากข้อมูล ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี (TTB Analytics) ประเมิน

หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยจะขึ้นสู่ระดับ 91.4% ต่อ GDP หรือมีมูลค่าประมาณ 16.9 ล้านล้านบาท โดยมี 3 สาเหตุหลัก ได้แก่ 

  1. เศรษฐกิจและระดับรายได้ที่ฟื้นตัวช้า 
  2. ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น
  3. พฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงินที่ดี

- เศรษฐกิจและระดับรายได้ที่ฟื้นตัวช้า ภาคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยธุรกิจขนาดกลางและย่อม( SMEs) เป็นส่วนใหญ่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะการท่องเที่ยว ทำให้ฐานะทางการเงินของ SMEs ยังมีความเปราะบาง และจะกระทบต่อตลาดแรงงานกว่า 70% ของจำนวนแรงงานทั่วประเทศ ส่งผลให้ครัวเรือนบางส่วนอาจต้องกู้ยืมเงินเพิ่มเติมเพื่อทดแทนสภาพคล่องที่หายไป

ปัจจัยต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น สินเชื่อรายย่อยที่มีความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ ทำให้ลูกหนี้มีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้ในอัตราเร่งชัดเจนขึ้น นอกจากนี้ หนี้ที่ถูกพักหรือเลื่อนออกไปจากผลของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยในช่วงที่เกิดวิกฤต จะถูกนำมาคิดทบต้น และมีส่วนทำให้ระดับหนี้ครัวเรือนในภาพรวมมีแนวโน้มปรับลดลงช้ากว่าปกติ

ปัจจัยพฤติกรรมการก่อหนี้โดยขาดวินัยทางการเงิน ที่ดีหนี้ครัวเรือนที่สูงกว่าระดับ80% ต่อ GDP จะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว

หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยได้เกินกว่า 80% ต่อ GDP มาตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคอย่างสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิต ซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่สร้างรายได้ในสัดส่วนค่อนข้างสูง

ทั้งนี้ หากแยกสาเหตุแห่งหนี้ พบว่า ประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนสะสม ณ ไตรมาสที่ 3/66 มูลค่า 16.2 ล้านล้านบาท ขยายตัว3.3% (YoY) และมีสัดส่วนอยู่ที่90.9% ต่อ GDPแบ่งเป็น

หนี้จากสินเชื่อเพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์มีมูลค่าสะสมอยู่ที่ 5.5 ล้านล้านบาท คิดเป็น สัดส่วน33.8% ของมูลค่าหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ขยายตัว 4.6% (YoY)

หนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคล มีมูลค่าสะสมอยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน19.3% ขยายตัว 3.5% (YoY)

"เร่งตัวขึ้นจากอัตราขยายตัว3.2% ในไตรมาสที่ 2/66 สะท้อนถึงความต้องการสภาพคล่องของครัวเรือนบางกลุ่ม อาทิ กลุ่มที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวมีเหตุฉุกเฉินและจำเป็นต้องใช้เงิน หรือนำไปชำระหนี้สินหรือรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต

หนี้จากสินเชื่อเพื่อการประกอบธุรกิจ มีมูลค่าสะสมอยู่ที่ 2.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 17.8% ,หนี้จากสินเชื่อเพื่อยานยนต์มีมูลค่าสะสมอยู่ที่ 1.8 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.2% ขยายตัว 0.2% ชะลอลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.0%ในไตรมาสที่ 2/66 เนื่องจากการเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งยังคงกำหนดเงื่อนไขสัญญาการกู้ยืมที่เข้มงวดจึงทำให้มีผู้ถูกปฏิเสธการขอสินเชื่อมากขึ้น

หนี้จากสินเชื่ออื่น ๆ มีมูลค่าสะสมอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน9.9% โดยสินเชื่ออื่น ๆ ประกอบด้วย สินเชื่อเพื่อซื้อหลักทรัพย์ สินเชื่อเพื่อการศึกษา และสินเชื่อที่ไม่สามารถจำแนกวัตถุประสงค์การกู้ยืมได้

หนี้จากสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้กำกับ (สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ สินเชื่อบัตรกดเงินสด)มีมูลค่าสะสมอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 5.1% ขยายตัว15.6% เป็นหนี้ครัวเรือนที่มีการขยายตัวมากที่สุด แม้ว่าจะลดลงจากที่ขยายตัว 18.0% ในไตรมาสที่ 2/66 ซึ่งหนี้สินจากสินเชื่อประเภทนี้เป็นสินเชื่อที่ขออนุมัติง่าย สะดวกรวดเร็ว เป็นการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของประชาชนแทนการใช้เงินกู้นอกระบบ เพื่อสนับสนุนการขาดสภาพคล่องชั่วคราวที่จำเป็นต่อการดำรงชีพหรือการประกอบอาชีพ 

อย่างไรก็ดี สินเชื่อประเภทนี้มีอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมสูง ทั้งนี้ การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนประเภทนี้สะท้อนว่า ยังมีประชาชนกลุ่มเปราะบางที่สถานะทางการเงินขาดสภาพคล่อง หรือขาดแคลนรายได้ หรือรายได้ยังไม่กลับมาเพิ่มขึ้นได้เพียงพอต่อภาระรายจ่าย

หนี้จากสินเชื่อบัตรเครดิต มีมูลค่าสะสมอยู่ที่ 5 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน2.8% ขยายตัว 1.9% ชะลอลงจากที่ขยายตัว 2.5 % ในไตรมาสที่ 2/66

จากโครงสร้างแห่งการเกิดหนี้ ก็จะพบว่า มีสาเหตุมาจากความขัดสนจากรายได้ที่ไม่พอกับรายจ่ายแนวทางแก้ปัญหา คือทำให้สองฟากแห่งรายได้และรายจ่ายเกิดความสมดุลซึ่งเป็นเรื่องของการขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้ได้มากขึ้นและเท่าเทียม