สรท.ลุ้นส่งออกครึ่งปีหลังไม่สะดุดดันทั้งปีโตได้ 2 %

สรท.ลุ้นส่งออกครึ่งปีหลังไม่สะดุดดันทั้งปีโตได้ 2 %

สรท.มั่นใจทั้งปีส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 1% ลุ้นแตะ 2 %  ชี้ ครึ่งปีหลัง"เงินบาทแข็งค่า " ส่งผลต่อส่งออกไทย แถมยังต้องเจอปัจจัยภายนอกกดดัน ทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เตรียมเสนอรัฐบาลใหม่เร่งปรับโครงสร้างส่งออกไทยให้เป็นชาติการค้

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออก 7  เดือนของไทยขยายตัว 3.8 % ถือว่าสอบผ่าน และทำได้ดี โดยเฉพาะเดือนก.ค.ที่ขยายตัว 15.2 % เกินกว่าทุกสำนักที่คาดการณ์ไว้ทั้งเจอปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว  และคาดว่าเดือน ส.ค.และก.ย.การส่งออกของไทยจะเติบโตต่อเนื่อง ดูได้จากการนำเข้าของสินค้าทุนแม้ว่าจะมีปัญหาเงินบาทแข็งค่าก็ตาม แต่จะมีผลต่อการส่งออกในรอบเดือนต่อไป  มั่นใจว่าในไตรมาส 3 น่าจะโตได้ไม่ต่ำกว่า 2 %  ส่วนไตรมาส 4  ยังต้องลุ้นต่อและระมัดระวังเป็นพิเศษ

โดยสินค้าที่ยังมีแนวโน้มส่งออกได้ดีในปีนี้ ได้แก่ ยางพารา โต 5-10%, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง โต 0-5%, อาหาร โต 3-4%, ยานพาหนะและชิ้นส่วน โต 3%, เครื่องใช้ไฟฟ้า โต 5%, พลาสติกและเคมีภัณฑ์ โต 2-3%, สิ่งทอ โต 2% และผลิตภัณฑ์ยาง โต 0-3%

อย่างไรก็ตาม สรท.มั่นใจว่า ยอดส่งออกในปีนี้จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า  1 %  แต่หากปัจจัยภายนอกทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ไม่รุนแรงมากไปกว่านี้และเศรษฐกิจโลกไม่ชะลอตัวไปมากกว่านี้ ก็มั่นใจว่าปีนี้การส่งออกจะขยายตัวได้ถึง 2% ซึ่งไม่ไกลเกินฝัน โดยมีมูลค่าการส่งออก 2.9 แสนล้านดอลลาร์ หรือแตะ 10 ล้านล้านบาท

สิ่งที่เป็นปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง คือ 1. ภาคการผลิตหรือดัชนี PMIของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยยังอยู่ในระดับต่ำกว่า  Base line ไม่เกิน 50 โดยทั้งจีน  สหรัฐอยู่ที่ 48-49   ส่วนยุโรปอยู่ที่ 45  ถือว่า ภาคการผลิตในช่วงอ่อนแรง มีเพียงประเทศอินเดียที่ PMI สูงขึ้นไปอยู่ที่ 57 รวมทั้งซาอุดิอาระเบีย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศน่าจะเป็นตลาดใหม่ของไทยในการส่งออกเพื่อทดแทนตลาดของไทยในช่วงนี้ได้

สรท.ลุ้นส่งออกครึ่งปีหลังไม่สะดุดดันทั้งปีโตได้ 2 %

2.ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วอย่างมีนัยสำคัญส่งผลโดยตรงต่อการการส่งออกทันที เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาททำให้ราคาสินค้าของไทยสูงกว่าคู่แข่ง โดยเงินบาทแข็งค่าแล้ว 6 % ถือว่าแข็งขึ้นเยอะมาก เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเวียดนามแข็งค่าเพียง 1.5  % ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันที่ลดลงของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินเพราะรายได้ที่กลับเข้ามาไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ซึ่งในช่วงโค้งสุดท้ายผู้ประกอบการต้องหาทางลดต้นทุน ยอมกัดลิ้น กลืนเลือดให้ผ่านไปได้ เพราะค่าเงินบาทไม่ได้เป็นปัจจัยที่ช่วยให้แข่งขันได้อีกแล้ว

3.ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เช่น สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และแคนาดา, สงครามในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อ การตั้งกำแพงภาษีสินค้าจากจีน ทำให้สินค้าจีนไหลเข้าตลาดในเอเชียและอาเซียน

4. ปัญหาการขนส่งทางทะเล ส่งผลให้ค่าระวางเรือของท่าเรือหลักยังตึงตัวและผันผวน, ปัญหาตู้ขนส่งสินค้าที่สายเรือส่งมอบให้บรรจุสินค้าต่ำกว่าความคาดหวังของผู้ส่งออก

 5. การเข้าถึงและการตัดวงเงินสินเชื่อของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SME ทำให้กระทบต่อสภาพคล่องธุรกิจ

ส่วนปัญหาการกีดกันทางการค้าทั้งภาษีและไม่ภาษี ขณะนี้ยังไม่กระทบกับการส่งออกของไทย ที่ผ่านมาผู้ส่งออกมีการปรับตัวรับมือกับมาตรการเหล่านี้แล้วโดยเฉพาะหลังเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน  อย่างไรก็ตามคงต้องจับตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐว่าใครจะเป็นประธานาธิบดี เนื่องจากผู้สมัครแต่ละคนก็มีนโยบายการค้าที่แตกต่างกัน

 “ขณะนี้ที่แน่ๆทั้งปีอยู่ในมือแล้วส่งออกโตได้ 1 % ส่วนจะถึง 2 % ต้องลุ้นไม่ให้มีปัจจัยภายนอกรุนแรงมาซ้ำเติมโดยช่วงเวลาที่เหลืออยู่นับตั้งแต่เดือน ส.ค.67 จะต้องมียอดส่งออกเฉลี่ยเดือนละ 23,800 ล้านดอลลาร์ ก็จะทำให้การส่งออกทั้งปีของไทยโตได้ 2 % “นายชัยชาญ กล่าว

นายชัยชาญ กล่าวว่า  ถึงแม้ปีนี้ ไทยจะสอบผ่านสามารถเอาตัวรอดไปได้ก็ตาม แต่อย่าเพิ่งดีใจ ปีนี้เป็นเพียงแค่บทนำ ปีหน้าจะเป็นบททดสอบที่แท้จริง ดังนั้นถึงเวลาที่ไทยจะต้องปฏิรูปการส่งออกให้ก้าวเข้าสู่การเป็นชาติการค้าในอีก 8 ปีข้างหน้า (Trading Nation 2032) 

เราต้องก้าวข้ามารส่งออกแบบเดิม ๆ ที่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป เป็นเหมือนการกินบุญเก่า และได้รับผลกระทบทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เพื่อให้การส่งออกของไทยมีทิศทางการเติบโตอย่างยั่งยืนอย่างน้อยปีละ 5% รวมถึงการให้สินค้าและบริการของไทยอย่างน้อย 30 รายการอยู่ในระดับ Top 5 ของโลก ซึ่ง ไม่ใช่แค่ upskill หรือ reskill เท่านั้นแต่ต้องมี new skill โดยองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ไทยบรรลุเป้าหมายได้มี 3 เรื่องคือ นวัตกรรม ขีดความสามารถในการแข่งขัน และการเติบโตที่ยั่งยืน

 “ในวาระที่ สรท.ครบรอบ 30 ปีได้ทำแผนยุทธศาสตร์ 8 ปี ที่จะก้าวสู่การเป็น "ชาติการค้า" เพื่อเสนอให้กับรัฐบาลใหม่ เพื่อร่วมกับขับเคลื่อนการส่งออกของไทยซึ่งต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่ต้นปี 68”