กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มีแค่แจกเงิน หน่วยงานศก. กล่อมรัฐบาลเพิ่มลงทุน     

กระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มีแค่แจกเงิน หน่วยงานศก. กล่อมรัฐบาลเพิ่มลงทุน     

วัดใจรัฐบาลจัดงบกระตุ้นเศรษฐกิจ จะใช้เม็ดเงินในการกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าไหร่หลังจากมีเม็ดเงินอยู่ในมือกว่า 3 แสนล้านบาท หน่วยงานเศรษฐกิจเสนอแผน 2 รูปแบบให้ ครม.แพทองธารเลือกว่าจะใช้เงินกระตุ้นโดยการแจกทั้งหมดหรือแจกครึ่งนึงอีกครึ่งทำงบลงทุนฯรับมือเศรษฐกิจถดถอย

KEY

POINTS

  • วัดใจรัฐบาลแพทองธารจัดงบกระตุ้นเศรษฐกิจ 3 แสนล้าน
  • ทางเลือกในการกระตุ้นที่หน่วยงานเศรษฐกิจเสนอให้รัฐบาลตัดสินใจ แจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตทั้งหมด หรือจะแจกครึ่งหนึ่งอีกครึ่งทำโครงการลงทุนเพื่อรับมือเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในระยะถัดไป
  • โมเดลตัวคูนทางการคลังระบุว่าการแจกเงินให้ประชาชนเกิดผลทางเศรษฐกิจน้อยกว่าการลงทุนภาครัฐ สะท้อนการใช้เงินกระตุ้นการลงทุนเกิดผลดีกับระบบเศรษฐกิจมากกว่า 

“การกระตุ้นเศรษฐกิจ” ถือเป็นนโยบายที่ทุกรัฐบาลมีการพูดถึง โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจมีความซบเซา กำลังซื้อของประชาชนถดถอย หรือเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ รัฐบาลจะมีการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยผันเงินจากเม็ดเงินงบประมาณที่รัฐบาลมีอยู่ หรือรัฐบาลกู้มาไปสู่ระบบเศรษฐกิจเพื่อให้เศรษฐกิจเกิดความเคลื่อนไหวมีความคึกคักจากเม็ดเงินที่มีการหมุนเวียนมากขึ้น

ที่ผ่านมาหลายรัฐบาลมีการใช้ “นโยบายแจกเงิน” ไม่ว่าจะเป็นนโยบายร่วมจ่ายอย่าง “โครงการคนละครึ่ง” หรือ “นโยบายดิจิทัลวอลเล็ต” ที่จะเติมสภาพคล่องให้กับประชาชนโดยให้เงินกับประชาชนเพื่อไปใช้จ่ายโดยรัฐบาลคาดหวังว่าเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวได้เพิ่มขึ้น ก็จะสามารถจัดเก็บรายได้จากภาษีได้เพิ่มขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตามการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้มีแค่รูปแบบของการแจกเงินเท่านั้นยังมีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยใช้ “การลงทุน” ซึ่งมีงานวิจัยรองรับว่าสามารถสร้างผลดีต่อเศรษฐกิจได้มากกว่าเมื่อพิจารณาจากข้อมูลตัวคูณทวีทางการคลัง (Multiplier Effect) ที่เป็นหัวใจสำคัญของการใช้นโยบายการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 

“สถาบันอนาคตไทย” ศึกษาระบุว่าตัวคูณทวีทางการคลังจะวัดอัตราส่วนของการเปลี่ยนแปลงในรายได้ประชาชาติหรือ GDP ต่อการเปลี่ยนแปลงในการใช้จ่ายของรัฐบาล ซึ่งจะช่วยวัดว่าเศรษฐกิจเติบโตได้มากเพียงใดจากนโยบายทางการคลังของรัฐบาล พร้อมทั้งอธิบายด้วยว่าจากงานวิจัยของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งได้ทบทวนงานวิจัยต่างๆ ในหลายประเทศโดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว พบว่าตัวคูณทวีทางการคลังจากนโยบายการแจกเงินมีค่าประมาณ 0.3-1.2 

แจกเงินผลต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าลงทุน

ในกรณีประเทศไทย KKP Research คาดการณ์ตัวคูณทวีทางการคลังไว้เพียง 0.4 (ทุก 1 บาทที่จ่ายลงไป เกิดรายได้ 0.4 บาท)   โดยประเมินว่าส่วนหนึ่งประชาชนไม่ได้ใช้เงินทั้งหมด บางคนเลือกไม่ใช้หรือใช้ไม่ทันระยะเวลาที่กำหนด ประชาชนบางส่วนอาจไม่ใช้เงินเพื่อซื้อสินค้าใหม่แต่ใช้เพื่อแทนการใช้จ่ายที่จำเป็นเดิม และสินค้าบางส่วนที่ใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเป็นสินค้านำเข้า นโยบายดังกล่าวคาดว่าจะช่วยเพิ่มการเติบโตของ GDP เพียง 1.0-1.2% และเพิ่มการบริโภคของประเทศประมาณ 2.5-3.0% 

ขณะที่สำนักงานงบประมาณรัฐสภาไทย ประมาณการตัวคูณทางการคลังไว้ที่ 0.947  (ทุก 1 บาทที่จ่ายลงไป เกิดรายได้ 0.947 บาท) สำหรับกรณีรายจ่ายเงินโอนให้กับประชาชนทั่วไป ซึ่งการโอนเงินให้ประชาชนทั่วไปถือว่ามีผลตัวคูณทวีทางการคลังน้อยที่สุด

ส่วนกรณีรายจ่ายในการลงทุนจะมีตัวคูณทวีทางการคลังประมาณ 1.242 และกรณีการโอนเงินให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีตัวคูณทวีทางการคลัง 1.356 ซึ่งสูงกว่ากรณีเงินโอนให้ประชาชนทั่วไป  ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เคยประมาณการตัวคูณทวีทางการคลังไว้พบว่ากรณีการโอนเงิน (Transfer Payment) มีตัวคูณทวีทางการคลังเพียง 0.4 เนื่องจากการโอนเงินไม่ได้กระตุ้นการผลิตหรือสร้างโดยตรงเกิดการจ้างงานทันที

 

ส่วนกรณีรายจ่ายเพื่อการบริโภคของรัฐบาล (Government consumption expenditure) ให้ผลคูณทวีทางการคลังเท่ากับ 1.0 โดยมีค่าสูงกว่าการโอนเงิน เนื่องจากการบริโภคของรัฐบาลโดยตรงมีส่วนที่เป็นการนำเข้าน้อยกว่า ส่วนกรณีรายจ่ายเพื่อการลงทุน (Investment expenditure) มีตัวคูณทวีทางการคลังเท่ากับ 0.7-1.0 เนื่องจากมีสัดส่วนการนำเข้าสูงกว่าการบริโภคของรัฐบาล

วัดใจรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ 

กรณีการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่กำลังจะเกิดขึ้นในขณะนี้มีความแน่นอนแล้วว่ารัฐบาลจะใช้เงินประมาณ 1.5 แสนล้านบาทในการแจกดิจิทัลวอลเล็ตให้กับกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มคนพิการประมาณ 15 ล้านคน ขณะที่อีกส่วนหนึ่งยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งหน่วยงานเศรษฐกิจได้เสนอทางเลือกให้กับรัฐบาลว่าหากไม่แจกเงิน อาจใช้วิธีการกระตุ้นการลงทุนเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นได้เช่นกัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล “แพทองธาร”นั้น หน่วยงานเศรษฐกิจได้จัดทำข้อเสนอให้กับรัฐบาลตัดสินใจ ซึ่งขณะนี้ รัฐบาลไม่มีปัญหาเรื่องของงบประมาณในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากมีแหล่งเงินงบประมาณในการใช้กระตุ้นเศรษฐกิจอยู่พอสมควรจากวงเงินงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2567 วงเงิน 1.22 แสนล้านบาท และวงเงินปี 2568 ที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ

และสร้างความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจที่ตั้งไว้เป็นงบกลางฯ อีกกว่า 1.877 แสนล้านบาท ซึ่งปรับเพิ่มในชั้นกรรมาธิการอีก 3.5 หมื่นล้านบาท ที่จากเดิมมีงบฯ ส่วนนี้อยู่ 1.527 แสนล้านบาท โดยงบประมาณรวมกว่า 2.74 แสนล้านบาท รวมกับงบกลางฯ ปี 2567 ที่กันไว้สำหรับการใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตอีก 3 – 4 หมื่นล้านบาททำให้รัฐบาลแพทองธารมีงบในการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท

เสนอ 2 ทางเลือกแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

ทั้งนี้ เดิมงบประมาณทั้งหมดในส่วนนี้ รัฐบาลตั้งใจจะกันไว้ใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่จะแจกในไตรมาสที่ 4 แต่ว่าขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงเรื่องของการดำเนินการ รวมทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ปรับเปลี่ยนไป ดังนั้น หน่วยงานเศรษฐกิจจึงจะเสนอทางเลือกให้กับรัฐบาลแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

1. แจกเงินในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตตามเดิม โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ในระยะแรกเดือน ก.ย.2567 จ่ายให้กับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มคนพิการราว 15 ล้านคน จากนั้นในระยะที่ 2 จะแจกเงินผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐเหมือนที่รัฐบาลวางแผนไว้ตั้งแต่แรก ซึ่งจะมีกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับสิทธิ์อีกประมาณ 15 ล้านคน จะใช้เงินอีกราว 1.5 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี ซึ่งจะทำให้ประชาชนกลุ่มหลังได้เรียนรู้การใช้ดิจิทัลวอลเล็ตตามเป้าหมายของโครงการ

2. แจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจแค่ครึ่งเดียว คือ แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบาง และกลุ่มคนพิการประมาณ 15 ล้านคน แล้วนำงบประมาณที่เหลือไปใช้ในโครงการลงทุน โดยเน้นโครงการลงทุนขนาดเล็กในท้องถิ่น เช่น สร้างถนน และแหล่งน้ำขนาดเล็ก ซึ่งการใช้โครงการลงทุนในลักษณะนี้เพื่อฟื้นเศรษฐกิจจากฐานราก และช่วยกระตุ้นการซื้อรถกระบะใหม่หนุนสายการผลิตรถในประเทศ

แนะรัฐเร่งผลักดันการลงทุนให้มากขึ้น

แหล่งข่าวระบุด้วยว่าสถานการณ์ปัจจุบัน รัฐบาลต้องลดความคิดเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องคิดเรื่องการผลักดันการลงทุนมากกขึ้น เพราะจะช่วยรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความผันผวนในระยะข้างหน้าได้