เปิด 10 นโยบายเร่งด่วน 'แพทองธาร' ทำทันที เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อสู้ 9 ความท้าทาย

เปิด 10 นโยบายเร่งด่วน 'แพทองธาร' ทำทันที เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อสู้ 9 ความท้าทาย

เปิดร่างนโยบายรัฐบาล "แพทองธาร" เตรียมแถลงต่อรัฐสภา มุ่งสร้างความหวัง โอกาส ความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม เร่ง 10 นโยาบยเร่งด่วนทำทันที แก้ปัญหาเศรษฐกิจ แก้หนี้ทั้งระบบ ยกเศรษฐกิจนอกระบบขึ้นบนดิน เจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชา แก้ปัญหายาเสพติด   

ที่อาคารรัฐสภา เวลา 08.30 น. น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางมาเพื่อร่วมประชุมรัฐสภา โดยมีวาระสำคัญคือแถลงนโยบายรัฐบาล

ทั้งนี้ ก่อนการประชุม น.ส.แพทองธาร ได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประจำรัฐสภา ศาลตา ศาลยาย ก่อนจะสักการระพระบรมราชานุสาวรีย์ รัชกาลที่ 7   

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 ก.ย.2567 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ได้เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษเพื่อหารือเกี่ยวกับร่างนโยบายที่จะแถลงต่อรัฐสภาพ   

ทั้งนี้ รัฐบาลได้จัดพิมพ์ร่างนโยบายเพื่อส่งให้สำนักเลขาธิการสภา เตรียมแถลงวันที่ 12 ก.ย.2567 มีความยาว 85  หน้า โดยได้ระบุ "ความหวัง โอกาส และความเสมอภาค ทางเศรษฐกิจและสังคม"

นอกจากนี้ร่างนโยบายได้กำหนดนโยบายเร่งด่วน 10 นโยบาย โดยกรุงเทพธุรกิจได้สรุปสาระสำคัญที่ระบุถึงการที่รัฐบาลตระหนักดีว่าความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ทั้งเรื่องปัญหาหนี้สิน รายได้ ค่าครองชีพ

รวมทั้งความมั่นคงและปลอดภัยในสังคม คือ ปัญหาเร่งด่วนที่รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางเศรษฐกิจ ด้วยการแก้หนี้ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจ และแก้ไขปัญหาที่กระทบความมั่นคงของสังคม เพื่อนำความหวังของคนไทยกลับมาให้เร็วที่สุด โดยมีนโยบายเร่งด่วนที่จะดำเนินการทันที ดังนี้

เปิด 10 นโยบายเร่งด่วน \'แพทองธาร\' ทำทันที เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อสู้ 9 ความท้าทาย


เปิด 10 นโยบายเร่งด่วน \'แพทองธาร\' ทำทันที เร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ ต่อสู้ 9 ความท้าทาย

1.รัฐบาลจะผลักดันให้เกิดการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ โดยเฉพาะกลุ่มสินเชื่อบ้านและรถ ช่วยเหลือลูกหนี้ทั้งในระบบและนอกระบบ ภายใต้ปรัชญาที่จะไม่ขัดต่อวินัยทางการเงินและไม่ทำให้เกิดภาวะภัยทางจริยธรรม (Moral Hazard) ของผู้มีภาระหนี้สิน

ควบคู่กับการเพิ่มความรู้ทางการเงินและส่งเสริมการออมในรูปแบบใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทย โดยจะด าเนินนโยบายผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และบริษัทบริหารสินทรัพย์   

2.รัฐบาลจะดูแลและส่งเสริมพร้อมกับปกป้องผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs จากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมของคู่แข่งทางการค้าต่างชาติ

โดยเฉพาะผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์และการแก้ไขปัญหาหนี้ของ SMEs เช่น การพักหนี้ การจัดทำ Matching Fund ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมกันระหว่างรัฐบาลและเอกชน เพื่อประคับประคองให้กลับมาเป็นกลไกที่แข็งแรงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

3.รัฐบาลจะเร่งออกมาตรการเพื่อลดราคาค่าพลังงานและสาธารณูปโภค ปรับโครงสร้างราคาพลังงานควบคู่กับการเร่งรัดจัดทำปรับปรุงกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อกำหนดเกี่ยวกับการทำสัญญาซื้อขายพลังงานได้โดยตรง (Direct PPA)

รวมทั้งการพัฒนาระบบสำรองน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงทางยุทธศาสตร์ของประเทศ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) สำรวจหาแหล่งพลังงานเพิ่มเติม และการเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน

พร้อมทั้งผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ (Mass Transit) และการกำหนดโครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วม ในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับนโยบาย “ค่าโดยสารราคาเดียว”ตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าเดินทาง

4.รัฐบาลจะสร้างรายได้ใหม่ของรัฐด้วยการนำเศรษฐกิจนอกระบบภาษี (Informal Economy) และเศรษฐกิจใต้ดิน (Underground Economy) เข้าสู่ระบบภาษีที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงกว่า 50% ของ GDP เพื่อนำไปจัดสรรสวัสดิการด้านการศึกษา สาธารณสุข และสาธารณูปโภค รวมทั้งอุดหนุนค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานของประชาชน 

พร้อมทั้งจะปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

5.รัฐบาลจะเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย ควบคู่กับการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายและเพิ่มโอกาสในการประกอบอาชีพ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเปราะบางเป็นลำดับแรก   

และผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ต (Digital Wallet) ซึ่งจะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัล และพัฒนาศูนย์ข้อมูลภาครัฐที่มุ่งการพัฒนานโยบายที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน พร้อมเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนเพื่อการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน และการประกอบอาชีพ  

6.รัฐบาลจะยกระดับการทำเกษตรแบบดั้งเดิมให้เป็นเกษตรทันสมัย โดยใช้แนวคิด “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” นำเทคโนโลยีด้านการเกษตร (Agri-Tech) เช่น เกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) และเทคโนโลยีด้านอาหาร (Food Tech) มาใช้พัฒนาอาชีพด้านการเกษตร ประมง ปศุสัตว์ และอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงการคว้าโอกาสในตลาดใหม่   

รวมทั้งอาหารฮาลาล และฟื้นนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ซึ่งเป็นจุดเด่นของประเทศไทยเพื่อตอบสนองความต้องการของโลกด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) และเร่งเพิ่มมูลค่ำสินค้ำเกษตรและราคาพืชผลกสนเกษตร รวมทั้งเพื่อยกระดับรายได้ของเกษตรกร

7.รัฐบาลจะเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ด้วยการสานต่อความสำเร็จในการปรับโครงสร้างการตรวจลงตราทั้งหมดของประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ขอวีซ่า เช่น กลุ่มผู้เข้าร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (MICE) และกลุ่มชาวต่างชาติที่ทำงานทางไกล (Digital Nomad) ซึ่งสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 1.892 ล้านล้านบาท ในปี 2566   

โดยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ เพิ่มแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-made Destinations) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ศูนย์การค้า สถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) นำคอนเสิร์ต เทศกาล และการแข่งขันกีฬาระดับโลกมาจัดในประเทศไทย   

รวมถึงส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองน่าเที่ยว เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวและเม็ดเงินมหาศาลที่จะกระจายลงสู่ผู้ประกอบการภายในประเทศได้อย่างรวดเร็ว

8.รัฐบาลจะแก้ปัญหายาเสพติดอย่างเด็ดขาดและครบวงจร เริ่มตั้งแต่การตัดต้นตอการผลิตและจำหน่ายด้วยการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน การสกัดกั้น ควบคุมการลักลอบนำเข้าและตัดเส้นทางการลำเลียงยาเสพติด การปราบปรามและการยึดทรัพย์ ผู้ค้าอย่างเด็ดขาด การค้นหาผู้เสพในชุมชนเพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษา   

ตลอดจนการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด การฝึกอาชีพ การศึกษา และการฟื้นฟูสภาพทางสังคม รวมทั้งมีระบบติดตามดูแลช่วยเหลือเพื่อไม่ให้กลับไปสู่วงจรยาเสพติดอีก เพื่อคืนคนคุณภาพกลับสู่สังคม    

9.รัฐบาลจะเร่งแก้ปัญหาอาชญากรรม อาชญากรรมออนไลน์ มิจฉาชีพและอาชญากรรมข้ามชาติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน โดยการเพิ่มศักยภาพและประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปราบแก๊งคอลเซ็นเตอร์และรับมือกับอาชญากรรมออนไลน์อย่างรวดเร็ว

ช่วยเหลือเหยื่อของมิจฉาชีพอย่างทันท่วงทีโดยผนึกกำลังกับประเทศเพื่อนบ้าน และสร้างกลไกการร่วมรับผิดชอบของบริษัทผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมและธนาคารพาณิชย์    

10.รัฐบาลจะส่งเสริมพัฒนาศักยภาพ และจัดสวัสดิการสังคมให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป สร้างความเท่าเทียมทางโอกาสและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่สำคัญ ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ บุคคลไร้รัฐไร้สัญชาติ เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิและสวัสดิการของรัฐได้โดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติ

นอกจากนี้ร่างนโยบายได้ประเมินความท้าทายที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ 9 ด้าน ประกอบด้วย

1.ความท้าทายของชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน ที่มีรายได้ไม่เพียงพอกับรายจ่าย 

2.สังคมและเศรษฐกิจเราถูกท้าทายด้วยการเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่เร็วกว่าระดับการพัฒนาประเทศและเร็วกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค 

3.ความมั่นคง ปลอดภัยของสังคมถูกคุกคามจากการแพร่ระบาดของยาเสพติด บั่นทอนคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศ

4.ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง 

5.ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดั้งเดิมไทยโดยเฉพาะ SMEs ยังไม่สามารถปรับตัว ต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว

6.จากสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก (Climate Change) ที่ส่งผลกระทบต่อทั้งภาคเกษตรกรรมและภาคการท่องเที่ยว 

7.ประเทศไทยเราเผชิญกับความไร้เสถียรภาพทางการเมืองมาอย่างยาวนาน อันเป็นผลจากการรัฐประหาร ความขัดแย้งแบ่งขั้วที่รุนแรง 

8.ระบบรัฐราชการแบบรวมศูนย์และตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ไม่เต็มที่ การทำงานระหว่างหน่วยงานที่มีอำนาจและบทบาทซ้ำซ้อน 

9.ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เปลี่ยนไป เกิดการแบ่งฝ่ายแยกขั้วระหว่างประเทศมหาอำนาจและประเทศต่าง ๆ