“สหรัฐ” ปลด “กุ้ง” ไทยพ้นแบล็กลิสต์ ใช้แรงงานเด็กยังห่วงแรงงานบังคับ
สหรัฐปลดกุ้งไทยออกจาก Blacklist การใช้แรงงานเด็ก เพิ่มปลาป่น น้ำมันปลา อาหารสัตว์ เข้าบัญชี TDA Report แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อการค้า ส่วนแก้ไขกฎหมายประมงใหม่ไม่กระทบแรงงานอุตสาหกรรมประมง
นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับรายงานจากสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงวอชิงตัน.ดี.ซี. ว่า ขณะนี้สหรัฐได้ออกรายงาน Findings on the Worst Forms of Child Labor (TDA Report) ได้ถอดถอนรายการสินค้ากุ้งจากประเทศไทย ออกจากบัญชีรายชื่อประเทศที่มีการใช้แรงงานเด็ก หรือ TVPRA และ EO Lists แล้ว
เนื่องจากที่ผ่านมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 – 2566 ประเทศไทยมีความพยายามในการดำเนินการตรวจสอบกิจการประมง และกุ้งเพื่อป้องกัน และแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานภาคบังคับอย่างต่อเนื่อง โดยมีการตรวจแรงงานเชิงรุก และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
ส่งเสริมให้สถานประกอบกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตกุ้ง และกิจการที่เป็นห่วงโซ่การผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ - ปลายน้ำ มีการกำกับดูแลการใช้แรงงานให้ถูกต้องตามกฎหมาย และนำมาตรฐานแรงงานไทย และแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดีไปใช้ในการบริหารกิจการ จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การป้องกัน และแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานเด็ก และแรงงานภาคบังคับร่วมกับ 12 องค์กรภาคเอกชน
เพื่อกำกับดูแลแรงงานข้ามชาติ และขจัดการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้านแรงงาน และได้จัดทำรายงานสถานการณ์แรงงานเด็ก และแรงงานภาพบังคับในสินค้ากุ้ง และปลา เพื่อเสนอปลดรายการสินค้าไทยจากบัญชี Blacklist ของสหรัฐอเมริกา
ด้วยความพยายามดังที่กล่าวมานี้ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทรวงแรงงานสหรัฐ ได้ประกาศถอดถอนสินค้ากุ้งของไทยออกจาก TDA Report เมื่อวันที่ 5 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าเป็นข่าวดี ถึงแม้ว่าสหรัฐยังคงจัดลำดับให้ประเทศไทยอยู่ในรายชื่อประเทศผู้ผลิตสินค้ากุ้งโดยใช้แรงงานบังคับที่เป็นผู้ใหญ่ และมีการเพิ่มรายการสินค้าไทยซึ่งมีการผลิตโดยใช้แรงงานบังคับอีก 3 รายการ ได้แก่ ปลาป่น (Thailand Fishmeal) น้ำมันปลา (Thailand Fish Oil) และอาหารสัตว์ (Thailand Animal Feed) แต่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปสหรัฐ
เนื่องจากกระทรวงแรงงานสหรัฐ ระบุชัดเจนว่า การจัดทำบัญชี TDA Report เป็นความพยายามของสหรัฐ เพื่อกระตุ้นให้ประเทศคู่ค้ามีการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก และแรงงานบังคับ ไม่ได้ส่งผลต่อการคว่ำบาตรทางการค้า
“กรมประมงจะบูรณาการในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวมทั้งผู้ประกอบการด้านการผลิตปลาป่น น้ำมันปลา และอาหารสัตว์ โดยเฉพาะอาหารกุ้ง เพื่อตรวจสอบข้อมูลและอุดช่องว่างที่สหรัฐยังมีข้อกังวลในการใช้แรงงานบังคับกับอุตสาหกรรมการผลิตสินค้า 3 รายการดังกล่าวต่อไป”
ส่วนข้อกังวลในเรื่องของการค้านั้น จากสถิติการส่งออกปลาป่น น้ำมันปลา และอาหารสัตว์ไปสหรัฐ มีปริมาณน้อยมาก โดยระหว่างปี พ.ศ.2563 - 2566 มีการส่งออกอาหารสำหรับเลี้ยงกุ้ง 48 – 153 ตัน มูลค่า 17.5 – 51 ล้านบาทต่อปี ส่วนปลาป่น และน้ำมันปลาไม่มีการส่งออกไปสหรัฐ
นายบัญชา กล่าวถึง การปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ซึ่งตามร่างฯ เป็นการยกเลิกมาตรา 10/1 มาตรา 11 และมาตรา 11/1 ที่เป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวกับแรงงานที่ทำงานในโรงงานประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์น้ำ ซึ่งปัจจุบัน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ.2562 กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ.2565 พระราชกำหนดบริหารจัดการ การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่เป็นกฎหมายหลักมีผลบังคับใช้ที่รองรับการคุ้มครองแรงงานในโรงงานครบถ้วนอยู่แล้ว
ดังนั้น การยกเลิกบทบัญญัติดังที่กล่าวในกฎหมายประมง จึงเป็นการช่วยลดความซ้ำซ้อนของกฎหมาย และก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการใช้บังคับ ทั้งนี้ ในการปรับปรุงแก้ไขพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 ดังกล่าวไม่ได้มีการแก้ไขบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองแรงงานในเรือประมงแต่อย่างใด
การนำเรื่องการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายประมงไปเชื่อมโยงกับ TDA Report จึงเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน โดยกรมประมงร่วมกับสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และสมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย พร้อมจะให้ข้อเท็จจริงต่อประเทศคู่ค้า และผู้เกี่ยวข้องต่อไป
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์