“ธุรกิจจัดการขยะ”ไม่ใช่แค่“กำจัด” สิ่งท้าทายคือความเข้าใจและปรับตัว

“ธุรกิจจัดการขยะ”ไม่ใช่แค่“กำจัด”  สิ่งท้าทายคือความเข้าใจและปรับตัว

จากการเปิดตัวโครงการMerz Aesthetics Set Zero Aesthetics Waste ของ เมิร์ซ เอสเธติกส์ ประเทศไทยซึ่งเป็นโครงการลดและจัดการขยะจากหัตถการความงามอย่างยั่งยืนทำให้ได้รู้จัก “บริษัท รีไซเคิลเดย์ จำกัด”

ซึ่งเป็นหนึ่งในพาร์ทเนอร์โครงการที่มีเป้าหมายว่าด้วยการ“เก็บกลับ ปรับโฉม ส่งคืนคุณ”คือการรับคืนและจัดการกับขยะที่เกิดจากบรรจุภัณฑ์ด้วยวิธีรีไซเคิล (Recycle) และ ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วหมดไปด้วยวิธีอัปไซเคิล (Upcycle) เพื่อนำกลับมา

สร้างประโยชน์ใหม่อีกครั้ง โดยกระบวนการนี้ได้นำหลักการลดการฝังกลบขยะสู่พื้นผิวโลกให้เป็นศูนย์ (Zero Waste to Landfill) มาปรับใช้ ด้วยความตั้งใจที่จะนำทรัพยากรกลับมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

“ธุรกิจจัดการขยะ”ไม่ใช่แค่“กำจัด”  สิ่งท้าทายคือความเข้าใจและปรับตัว

ชนัมภ์ ชวนิชย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท รีไซเคิลเดย์ จำกัด  เล่าถึงธุรกิจว่า “รีไซเคิลเดย์” ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มนักคิดการจัดการขยะที่จะรวมเทคโนโลยีเข้าด้วยกันเพื่อให้การรีไซเคิลง่ายขึ้นสำหรับทุกคน รวมถึงการส่งมอบโซลูชั่นการรีไซเคิลไปยังภาคครัวเรือนและอุตสาหกรรม

รูปแบบเทคโนโลยีหนึ่งที่ใช้อยู่คือ“แอปพลิเคชั่น”ซึ่งบันทึกกระบวนการรีไซเคิลทั้งหมดตั้งแต่การส่งออกไปจนถึงการกำจัดและการรีไซเคิลขั้นสุดท้าย ซึ่งหวังว่าจะสร้างผลกระทบเป็นระลอกคลื่นในสังคมไทยและกระตุ้นให้ผู้คนปรับปรุงพฤติกรรมสู่การ“จัดระเบียบถังขยะ”ซึ่งเป็นเรื่องของการการจัดที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมและสังคมดีขึ้น เพราะขยะไม่ใช่แค่การทิ้งเพื่อกำจัดไปเท่านั้น

สำหรับโครงการลดและจัดการขยะจากหัตถการความงาม เป็นความร่วมมือและเป็นตัวอย่างที่ดีในแง่การจัดการตัั้งแต่ต้นทางซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการจัดการขยะ ภายใต้โครงการนี้เป็นการช่วยกันนำของที่ไม่ใช่แล้วหรือขยะจากคลินิกความงามแยกสัดส่วนให้ชัดเจน จากนั้นรวบรวมมาไว้ยังจุดที่กำหนดไว้ ซึ่งเป็นบริการที่ธุรกิจทำอยู่แล้ว และธุรกิจก็มีค่าใช้จ่ายการจัดการขยะส่วนนี้ดังนั้นหากนำขยะไปจัดการต่อเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ใหม่ก็เป็นประโยชน์ในแง่การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ธุรกิจก็ได้มีส่วนเรื่องความยั่งยืนด้วย

ปัจจุบัน  บริษัทให้บริการรถรับขยะในพื้นที่ต่างๆ ทั้งสำนักงาน และหมู่บ้านเป็นการเข้าไปจัดเก็บและนำไปจัดการต่อถือเป็นรูปแบบบริการที่สอดคล้องกับพฤติกรรมคนเมือง ในส่วนของขยะจากคลินิกความงามจากโครงการฯเป็นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ทางการแพทย์เป็นการจัดการสิ่งเดิมให้เป็นสิ่งใหม่

“ความน่าสนใจของโครงการนี้คือการจัดการขยะมาอย่างดีแล้วตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเป็นส่วนสำคัญมากของการจัดการขยะหรือของที่ไม่ใช้แล้วก่อนทิ้ง หรือจะบอกชัดๆได้ว่าการแยกขยะที่ดีสามารถเคลมว่าเป็นสิ่งที่ดีมากว่าการจัดการเสียอีก”

 ปัจจุบันบริษัทมีจุดจัดการขยะ 13 สาขา ครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพ ที่เหลือกระจายตัวตามเมืองใหม่ เช่น สมุย เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง เป็นต้น ธุรกิจหลักๆคือการจัดการขยะและคิดค่าบริการการจัดการ แต่อีกหน้าที่หนึ่งคือการชักชวนให้ผู้คนหันมาแยกขยะ โดยบริษัทจะนำรถเข้าไปตามหมู่บ้านเพื่อจัดเก็บตามจุดที่กำหนดไว้ และอีกรูปแบบหนึ่งคือการรวบรวมขยะจากความร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าโดยกำหนดเป็นจุดรับที่ชัดเจน

ปัจจุบัน บริษัทมุ่งจัดการขยะรีไซเคิล และกำลังมองหาโอกาสทางธุรกิจสำหรับขยะประเภทอื่นๆ เช่น ขยะอาหาร ขยะอันตราย เช่น ถ่ายไฟฉาย การจัดการหลอดไฟ ซึ่งหน้าที่หลักยังเป็นการรวบรวมด้วยการเพิ่มความสะดวกในรูปแบบเซอร์วิสที่จะดึงให้ประชาชนแยกขยะและนำส่งขยะเพื่อนำไปจัดการต่อ 

“ขยะบางอย่างซื้อ บางอย่างต้องจ่ายค่าจัดการ โนว์ฮาวในการจัดการไม่ว่าจะเป็นรีไซเคิล หรือ อัปไซเคิล เป็นรูปแบบความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ปลายทาง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดยังยืนยันว่าเป็นเรื่องของต้นทางที่หากยังขาดการจัดการที่ดีแม้ว่าเราจะมีขยะมากแต่ถ้านำขยะมาทิ้งปนๆกันไปสุดท้ายก็แทบจัดการอะไรไม่ได้" 

ทั้งนี้ มองว่าปัญหาขยะเป็นเรื่องของการไม่ใส่ใจ บริษัทจึงมุ่งไปที่การสร้างจุดสนใจในสังคม เริ่มจากที่บ้าน  ขยายไปที่ทำงาน ตอนนี้มีแอปพลิเคชั่นแล้ว ซึ่งออกแบบมาเพื่อคุยกัน ส่งข้อความเพื่อนัดหมายการทิ้งขยะ การสร้างแรงจูงใจด้วยการให้รางวัล 

นอกจากนี้ กลุ่มที่น่าสนใจและสามารถสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคมได้คือ กลุ่มองค์กรและบริษัท ซึ่งหากดำเนินการให้ดีเป็นรูปธรรม เห็นผล  องค์กรนั้นๆสามารถนำกิจกรรมจัดการขยะเหล่านี้ ไปแสดงในรายงานด้านความยั่งยืนได้อีกด้วย 

“ตอนนี้เรากำลังดูเรื่องขยะอาหาร หลักๆได้ร่วมมือกับห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เป็นการจัดการขยะอาหารที่ในความเป็นจริงมีตัวเลือกมากกว่าแค่การนำไปเลี้ยงสัตว์ เป็นหน้าที่ของบริษัทคือเซอร์วิสและโซลูชั่นให้ปัญหาขยะต่างๆ”

อย่างไรก็ตาม ในส่วนขยะอันตรายขยะติดเชื้อบริษัทยังไม่ได้แต่กำลังมองโอกาสการจัดการขยะภาคอุตสาหกรรม เริ่มจากการจัดการขยะภาคส่วนสำนักงาน สอดคล้องกับการกระจายพื้นที่ให้บริการที่ไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น เช่น อยุธยา ระยอง ซึ่งการเข้าไปในพื้นที่ต่างจังหวัดจะมีแกนนำชุมชนเข้ามาร่วมทำงานด้วย

แม้การขยายตัวในแง่ธุรกิจเองจะถือว่าดี มีสมาชิกกว่า 5 หมื่นราย แต่ขยะที่ได้รับการจัดการเพื่อให้สามารถเข้าสู่ขั้นตอนการรีไซเคิลได้นั้น มีน้อย  เช่น ขยะพลาสติกที่น้อยเกินกว่าที่จะจูงใจพอที่จะนำไปรีไซเคิลได้ 

“หากให้ผมประเมินดูเรื่องการตื่นตัวการจัดการขยะยอมรับว่า สเกลช้ากว่าที่คิด เพราะคนที่สนใจก็สนใจมากคนที่ไม่สนใจก็นิ่งนิ่ง”

ขณะที่เป้าหมายเรื่องการจัดการให้ไม่มีของเสียเลย หรือ CIRCULAR นั้น มองว่า บริษัทยังไม่สามารถทำได้ทุกขั้นตอนแต่บริษัทรู้ว่าจะส่งสิ่งของที่ได้มาให้ใคร และควรจะนำกลับมาทำอะไร ใครมีศักยภาพที่จะสานต่อให้บรรลุเป้าหมายการจัดการขยะได้ 

ดังนั้นธุรกิจจัดการขยะจึงมองไม่เห็นคู่แข่งแต่มองเห็นพาร์ทเนอร์ที่จะทำงานร่วมกัน เพราะหน้าที่เซอร์วิสแอนด์โซลูชั่นคือทำอย่างไรให้ขยะไม่ใช่แค่การทิ้่งไปแต่คือการปรับพฤติกรรมการจัดการขยะที่ไม่ใช่แค่การกำจัดเท่านั้น