เกมเขย่า ‘แบงก์ชาติ’ รอบใหม่ เมื่อ ‘รัฐบาลเพื่อไทย’ รุก ‘นโยบายการเงิน’
จับตาสัญญาณรัฐบาลเพื่อไทยเขย่าแบงก์ชาติรอบใหม่ ส่งสัญญาณบีบใช้นโยบายการเงินช่วยเศรษฐกิจ ส่ง "กิตติรัตน์" นั่งประธานบอร์ดแบงก์ชาติ 2 พิชัย รมว.พาณิชย์ - ขุนคลัง จี้ลดดอกเบี้ย ดูแลค่าเงินบาท ปรับกรอบเงินเฟ้อหนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ผ่านไป 1 สัปดาห์ภายหลังการแถลงนโยบายอย่างเป็นทางการของนางสาว แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีความเคลื่อนไหวจากฟากฝั่งของรัฐบาลที่ส่งสัญญาณไปถึง "ธนาคารกลางของประเทศ" โดยมีเป้าหมายที่จะให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่าน "นโยบายการเงิน" เพื่อนำไปสู่เป้าหมายทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลได้วางไว้คือการขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้มากที่สุด
โดยในมุมมองของรัฐบาลความสำเร็จตามเป้าหมายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ด้วยนโยบายการคลังอย่างเดียวแต่ต้องอาศัยนโยบายทางการเงินมาสนับสนุนด้วย
การส่งสัญญาณจากรัฐบาลไปถึงแบงก์ชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาเริ่มจากกระแสข่าวเรื่องของการเรื่องของการวางตัวคนเข้ามาเป็นประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ แทนที่นายปรเมธี วิมลศิริ ที่หมดวาระการดำรงตำแหน่งลงในเดือนนี้
โดยรายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่ารายชื่อตัวเต็งที่จะนั่งเป็นประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่ได้แก่ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง อดีตประธานคณะที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) ที่ผ่านการทำงานทางการเมืองนายกิตติรัตน์มีบทบาทสำคัญในพรรคเพื่อไทยเรื่องการทำนโนบายเศรษฐกิจ โดยเป็นอดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และอดีตประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคด้านเศรษฐกิจของพรรคเพื่อไทย ดังนั้นชื่อของนายกิตติรัตน์ที่ถูกเสนอชื่อไปนั่งเป็นประธานบอร์ด ธปท.คนใหม่จึงไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าเป็นคนที่ฝ่ายการเมืองนั้นส่งไปนั่งในตำแหน่งนี้
ทั้งนี้ที่ผ่านมาแนวความคิดที่นายกิตติรัตน์เคยแสดงความเห็นเกี่ยวกับการทำงานของธปท. มีหลายเรื่อง เช่น การแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาเรื่องดอกเบี้ยนโยบายที่สูงเกินไป ยังเคยกล่าวถึงการใช้ “ความเป็นอิสระ” ที่มากเกินไปสร้างความเดือดร้อนเสียหาย ต่อผู้คนเป็นวงกว้าง
ทั้งนี้การที่รัฐบาลส่งนายกิตติรัตน์ไปนั่งประธานบอร์ดธปท.ต้องจับตามองต่อไปว่าหลังจากนี้จะมีการดำเนินการในเรื่องใดต่อไปโดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการแก้หนี้ภาคธุรกิจ และหนี้ประชาชน รวมทั้งนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะต่อไปของรัฐบาล
รัฐบาล-แบงก์ชาติ เห็นต่างเรื่องดอกเบี้ย
นอกจากการส่งคนเข้าไปสมัครนั่งตำแหน่งประธานบอร์ด ธปท. การให้ความเห็นเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งเรื่องกรอบเงินเฟ้อ สองรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยก็ได้แสดงความเห็นที่มีความเกี่ยวข้องกับธปท.อย่างชัดเจน
รมว.พาณิชย์เล็งถกแบงก์ชาติแก้ปัญหาบาทแข็ง
ขณะที่ปัญหาเรื่องค่าเงินบาทแข็งก็ถูกคนในฟากฝั่งรัฐบาลตั้งคำถามไปถึงแบงก์ชาติในเรื่องนี้เช่นกัน นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าตนเองอยากเห็นธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งเกินไปด้วย เพื่อลดรายจ่ายในภาพรวม และดูแลผู้ส่งออก
โดยมองว่าขณะนี้ค่าเงินบาทที่ 33 บาทต่อดอลลาร์แข็งค่าเกินไป เดือนเดียวขึ้นมา5-6% กระทบผู้ส่งออกมากๆ ขอให้แบงก์ชาติกรุณาเร่งแก้ไขด้วย เพราะจะกระทบส่งออกโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีอัตรากำไรน้อยอยู่แล้ว
“ผมไม่ได้เป็นคู่แค้นกับแบงก์ชาติ แต่ที่ผ่านมาค่าเงินประเทศคู่แข่งอ่อนแต่ของเราไม่อ่อน ผมว่ามันไม่ถูกต้อง ผมจะนัดหารือกับผู้ว่าแบงก์ชาติ เพื่อทำความเข้าใจ อยากให้แบงก์ชาติเร่งปรับลดดอกเบี้ยลง ดูแลเงินบาท ไม่ให้แข็งค่าเกินไป และต้องเพิ่มสภาพคล่องให้เอสเอ็มอี ให้มากขึ้น แบงก์ชาติต้องไม่ทำหน้าที่แค่การกำกับดูแล แต่ต้องช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตด้วย เพราะนโยบายการเงินสำคัญกว่านโยบายการคลังด้วยซ้ำ เราคงไม่อยากเห็นไทยเป็นเหมือนอเมริกาใต้ที่คนจนลง ไม่มีเงินต้องออกมาจี้ปล้น ดังนั้น การทำให้ทุกคนอยู่ได้อย่างมีความสุขเป็นสิ่งที่จำเป็น” นายพิชัย ระบุ
คลังนัดถกแบงก์ชาติปรับกรอบเงินเฟ้อ
ขณะที่ความเคลื่อนไหวของกระทรวงการคลังได้เรียกร้องให้ ธปท.พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย โดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีที่ธนาคารกลางสหรัฐได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% เมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยในส่วนของประเทศไทยแม้ว่าธปท. จะมีความเป็นอิสระ แต่ในมุมมองทางวิชาการ ไทยคงจะต้องพิจารณาการดำเนินนโยบายการเงินหากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐมีการประกาศลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีความเชื่อมโยงกับสหรัฐค่อนข้างมาก
โดยทุกครั้งที่สหรัฐมีการเพิ่มหรือลดอัตราดอกเบี้ยก็จะส่งผลกระทบกับเงินทุนไหลเข้าและไหลออกของไทยพอสมควร โดยหากสหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ยก็จะทำให้ค่าเงินบาทอ่อน และหากลดอัตราดอกเบี้ยก็จะทำให้เงินบาทก็จะแข็งค่า
ขณะที่ปัจจุบันค่าเงินบาทแข็ง ก็มาจากหลายปัจจัย จากเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว ผนวกกับเงินทุนต่างประเทศที่ไหลเข้ามเพิ่มขึ้นด้วย และแนวโน้มการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ที่จะไหลเข้ามา คงจะต้องมีการพิจารณาหลายด้าน ทั้งเรื่องค่าเงิน แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในระยะข้างหน้าด้วย
ส่วนเรื่องของกรอบเงินเฟ้อระหว่างกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการนัดพูดคุยกัน โดยจุดยืนของกระทรวงการคลัง มองว่าวันนี้สถานการณ์ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น เมื่อรัฐบาลมีการประกาศนโยบายที่ชัดเจน สร้างความเชื่อมั่นให้กลับมา สะท้อนจากการฟื้นตัวของตลาดทุน ดังนั้นในภาพรวมจึงมองว่าเป็นจังหวะเหมาะที่จะเร่งให้เศรษฐกิจเติบโตมากขึ้นอีกหน่อยซึ่งต้องมีการขยับเงินเฟ้อมาอยู่ในอัตราที่เหมาะสมด้วย
ทั้งหมดถือเป็นความเคลื่อนไหวล่าสุดจากฟากฝั่งรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยที่เปิดเกมรุกแบบพุ่งเป้าหมายไปที่แบงก์ชาติซึ่งเป็นหน่วยงานที่กำกับดูแลนโยบายการเงินของประเทศ
คงต้องจับตาดูต่อไปว่ารัฐบาลจะโน้มน้าวให้ ธปท.ในฐานะผู้ดูแล “นโยบายทางการเงิน” มาสนับสนุน “นโยบายทางการคลัง”ของรัฐบาลได้มากขนาดไหน และปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากฟากฝั่ง ธปท.จะเป็นอย่างไร เมื่อทางฟากฝั่งทางการเมืองส่งสัญญาณที่ชัดเจนมายังธนาคารกลางที่ต้องการความอิสระในการทำงาน และตัดสินใจนโยบายทางการเงิน
ซึ่งล่าสุดผู้ว่า ธปท.ก็ได้ออกมายืนยันถึงความสำคัญของความเป็นอิสระของธนาคารกลาง รวมทั้งการพิจารณาลดหรือไม่ลดดอกเบี้ยของไทย นั้นไม่จำเป็นพิจารณาการขึ้นหรือลงดอกเบี้ยของเฟดเสมอไป