บาทแข็ง 'กองทุนน้ำมัน' เร่งเก็บเงิน เคลียร์หนี้สะสมกว่า 1 แสนล้านบาท

บาทแข็ง 'กองทุนน้ำมัน' เร่งเก็บเงิน เคลียร์หนี้สะสมกว่า 1 แสนล้านบาท

บาทแข็ง "กองทุนน้ำมัน" เร่งเก็บเงิน เคลียร์หนี้สะสมกว่า 1 แสนล้านบาท ล่าสุดรายรับเฉลี่ยเดือนละ 1.2 หมื่นล้านบาท จับตาภูมิรัฐศาสตร์ “จีน” ใช้เร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ดันความต้องการใช้น้ำมันพุ่ง ส่งผลให้ราคาน้ำมันตลาดโลกจะยิ่งสูงขึ้น และยังคงจะผันผวนอีกนาน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการจัดทัพการทำงานของข้าราชการภายในกระทรวงฯ ซึ่งน่าจะเริ่มเข้าที่เข้าทางในเดือนต.ค.2567 นี้ เพื่อเร่งแก้ปัญหาด้านพลังงาน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ที่ฐานะกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 22 ก.ย.2567 ยังคงติดลบระดับ 101,343 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมันติดลบ 53,875 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบ 47,468 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในการแก้ปัญหากองทุนน้ำมัน ที่ยังติดลบกว่า 1 แสนล้านบาท จะต้องจับตาว่ารัฐบาลโดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะไว้วางใจให้ใครมารับตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) คนใหม่ แทนนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งไปแล้วช่วงกลางเดือนส.ค.2567 ที่ผ่านมา ซึ่งล่าสุดกระบวนการสรรหาผอ.สกนช. ได้ปิดรับสมัครไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 21 ก.ย.2567 ที่ผ่านมา

“ตอนนี้ต้องรอคณะอนุกรรมการสรรหาฯ รวบรวมรายชื่อผู้สมัคร และตรวจคุณสมบัติก่อนเรียกผู้ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือกมาสัมภาษณ์ โดยครั้งนี้ได้มีการเปิดเกณฑ์อายุผู้สมัครจากเดิมห้ามไม่ให้เกิน 61 ปี เป็นห้ามไม่ให้เกิน 65 ปี จึงมองว่าน่าจะมีผู้ที่มีความรู้ ความสามารถสมัครมากกว่าครั้งที่ผ่านมา” แหล่งข่าวกล่าว

ทั้งนี้ จากค่าเงินบาทที่แข็งค่าในขณะนี้ แม้จะส่งผลดีต่อต้นทุนการนำเข้าน้ำมันดิบจากต่างประเทศ แต่ก็ยังมีปัจจัยเรื่องของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะตะวันออกกลางที่ยังคงสู้รบกันอย่างดุเดือด อีกทั้งขณะนี้จีนได้เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งเชื่อว่าจะมีการบริโภคน้ำมันในประเทศมากขึ้น ซึ่งจีนถือเป็นประเทศที่นำเข้าน้ำมันสูงสุดจะทำให้ราคาน้ำมันตลาดโลกยิ่งผันผวนขึ้น

อย่างไรก็ตาม โดยขณะนี้ราคาน้ำมันตลาดโลกจะไม่สูงมากส่งผลให้สามารถเก็บเงินเข้าบัญชีกองทุนน้ำมันเฉลี่ยเดือนละ 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเก็บจากน้ำมันเบนซินราว 4,200 ล้านบาท ดีเซล 6,100 ล้านบาท และ LPG ราว 160 ล้านบาท ซึ่งในช่วงนี้ราคาน้ำมันดูไบอยู่ที่ 74.85 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในขณะที่น้ำมันดีเซล (Gas Oil) ตลาดโลกอยู่ที่ 85.14 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้ว่าในช่วงนี้ราคาจะไม่สวิงมากแต่ก็ยังคงผันผวน ซึ่งยังมาจากหลายปัจจัย

“ตอนนี้คณะอนุกรรมการสรรหา ผอ.คนใหม่จะต้องเร่งหา ผอ. เพื่อเข้ามาบริหารจัดการสภาพคล่องให้กับกองทุนน้ำมัน เพราะการเก็บเงินเข้าบัญชีเฉลี่ยขณะนี้ถือว่าไม่มาก อีกทั้ง กองทุนฯ จะต้องจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้เฉลี่ยเดือนละ 200-250 ล้านบาท ซึ่งช่วงเดือนพ.ย. 2567 จะต้องเริ่มทยอยจ่ายเงินต้นที่กู้มางวดแรกครั้งละ 5,000-10,000 ล้านบาท ช่วงปลายปี 2565 จากยอดรวม 105,333 ล้านบาท ดังนั้น เงินต้นจะเริ่มจ่ายคืนตามสัญญาภายใน 2 ปี และมีกรอบสิ้นสุดระยะเวลาคืนหนี้ภายใน 5 ปี โดยเงินกู้ทั้งหมดจะต้องคืนครบภายในปี 2571-2572”

รายงานข่าว ระบุว่า สำหรับการบริหารงาน 4 ปี ของนายวิศักดิ์ ได้ดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันในช่วงวิกฤติ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา กองทุนฯ ต้องเข้าไปช่วยดูแลราคาน้ำมัน และ LPG หลังเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงาน, การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้กองทุนฯ ติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.3 แสนล้านบาทในปี 2565 โดยราคาน้ำมันดิบในขณะนั้นสูงถึง 120-130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

ทั้งนี้ รัฐบาลจึงต้องอนุมัติให้กู้เงินได้ในกรอบวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่ง สกนช. ได้กู้เงินร่วม 105,333 ล้านบาท จากความผันผวนของราคาน้ำมันตลาดโลก ทำให้ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศก็ต้องปรับขึ้นจาก 30 บาทต่อลิตร มาอยู่ในเพดานที่ 35 บาทต่อลิตร และปรับลดลงเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาเหลือ 30 บาทต่อลิตร ทั้งนี้ ปัจจุบันนายพีระพันธุ์ ใช้กลไกกองทุนน้ำมัน พยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้สูงเกิน 33 บาทต่อลิตร

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์