'เชฟรอน' ลุ้นสัมปทาน 5 แปลง หลังเจรจาพื้นที่ทับซ้อน 'ไทย-กัมพูชา' 

'เชฟรอน' ลุ้นสัมปทาน 5 แปลง หลังเจรจาพื้นที่ทับซ้อน 'ไทย-กัมพูชา' 

"เชฟรอน" มีลุ้นได้สัมปทาน 5 แปลงอีกครั้ง ภายหลังรัฐบาล "แพทองธาร" ลุยเจรจาพื้นที่ทับซ้อน "ไทย-กัมพูชา" สำเร็จ

KEY

POINTS

  • เจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) เป็นนโยบายเร่งด่วน เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน น.ส.แพทองธาร กับ ฮุน มาแนต นายกฯ กัมพูชา หารือกันระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ประเทศลาว เมื่อ 9 ต.ค.2567 
  • เชฟรอนถือเป็นผู้รับสัมปทานเดิมถึง 5 แปลง มีบริษัทไทยรายเดียวที่ได้สิทธิ 1 แปลง แต่เป็นแปลงขนาดเล็กและสิทธิดังกล่าวปัจจุบันตกมาอยู่ที่ "ปตท.สผ." 
  • เชฟรอนเป็นผู้บุกเบิกและพัฒนาธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในไทยยาวนานกว่า 60 ปี ผลิตทั้งก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำมันดิบ ตอบสนองความต้องการพลังงานคนไทย

จากการที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาที่จะขับเคลื่อนนโยบายเจรจาประเด็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา (OCA) ชี้เป็นนโยบายเร่งด่วน เพื่อลดต้นทุนด้านพลังงาน และล่าสุดได้มีการพบกันระหว่าง น.ส.แพทองธาร กับ ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ประเทศลาว เมื่อวันที่ 9 ต.ค.2567 ซึ่ง “เชฟรอน” เองถือเป็นผู้รับสัมปทานเดิมถึง 5 แปลง 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล ระบุว่า การให้สัมปทานของรัฐบาลไทยในปี 2511 เป็นบริษัทต่างชาติได้สิทธิสัมปทาน 4 แปลง และมีบริษัทไทยรายเดียวที่ได้สิทธิ 1 แปลง แต่เป็นแปลงขนาดเล็กและสิทธิดังกล่าวปัจจุบันตกมาอยู่ที่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ของกลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) สำหรับแนวทางการเจรจาได้พิจารณาบันทึกข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและกัมพูชาว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนปี 2544 (MOU 2544) 

ประกอบด้วยการเจรจาจัดทำข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ และการเจรจาจัดทำข้อตกลงสำหรับการพัฒนาร่วมทรัพยากรปิโตรเลียม ซึ่งอยู่ในพื้นที่ทับซ้อนกันใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือ พื้นที่ 16,000 ตารางกิโลกเมตร

ทั้งนี้ การทำข้อตกลงแบ่งเขตทางทะเลในพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนกันเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือ ตาม MOU 2544 มีแนวทางที่จะพักการเจรจาส่วนนี้ไว้เพราะจะหาข้อสรุปได้ลำบากและจะมีผลต่อการพัฒนาพื้นที่ทางทะเล รวมทั้งจะมีการเจรจารูปแบบการพัฒนาพื้นที่และการแบ่งปันผลประโยชน์ โดยในพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งไทยและกัมพูชาต่างให้สัมปทานสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งจะต้องหาข้อสรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร

สำหรับผู้ได้รับสัมปทานพื้นที่ทับซ้อนจากรัฐบาลไทยเมื่อปี 2511 แบ่งเป็น 6 ส่วน ประกอบด้วย

1.แปลง B5 & B6 พื้นที่ 10,155 ตร.กม.ผู้รับสัมปทาน คือ Idemitsu Oil 50% (Operator) , Chevron E&P 20% ,Chevron Block 5 and 6 10% และ Mitsui Oil Exploration 20%

2.แปลง B7 B8 B9 พื้นที่ 10,420 ตร.กม. ผู้รับสัมปทาน คือ BG Asia 50% , Chevron Overseas Petroleum 33.33% และ Petroleum Resources 16.67%

3.แปลง B10 B11 พื้นที่ 2,785 ตร.กม. ผู้รับสัมปทาน คือ Chevron Thailand E&P 60% และ Mitsui Oil Exploration 40%

4.แปลง B12 B13 (บางส่วน) พื้นที่ 890 ตร.กม.ผู้รับสัมปทาน คือ Chevron Thailand E&P 80% และ Mitsui Oil Exploration 20%

5.แปลง G9/43 พื้นที่ 2,619 ตร.กม.ผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 100% ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ บริษัท ปตท.ผลิตและสำรวจปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)

6.แปลง B14 พื้นที่ 133 ตร.กม.ผู้รับสัมปทาน คือ บริษัท ปตท.สผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด 80%, Chevron Thailand E&P 16% และ Mitsui Oil Exploration 4%

ส่วนผู้รับสิทธิฝ่ายกัมพูชาที่มีการให้สิทธิสัมปทานเมื่อปี 2540 แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้

1. พื้นที่ I & II 20,576 ตร.กม. ผู้รับสัมปทาน คือ Conoco Inc 66.667% (Operator) และ Idemitsu 33.333%

2. พื้นที่ III 2,785 ตร.กม. ผู้รับสัมปทาน คือ Total EP Cambodge

3. พื้นที่ IV 3,642 ตร.กม. ผู้รับสัมปทาน คือ CNOOC 63% , Ministry of Mines & Energy 10% และ Resourceful Petroleum 27%

ทั้งนี้ เชฟรอนได้บุกเบิกและพัฒนาธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยมานานกว่า 60 ปี ซึ่ง บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผลิตทั้งก๊าซธรรมชาติ ก๊าซธรรมชาติเหลว และน้ำมันดิบ ตอบสนองต่อความต้องการพลังงานของประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่นำไปผลิตเป็นกระแสไฟฟ้าให้กับคนไทย

ส่วนที่เหลือนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม เชื้อเพลิงยานพาหนะ ก๊าซหุงต้ม และวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ส่วนก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ทั้งหมดส่งให้กับ ปตท.ซึง ปตท.จะส่งก๊าซผ่านท่อใต้ทะเลไปยังโรงแยกก๊าซธรรมชาติของปตท. ที่จ.ระยองและนครศรีธรรมราช

บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มีบริษัทในเครือที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย อาทิ บริษัท เชฟรอน ปัตตานี จำกัด, บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท เชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ ยังมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ที่จ.สงขลา จ.ชลบุรี และจ.นครศรีธรรมราช

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่ เชฟรอน ได้ส่งมอบพื้นที่สัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาติ แหล่งเอราวัณ, แหล่งปลาทอง, แหล่งสตูล และแหล่งฟูนาน ให้กับ ปตท.สผ. ตั้งแต่เดือนเม.ย. 2565 ภายหลังหมดสัญญาสัมปทาน ส่งผลให้เชฟรอนเหลือแหล่งผลิตปิโตรเลียมหลัก ๆ อยู่ 2 แหล่ง คือ แหล่งไพลิน ซึ่งจะสิ้นสุดในปี 2571 โดยทีมผู้บริหารได้แสดงจุดยืนว่าจะขอขยายสัญญาออกไปอีก 10 ปี  

และแหล่งเบญจมาศ กำลังการผลิตก๊าซรวมประมาณ 400-500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน, ก๊าซธรรมชาติเหลวราว 15,000-16,000 บาร์เรลต่อวัน และน้ำมันดิบราว 7,500 บาร์เรลต่อวัน เหลือสัดส่วนราว 30% ของปริมาณการผลิตเดิม 

ล่าสุดคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา อนุมัติให้ บริษัท เชฟรอน ออฟชอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/65 ขนาดพื้นที่ 15,030 ตารางกิโลเมตร ซึ่งยังอยู่ระหว่างลงทุนสำรวจหาเชื้อเพลิง

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2511 บริษัทไทยยังไม่มีศักยภาพในการสำรวจและผลิต ทำให้สัมปทานได้ตกเป็นของบริษัทต่างชาติเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น กระทรวงพลังงานจึงพิจารณาแนวทางที่จะทำให้บริษัทไทยที่มีความพร้อมในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมากกว่าเมื่อ 56 ปี ที่ผ่านมา ได้ประโยชน์ในกรณีที่การเจรจาได้ข้อสรุปและเข้าสู่กระบวนการสำรวจและผลิต ซึ่งอาจต้องมีการเจรจากับบริษัทต่างชาติที่ได้สัมปทาน

รายงานข่าว ระบุว่า ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ ปตท.สผ.ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้น ปตท.วันที่ 12 เม.ย.2567 ว่า ปตท. และบริษัทในกลุ่มสนับสนุนภาครัฐเจรจาแนวทางการพัฒนาในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เพราะการพัฒนาแหล่งปีโตรเลียมในพื้นที่ ดังกล่าวเป็นประโยชน์ทั้ง 2 ประเทศ ทั้งในด้านความมั่นคงทางพลังงาน การเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคม

รวมทั้ง ปตท.จะจัดหาก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเข้ามาทดแทนปริมาณก๊าซในอ่าวไทยที่กำลังลดลงซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าก๊าซและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ประเทศได้ โดย ปตท.และบริษัทในเครือ มีหน้าที่สนับสนุนข้อมูลให้ภาครัฐ และพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือที่จะช่วยให้การพัฒนาพื้นที่มีประสิทธิภาพ

แหล่งข่าวจาก กล่าวว่า รัฐบาลเพื่อไทยได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงการเจรจาตั้งแต่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน และเมื่อเปลี่ยนมาเป็น น.ส.แพทองธาร ยิ่งมั่นใจได้ว่าการเจรจาน่ามีความคืบหน้าไม่มากก็น้อย เนื่องจากมีสัมพันธ์ที่ดีกับกัมพูชาจึงวางนโยบายด้านพลังงานเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพราะต้องการเพิ่มปริมาณสำรองที่กำลังลดลง และควบคุมราคาไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้เร่งรัดให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ร่วมหาข้อยุติดังกล่าว ซึ่งตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา หลังจากนายพีระพันธุ์ ต้องการที่จะเข้ามาหารือในกรณีดังกล่าว แต่ติดที่ว่าคณะทำงานยังเป็นพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงไม่สามารถทำอะไรได้ ซึ่งคณะนี้รอครม. แต่งตั้งคณะทำงานชุดใหม่ 

ทั้งนี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า รัฐบาลไทยจะเริ่มการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทย-กัมพูชาอีกครั้ง เพื่อสำรวจแหล่งน้ำมันและก๊าซนอกชายฝั่งที่คาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ (กว่า 10 ล้านล้านบาท) ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ มีข้อพิพาทกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970

พร้อมกระบุว่า กัมพูชามีเหตุผลน้อยกว่าที่จะรีบเข้าสู่โต๊ะเจรจา แม้ว่าจะต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเกือบทั้งหมดก็ตาม ซึ่งต่างจากไทย โดยกัมพูชาขาดอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซในประเทศที่แข็งแกร่ง และน่าจะยังคงต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านในการนำเข้าพลังงานและการจัดหาเชื้อเพลิงต่อไป

“หากไม่คิดเรื่องรูปแบบการแบ่งปันรายได้ ผู้ผลิตและผู้รับสัมปทานของไทยจะต้องรับภาระงานส่วนใหญ่ในพื้นที่ทับซ้อน และบริษัทของไทยจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด” บริษัทที่ปรึกษา CLC Asia ในกรุงเทพฯ ระบุในรายงานเมื่อปีที่แล้ว

ด้านเพ็ญ โบนา โฆษกรัฐบาลกัมพูชา ออกแถลงการณ์ต่อรายงานข่าวนี้ว่า กัมพูชายังคงมุ่งมั่นที่จะหารือประเด็นนี้กับไทย “หากรัฐบาลใหม่ของไทยพร้อม เราก็ยินดีที่จะดำเนินการเจรจาต่อไป”