พาณิชย์ ยัน PCA สร้างแต้มต่อเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ชี้ PCA เป็นสะพานเชื่อมการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู ก้าวหน้ามากขึ้น ยันเร่งเจรจาเต็มที่ ตั้งเป้าปิดดีลปลายปี 68 ด้านสภาอุตสาหกรรม เชื่อ PCA ช่วยยกระดบขีดวามสามารถแข่งขันไทย
นางสาวโชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์์ กล่าวในงานสัมมนาโต๊ะกลม”ก้าวสู่สัมพันธ์ไทย-อียู ยุคใหม่ ไทยจะได้อะไรภายใต้ PCA ในหัวข้อ”การใช้ PCA เป็นสะพานไปสู่ (FTA )เอฟทีเอไทย-อียูว่า PCA ที่จะนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการค้า การผลิต และเศรษฐกิจที่ยั่งยืน โดยจะเป็นพื้นฐานของการเจรจาสร้างความร่วมมือ เอฟทีเอกับ อียู ในอนาคต เพราะตลาดนี้เป็นตลาดการส่งออกสำคัญของไทย ซึ่งประเทศที่เจรจาเอฟทีเอกับอียูจะต้องมี PCA ไม่ว่าจะมีก่อนหน้าลงนาม หรือระหว่างการเจรจา
ทั้งนี้ PCA จะเป็นสะพานเชื่อมให้การเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู โดย PCA ก็จะมีข้อบทต่างๆที่คล้ายกับข้อบทในการเจรจาเอฟทีเอ เช่น มาตรฐานทางการค้า มาตรการสุขอนามัย นโยบายการแข่งขัน การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ดิจิทัล มาตรการด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว เศรษฐกิจยั่งยืน ซึ่งประเด็นเหล่านี้ถือเป็นประเด็นสำคัญในการเจรจาเอฟทีเอไทย-อียู และสิ่งที่อยู่ใน PCA จะเป็นสะพานเชื่อมให้การเจรจาสามารถขับเคลื่อนไปได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาภพมากขึ้น
สำหรับความคืบหน้าเอฟทีอไทย-อียู มีการเจรจาของทั้ง 2 ฝ่ายไปแล้วในรอบที่ 3 ซึ่งตลาดอียูถือเป็นตลาดที่สำคัญของไทยมีมูลค่ากว่า 4.1 พันล้านดอลลาร์ คิดเป็นส่วนการส่งออกของไทยทั้งหมด 6-7 % ถือว่าเยอะมาก จึงเป็นตลาดที่เราพลาดไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม เข้าสู่ประเทศกลุ่มอียู คาดว่าหากการเจรจาจบและมีการลงนามของทั้ง 2 ฝ่ายจะผลักดันการค้า การบริการ และการลงทุนได้มากขึ้น
ทั้งนี้ในการเจรจา 3 รอบที่ผ่านคลอบคลุมประเด็นต่างๆ โดยมีการประชุมระดับหัวหน้าคณะ และการประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะ ซึ่งคลอบคลุมสินค้าและบริการ สุขอนามัย การจัดซื้อจัดจ้าง เป็นต้น และยังมีเรื่องใหม่เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา สิ่งแวดล้อม พลังงาน โดยทั้ง 2 ฝ่ายเห็นตรงกันในเชิงบวก ซึ่งมีความคืบหน้าด้วยดีโดยเฉพาะข้อบทต่างๆในเอฟทีเอฉบับนี้ ในระยะต่อไปจะมีการเจรจาในเรื่องของการเปิดตลาดของทั้ง 2 ฝ่าย จะมีการเจรจาต่อไปและสามารถปิดดีลได้ ซึ่งเราก็จะเจรจาต่อรองอย่างรอบคอบเพื่อผลประโยชน์ของประเทศและเกิดความสมดุลย์ของทั้ง 2 ฝ่าย รวมทั้งผลกระทบต่างๆ
“กรมฯตั้งเป้าเจรจาเอฟทีเอไทย-อียูให้เสร็จโดยเร็ว โดยคาดว่าจะเร่งปิดการเจรจาได้ในปลายปี 68 ซึ่งเราเดินหน้าเต็มที่ และถือเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล อย่างไรก็ตามหลายประเด็นที่อยู่ในระหว่างการเจรจาถือเป็นความท้าทายทั้งเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง สิ่งแวดล้อม พลังงาน ซึ่งเราจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะเอฟทีเอมีทั้งประโยชน์และผลกระทบ”นางสาวโชติมา กล่าว
ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวในหัวข้อ” PCAกับการยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจไทย “ว่า PCA เป็นเหมือนช่องทางที่จะทำให้อุตสาหกรรมไทยสามารถเคลื่อนไปยังยุโรปได้กว้างขึ้น หลังจากที่ไทยมีความร่วมมือกับองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ไทยจะรับมือความท้าทายของโลก ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาด หรือโลกเดือด เป็นต้น นอกจากนี้ยังเชื่อว่าการสร้างความร่วมมือกับสหภาพยุโรป จะทำให้ไทยพัฒนาจากประเทศที่รับผลิตสินค้า เป็นประเทศที่ผลิตสินค้าเพื่อทำแบรนด์ขายได้เอง เปลี่ยนจากการใช้แรงงานเป็นการใช้เทคโนโลยี เปลี่ยนจากแรงงานไร้ฝีมือเป็นแรงงานคุณภาพสูง และจะเปลี่ยนผ่านจากการผลิตเพื่อกำไรเป็นการผลิตควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อมให้ได้รับการยอมรับจากตลาดโลกในอนาคต
ทั้งนี้ภาคเอกชนจะใช้ประโยชน์จาก PCA ในเรื่องของแนวทางปฏิบัติต่างที่อียูวางไว้ ไม่ว่าจะเป็น แนวทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยขอรับความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญจากอียูเพื่อพัฒนามาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมของสินค้า ด้านพลังงาน จะสร้างความร่วมมือและแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับพลังงานรูปแบบใหม่รวมถึงดึงเทคโนโลยีเพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด ขณะที่ด้านการค้าจะยกระดับมาตรฐานที่ได้เรียนรู้จากอียูผ่านความร่วมมือ PCA
อียูถือเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของไทย โดยในปี 2566 การค้าระหว่างไทยและอียู มีมูลค่า 41,582.24 ล้านดอลลาร์ โดยไทยส่งออกไปอียู มูลค่า 21,838.37 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้าจากอียู มูลค่า 19,743.87 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และแผงวงจรไฟฟ้า และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเคมีภัณฑ์