'คลัง' ลั่นเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง เมินความเสี่ยงถูกหั่นเครดิตเรตติ้ง

'คลัง' ลั่นเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง เมินความเสี่ยงถูกหั่นเครดิตเรตติ้ง

“คลัง” ไม่ห่วงไทยเสี่ยงถูกหั่นเครดิตเรตติ้ง มั่นใจเศรษฐกิจไทยโตต่อเนื่อง จากสถิติเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศปี 67 ทำลายสถิติ 10 ปี ยันการเมืองเปลี่ยนไม่กระทบนโยบาย สบน.ระบุอันดับความน่าเชื่อถือไทยยังน่าลงทุน พื้นฐานเศรษฐกิจไทยมีเสถียรภาพ แจงศูนย์วิจัยปรับข้อมูล

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ออกมาระบุความเสี่ยงของประเทศไทยถูกลดเครดิตเรตติ้ง จากปัจจุบันที่ระดับ BBB+ โดยระบุถึงความเสี่ยงจากความยั่งยืนของหนี้ภาครัฐ เสถียรภาพการเมืองและธรรมาภิบาล และอัตราการเติบโตและศักยภาพของเศรษฐกิจไทยต่ำกว่าภาพที่ Fitch ประเมินไว้เดิมค่อนข้างมาก

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า กรณีดังกล่าวเป็นการวิเคราะห์ ซึ่งความเสี่ยงของเครดิตเรตติ้งขึ้นอยู่กับข้อสมมุติฐานทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลได้พยายามดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ สะท้อนจากตัวเลขขอรับการส่งเสริมการลงทุนในปี 2567 ที่ทำลายสถิติ 10 ปี และหากรวมตัวเลขขอรับส่งเสริมการลงทุนตั้งแต่ปี 2565-2567 จะมีเม็ดเงินมากกว่า 2 ล้านล้านบาท ทำให้เชื่อมั่นได้ว่าต่างประเทศยังสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยอยู่ และเม็ดเงินเหล่านี้จะทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง จะเป็นผลให้เศรษฐกิจไทยมีความแข็งแกร่งมากขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลได้เร่งสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศผ่านหลายมาตรการ เช่น การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนที่จะทำให้เกิดการจ้างงานตามมา รวมถึงมาตรการสนับสนุนการบริโภค และมาตรการที่อยู่ระหว่างการพิจารณา เช่น การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (อินฟราสตรัคเจอร์ฟันด์) เพื่อสนับสนุนการลงทุนโครงการสำคัญ

รวมถึงการผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่ค้างมาตั้งแต่ปี 2561 โดยโครงการนี้ถือเป็นโครงการที่จำเป็นเพราะจะช่วยทำให้เศรษฐกิจโดยเฉพาะในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้เติบโตได้เป็นอย่างดีจึงเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประเทศ เพราะมีเม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 2 แสนล้านบาท

“ความเสี่ยงของเครดิตเรตติ้งขึ้นอยู่กับข้อสมมุติฐาน ถ้าเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะโตต่ำกว่า 3% ไปเรื่อย ๆ มันก็จะมีผลไปถึงเรื่องหนี้ครัวเรือน หนี้เอสเอ็มอีที่จะแก้ไขยาก เพราะเรื่องเหล่านี้ต้องพึ่งพาการเติบโตทางเศรษฐกิจจริง” นายพิชัย กล่าว

นอกจากนี้ ในส่วนของหนี้สาธารณะรัฐบาลต้องการทำให้สมดุลให้ได้ในระยะยาว แต่ในระยะสั้นก็ต้องทำให้การขาดดุลสอดคล้องกับการเติบโตของเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ เมื่อการขาดดุลของประเทศเป็นแบบนี้ การแก้ปัญหาก็ไม่สามารถทำได้แค่ 1-2 ปี เพราะเราอาจจะไหวตัวช้าไปนิด ก็ต้องมาตกอยู่ในสภาพนี้ ก็ต้องยอมรับสภาพ แต่หลังจากนี้ก็ต้องช่วยกันแก้ไขต่อไป

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการ คือการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการลงทุนต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น ส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องแล้วที่เศรษฐกิจไทยจะค่อย ๆ เติบโตไปอย่างต่อเนื่อง การจะมาพูดว่าเศรษฐกิจโตที่ 2% กว่า แล้วอยู่ ๆ เติบโตแบบก้าวกระโดดไปที่ 4% คงเป็นไปไม่ได้ เรื่องของตัวเลขการเติบโตต่าง ๆ ต้องมีที่มาที่ไปที่ชี้แจงได้อย่างชัดเจนด้วย

การเมืองเปลี่ยนไม่กระทบนโยบายรัฐ

นายพิชัย กล่าวว่า บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือจะไม่ได้พิจารณาแค่ข้อมูลตัวเลขเศรษฐกิจต่าง ๆ เท่านั้น แต่ยังมีประเด็นเรื่องความแน่นอน และความชัดเจนทางการเมืองที่จะถูกหยิบยกขึ้นไปพิจารณาด้วย ดังนั้น หากรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดใดก็สามารถทำหน้าที่บริหารประเทศได้ต่อเนื่องน่าจะเป็นปัจจัยที่ดีกว่า

“ส่วนตัวหวังว่าที่ผ่านมาประเทศไทยน่าจะได้เรียนรู้อะไรมาหลายอย่างแล้ว และคิดว่าน่าจะถึงจุดที่ประเทศไทยจะต้องก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้แล้ว เวลาผมทำงาน ผมก็กังวลทุกเรื่อง เมื่อคิดดูแล้วไม่เห็นว่าประเทศไทยจะมีอะไรด้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้านเลย อาจจะมีแค่เรื่องเดียวคือ ความชัดเจนของการลงทุนใหม่ หากทำตรงนี้ได้จะตอบได้ว่าในระยะต่อไปการลงทุนจะมาแน่ แต่เชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะเริ่มดีขึ้น สะท้อนจากธุรกิจธนาคารพาณิชย์ก็กำไรดี และจะได้เห็นอย่างอื่นดีตามมาในไตรมาส 4/67” นายพิชัย กล่าว

อย่างไรก็ตาม หากไม่เกิดเหตุการณ์ที่ไม่แน่นอนนอกประเทศ ทิศทางเงินเฟ้อไม่ขึ้น หลายประเทศยังต้องการนลดอัตราดอกเบี้ย สิ่งที่จะตามมาก็คือ ตลาดทุนจะมีความตื่นตัว ทุกอย่างจะเป็นไปในทิศทางที่ดี ซึ่งไทยถือเป็นประเทศหนึ่งในโลกที่เราก็หวังว่าหลังจากนี้จะไม่มีปัญหาอะไรเกิดขึ้นอีก

สบน.ยืนยันไทยยังไม่ถูกลดเครดิต

นายพชร อนันตศิลป์ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า กรณีศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและการเงินภาคเอกชนแห่งหนึ่งได้เผยแพร่บทวิเคราะห์เกี่ยวกับการคาดการณ์แนวโน้มปัจจัยความเสี่ยงต่ออันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในอนาคตของไทย อาจนำไปสู่ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง 

ทั้งนี้ สบน.ขอยืนยันว่ายังไม่มีการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศ อีกทั้งพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศมีความแข็งแกร่งและมีเสถียรภาพ

สำหรับข้อเท็จจริง “จากการเผยแพร่รายงานการประเมินอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศที่จัดทำโดย บริษัท S&P Global (S&P) และบริษัท Moody’s Investors Service (Moody’s) ที่มีการเผยแพร่รายงานเมื่อวันที่ 28 พ.ย.2566 และวันที่ 11 เม.ย.2567 ตามลำดับ ซึ่งเป็นรายงานบทวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความเป็นปัจจุบันมากกว่าที่ศูนย์วิจัยฯ ภาคเอกชนดังกล่าวนำมาอ้างอิง 

รวมทั้งได้ระบุถึงแนวโน้มความน่าเชื่อถือของประเทศยังมีความแข็งแกร่ง พร้อมทั้งคงอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยไว้ที่ระดับน่าลงทุน (Investment Grade) คือ ระดับ BBB+ หรือ Baa1 และคงมุมมองความน่าเชื่อถือ (Outlook) ของประเทศไทยที่ระดับมีเสถียรภาพ (Stable Outlook)

สบน.แจงศูนย์วิจัยปรับข้อมูล

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาศูนย์วิจัยฯ ภาคเอกชนได้เผยแพร่บทวิเคราะห์และนำเสนอประเด็น “ไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติง” โดยอ้างอิงข้อมูลจากรายงานการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัท Fitch Ratings เป็นการวิเคราะห์บนพื้นฐานข้อมูลในรายงานของบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือเพียงรายเดียว โดยไม่ได้นำข้อมูลจากทั้งจาก S&P และ Moody’s มาพิจารณาประกอบการจัดทำบทวิเคราะห์ด้วย 

ขณะที่ สบน.ได้มีหนังสือแจ้งหน่วยงานกำกับดูแลและศูนย์วิจัยฯ ดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2567 ภายหลังพบว่าได้แก้ไขปรับเปลี่ยนหัวเรื่องบทวิเคราะห์จาก “ไทยเสี่ยงถูกลดเครดิตเรตติง จาก BBB+ หรือไม่” เป็น “ปัจจัยท้าทายความเสี่ยงเครดิตเรตติงไทย” เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2567 พร้อมกับได้เผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ของศูนย์วิจัยฯ แล้ว

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้สั่งการให้ สบน.ติดตามเรื่องที่เกี่ยวข้องกับภาวะเศรษฐกิจและการบริหารหนี้สาธารณะ โดยเฉพาะการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศไทยอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้กระทบต่อความเชื่อมั่น สร้างความเข้าใจผิดและความสับสนต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศที่กำลังฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ