ส.พืชสวนโลกแนะไทยปรับแผนจัดงาน ลดพื้นที่-ลดความซับซ้อนห่วงไม่ทันปี69
กรมวิชาการเกษตร ผนึก สสปน. จังหวัดอุดรธานี จับมือ สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ เดินหน้าจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี 2569
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า สมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ (AIPH) ได้แนะนำแนวทางการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ภายใต้ข้อจำกัดในเรื่องของระยะเวลาในการเตรียมการจัดงานที่มีเพียง 1 ปี 4 เดือน โดยเสนอให้มีการปรับแบบผังแม่บทให้ลดความสลับซับซ้อนของโครงสร้างและอาคาร แต่ยังคงสามารถสื่อสารความเป็นไทยและสอดคล้องกับธีมของงาน
โดยขอให้กรมวิชาการเกษตรเร่งหารือแนวทางการปรับปรุงผังแม่บทตามข้อแนะนำดังกล่าว รวมถึงแนะนำ Mr. John Boonผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบผังแม่บทมหกรรมพืชสวนโลกของ AIPH เพื่อช่วยให้คำแนะนำแนวทางการปรับปรุงผังแม่บทใหม่ โดย AIPH เน้นย้ำว่าโครงการระดับ B โดยปกติจะเป็นอาคารชั่วคราว (Temporary Building) เป็นส่วนใหญ่
รวมทั้งเสนอให้ปรับลดขนาดของพื้นที่จัดงาน เนื่องจากการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานีเป็นระดับ B ตามข้อกำหนดของ AIPH กำหนดพื้นที่อย่างน้อยประมาณ 150 ไร่ หากประเทศไทยจะลดขนาดพื้นที่จัดงานลงจากเดิมที่กำหนดไว้ประมาณ 1,030 ไร่ ให้เหลือครึ่งหนึ่ง หรือ 400-500 ไร่ ก็สอดคล้องกับคำแนะนำของ AIPH โดยประธาน AIPH เน้นย้ำว่าแนวทางการจัดงานของ AIPH คือ “Less is the best”
ทั้งนี้ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี พ.ศ. 2569 ได้มอบหมายให้กรมวิชาการเกษตร เข้าร่วมพิธีปิดงานมหกรรมพืชสวนโลกนคร เฉิงตู Cheungdu Expo 2024 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีนายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ สสปน.และพันโทวรายุส์ ตรีวัฒนสุวรรณ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี เข้าร่วมงานพร้อมกับได้ประชุมหารือร่วมกับ Mr. Leonardo Capitanio ประธานสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ Mr. Tim Briercliffe เลขาธิการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ และคณะกรรมการสมาคมพืชสวนระหว่างประเทศ
“ได้หารือร่วมกับผู้อำนวยการ สสปน.และผู้แทนจังหวัดอุดรธานี เสนอขอให้ขยายระยะเวลาการส่งมอบพื้นที่ให้แก่ประเทศสมาชิก AIPH เพื่อเข้ามาดำเนินการจัดสวนและก่อสร้างอาคารนานาชาติก่อนเปิดงาน 3 เดือน จากเดิมต้องส่งมอบพื้นที่ให้ AIPH ก่อนเปิดงาน 6 เดือน คือในวันที่ 1 ส.ค. 2569 เป็นวันที่ 1 พ.ค. 2569 เพื่อให้มีระยะเวลาในการก่อสร้างและปรับปรุงภูมิทัศน์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการ AIPH ได้เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งประเทศไทยจะเน้นความสำคัญของการจัดแสดงทางด้านพืชสวน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของพืช/ต้นไม้/ไม้ดอกไม้ประดับ โดยขอให้เน้นการจัดสวนอย่างมีคุณภาพมากกว่าปริมาณ”
กรมวิชาการเกษตร สสปน. และผู้แทนของจังหวัดอุดรธานี จะนำข้อมูลดังกล่าว รายงานต่อคณะกรรมการบริหารการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ และคณะกรรมการอำนวยการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯรวมทั้งสร้างการรับรู้ให้แก่ประชาชน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ โดยจังหวัดอุดรธานีต้องเร่งดำเนินการส่งมอบกรรมสิทธิ์ผังแม่บทให้กรมวิชาการเกษตรโดยด่วนที่สุด และเร่งปรับสภาพพื้นที่ให้แล้วเสร็จตามกำหนดภายในวันที่ 30 พ.ย. 2567 เพื่อที่กรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้ดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างพร้อมกับเชิญชวนผู้รับจ้างจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกฯ ครั้งต่อไป
การปรับปรุงตามคำแนะนำดังกล่าวจะสร้างความมั่นใจให้แก่คณะกรรมการ AIPH ซึ่งมีกำหนดการลงตรวจติดตามพื้นที่จัดงานมหกรรมพืชสวนโลกทั้งในส่วนของจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 24-28 พ.ย.2567 และในการประชุม AIPH Spring Meeting ณ จังหวัดเชียงราย ช่วงเดือนก.พ. 2568 พร้อมกันนี้จะเตรียมเชิญประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ ผู้ประกอบการที่เคยได้รับการเชิญชวน และเชิญชวนผู้ประกอบการรายใหม่มาร่วมรับทราบแนวทางในการปรับผังแม่บทที่ยังคงเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดงานและข้อกำหนดของ AIPH ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ต่อไป เพื่อให้สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกจังหวัดอุดรธานี และเพื่อให้เปิดงานได้ตามกำหนดในวันที่ 1 พ.ย. 2569