9 เดือนปี 67  จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เกือบ 7 หมื่นราย โต 1.49 %

9 เดือนปี 67  จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เกือบ 7 หมื่นราย โต 1.49 %

กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผยเดือนก.ย.ยอดจัดตั้งธุรกิจใหม่ 7,867 ราย  โต 10.69 % รวม 9 เดือนมี 69,686 ราย  1.49 % คาดไตรมาส 4 โตต่อเนื่อง  จากแรงหนุนจากงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ท่องเที่ยว ทั้งปีได้ตามเป้า 90,000 - 98,000 ราย

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เดือนก.ย.2567 มีจำนวน 7,867 ราย เพิ่มขึ้น 760 ราย  โต 10.69 % โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 22,048.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,398.84  ล้านบาท คิดเป็น 24.92% โดยเดือนก.ย. 2567 มีนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนจัดตั้งเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 1 ราย คือ บริษัท แกรนด์ เรสซิเดนซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด มูลค่าทุนจดทะเบียน 1,520.00 ล้านบาท ประกอบกิจการซื้อ จัดหา รับ เช่า เช่าซื้อ ให้เช่า ถือกรรมสิทธิ์ครอบครอง ปรับปรุง ใช้ และจัดการ โดยประการอื่นซึ่งทรัพย์สินใดๆ ตลอดจน ดอกผลของทรัพย์สินนั้น ประเภทธุรกิจที่มีการจัดตั้งใหม่สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 620 ราย ทุน 1,349.33 ล้านบาท 2.ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 531 ราย ทุน 3,465.99 ล้านบาท และ 3.ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 374 ราย ทุนจดทะเบียน 716.75  ล้านบาท 

ในขณะที่ จำนวนการจดทะเบียนเลิกในเดือนก.ย. มีจำนวน 2,254 ราย เพิ่มขึ้น 191 ราย คิดเป็น 9.26% โดยมีมูลค่าทุนจดทะเบียน 16,611.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,797.98 ล้านบาท  คิดเป็น 20.25% ทั้งนี้ เดือนก.ย.2567 มีนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 2 ราย  คือ 1.บจ.เซ็นทรัล เจดี คอมเมิร์ซ จำกัด (แพลตฟอร์ม JD CENTRAL) ทุนจดทะเบียนเลิก 4,959.27 ล้านบาท ประกอบกิจการค้าปลีกผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ 2. บจ.เซ็นทรัล เจดี มันนี่ จำกัด (แพลตฟอร์ม Dolfin Wallet) ทุนจดทะเบียนเลิก 2,532.00 ล้านบาท ประกอบกิจการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการ

9 เดือนปี 67  จดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่เกือบ 7 หมื่นราย โต 1.49 %

นางอรมน กล่าวว่า สำหรับ 9 เดือนแรกปี 67   (ม.ค. - ก.ย.)มีการจดทะเบียนจัดตั้ง มีจำนวน 69,686 ราย ซึ่งมีอัตราการจัดตั้งเพิ่มขึ้น 1.49 % จากช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทุนจดทะเบียน 208,481.38  ล้านบาท ลดลง 285,590.71 ล้านบาท  เนื่องจาก ปี 2566 มีทุนจดทะเบียนสูงสุดในประวัติการณ์เพราะมี 2 ธุรกิจที่ทุนจดทะเบียนเกิน 100,000 ล้านบาท ได้ควบรวม และแปรสภาพ  โดยประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป 5,294 ราย ทุน 11,743.07 ล้านบาท 2. ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 5,229 ราย ทุน 22,833.72 ล้านบาท และ 3. ธุรกิจภัตตาคาร/ร้านอาหาร 3,212 ราย ทุน 6,526.78 ล้านบาท

ทั้งนี้การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใน 9 เดือนแรก มี 3 ธุรกิจที่น่าจับตามองเพราะมีอัตราการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ได้แก่ 1. ธุรกิจการออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียง (ยกเว้นทางออนไลน์) ที่มีการจดทะเบียนเพิ่มขึ้น 41 เท่า เนื่องจาก กสทช.ให้สถานีวิทยุกระจายเสียงดำเนินการขอรับใบอนุญาตกิจการกระจายเสียงภายในวันที่ 31 ธ.ค.2567 เพื่อนำไปประกอบการขออนุญาตดังกล่าว

2.ธุรกิจตู้หยอดเหรียญ เช่น ตู้หยอดเหรียญล้างรถ ตู้หยอดเหรียญคีบตุ๊กตา และจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ และตู้บริการถ่ายภาพโฟโต้บูธ จดทะเบียนเพิ่มขึ้น 3.60 เท่า 3.ธุรกิจปลูกข้าวเจ้า จดทะเบียนเพิ่มขึ้น 2.56 เท่า เนื่องจากกรมการข้าวสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกร จัดตั้งเป็นนิติบุคคล เพื่อเข้าร่วมโครงการสนับสนุนลดต้นทุนการผลิตด้านการเกษตร

 

ส่วนการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการสะสม 9 เดือน (ม.ค. – ก.ย.2567) มีจำนวน 12,246 ราย เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ลดลง 764 ราย (5.87%) ทุนจดทะเบียนเลิกสะสม 116,005.25 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เพิ่มขึ้น 34,604.61 ล้านบาท (42.51%) ทั้งนี้ ในเดือนพ.ค.2567 มีธุรกิจด้านโทรคมนาคมและการสื่อสาร จำนวน 1 ราย ทุนจดทะเบียนกว่า 48,209.34 ล้านบาท ได้จดทะเบียนเลิกกิจการ เป็นสาเหตุให้ตัวเลขทุนจดทะเบียนเลิก 9 เดือนสูงกว่าปกติ หากตัดธุรกิจดังกล่าวออกไปทุนจดทะเบียนเลิกลดลง 13,604.73 ล้านบาท (16.71)% เมื่อพิจารณาสัดส่วนการเลิกประกอบธุรกิจในปี 2567 พบว่า มีเพียง 17.57% ของการจัดตั้งธุรกิจ ซึ่งน้อยกว่าปี 2566 ที่มีสัดส่วน 18.95% ของการจัดตั้งธุรกิจ

นางอรมน กล่าวว่า  กรมพัฒนาธุรกิจการค้า คาดการณ์การจดทะเบียนในไตรมาสสุดท้ายของปียังมีปัจจัยกระตุ้นการลงทุน อาทิ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ของปีงบประมาณ 2568 ที่จะเริ่มในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ที่จะทยอยเริ่มโครงการ และด้วยช่วงปลายปีแห่งฤดูกาลการท่องเที่ยว High season ในระหว่างเดือนพ.ย. 2567 ถึง เม.ย.2568 จะเป็นตัวกระตุ้นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ประกอบกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่ประกาศออกมาในช่วงต้นเดือน ที่ผ่านมา อาทิ การผลักดันการปรับโครงสร้างหนี้ การส่งเสริม และป้องการผลประโยชน์ของผู้ประกอบการไทย   การกระตุ้นเศรษฐกิจผลักดัน การส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เป็นต้น ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น และกระตุ้นการใช้จ่ายให้กับภาคเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้การจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในไตรมาสสุดท้ายมีปริมาณเพิ่มขึ้นประมาณ 20,000 - 23,000 ราย ทั้งนี้ คาดว่าตลอดปี 2567 จะมีจำนวนการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจใหม่ประมาณ 90,000 - 98,000 ราย

อย่างไรก็ตามปัจจัยภายนอกประเทศที่เศรษฐกิจโลกที่กำลังเผชิญกับแรงกดดัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และการเลือกตั้งสหรัฐ ที่เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย และอาจก่อให้เกิดความตึงเครียดทางการค้า อันจะส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของโลก บวกกับปัจจัยภายในประเทศ อย่างภาวะหนี้สินต่อครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งทำให้มีการจับจ่ายใช้สอยที่รัดกุม ระมัดระวัง รวมทั้งความแปรปรวนของสภาพอากาศที่ส่งต่อภาคการผลิต และสถานการณ์อุทกภัยที่ส่งผลต่อการขยายการลงทุน รวมถึงห่วงโซ่อุปทาน ภาคการผลิต ภาคการบริการ และการขายปลีก/ขายส่ง ซึ่งต้องใช้เวลาในการปรับปรุง ซ่อมแซม และการทยอยฟื้นตัวของธุรกิจที่ได้รับความเสียหายจากสถานการณ์ดังกล่าว

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์