ทําอย่างไรให้บริษัทเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน

ทําอย่างไรให้บริษัทเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน

บริษัทคือหน่วยเศรษฐกิจของภาคเอกชน ที่ความเข้มแข็งมีผลอย่างสําคัญต่อการเติบโตและความยั่งยืนของธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศ

ประเด็นนี้ชัดเจนจากวิกฤติโควิด-19 ที่เมื่อบริษัทจํานวนมากไม่เข้มแข็งพอที่จะรับมือกับผลกระทบที่มาจากการระบาดของโควิด-19 ต้องหยุดทําธุรกิจ ความเสียหายก็เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจและเศรษฐกิจ

ความเข้มแข็งที่พูดถึงนี้หมายถึง Resilience คือความสามารถของธุรกิจที่จะพลิกกลับหรือ bounce back จากสถานการณ์ที่เลวร้าย เป็นความสามารถที่ทุกบริษัทควรมี และเป็นสิ่งที่สามารถสร้างให้เกิดขึ้นได้ นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

อาฑิตย์ที่แล้ว ผมได้รับเชิญเป็นวิทยากรในงานสัมมนาประจําปีของสมาคมผู้ตรวจสอบภายใน พูดในหัวข้อ Building Resilence in Time of Crisis หรือสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรในเวลาวิกฤติ

เป็นหัวข้อที่ผมชอบ เพราะตรงประเด็นกับสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น และไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น เศรษฐกิจโลกและภาคธุรกิจก็จะถูกกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

ในเรื่องนี้บทเรียนจากวิกฤติโควิด-19 เมื่อห้าปีก่อนชี้ชัดว่า บริษัทควรมีความสามารถที่จะปรับตัวต่อช็อกหรือเหตุการณ์เลวร้ายที่อาจเกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่จะมีต่อบริษัททำให้ธุรกิจของบริษัทสามารถไปต่อได้

ตรงกันข้าม ถ้าบริษัทไม่มีความสามารถที่จะตั้งรับหรือปรับตัวต่อช๊อคต่างๆ บริษัทก็จะถูกกระทบมากและมีโอกาสน้อยที่จะเติบโตอย่างยั่งยืน

ในงานสัมมนา ผมชี้ถึงการเปลี่ยนแปลง 3 ด้านที่กําลังทําให้โลกเราขณะนี้เปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม

ด้านแรกคือ ภูมิรัฐศาสตร์ที่กําลังเปลี่ยนโลกจากที่เคยสงบมีเสถียรภาพ มาเป็นโลกที่มีสงครามและความขัดแย้งมากขึ้น ส่งผลให้ความเป็นหนึ่งเดียวของเศรษฐกิจโลกหายไป

เศรษฐกิจโลกแตกแยก ค้าขายกันเป็นกลุ่มตามนัยทางการเมือง ความเป็นเสรีทางการค้าลดลง ต้นทุนการผลิต อัตราเงินเฟ้อ และความไม่ปลอดภัยเพิ่มขึ้น

ด้านที่สองคือ การปรับตัวของธุรกิจทั่วโลกต่อการเปลี่ยนแปลงที่กําลังเกิดขึ้นทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การค้า พฤติกรรมผู้บริโภค และเทคโนโลยี

ด้านที่สามคือสังคมสูงวัยที่กําลังเปลี่ยนเศรษฐกิจทั่วโลกเช่นกันด้วยพฤติกรรมใช้จ่ายที่เปลี่ยนไป วิธีคิดและการตัดสินใจที่มากับผู้นำรุ่นใหม่ทั้งในภาคธุรกิจและการเมือง และภาระที่มีต่อเศรษฐกิจทั่วโลกและการใช้ทรัพยากรที่มากับสังคมสูงวัย

เหล่านี้คือการเปลี่ยนแปลงที่กําลังเกิดขึ้น และพลวัตของการเปลี่ยนแปลงทําให้ความไม่แน่นอนในโลกมีมากซึ่งจะกระทบเศรษฐกิจและธุรกิจทั่วโลก ทั้งในทางบวก เช่นเทคโนโลยี และในทางลบ เช่นนโยบายเศรษฐกิจที่ไม่มีเหตุผลขับเคลื่อนโดยความขัดแย้งทางการเมือง

รวมถึงความเสี่ยงที่มากับภูมิอากาศและภัยธรรมชาติ เหล่านี้คือความไม่แน่นอนที่ธุรกิจทั่วโลกต้องเผชิญและควรพร้อมรับมือ คําถามคือเราจะเตรียมตัวกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร

ในเรื่องนี้ สิ่งแรกที่ต้องตระหนักคือ ช่องทางที่ความไม่แน่นอนหรือสถานการณ์เลวร้ายจะกระทบธุรกิจของบริษัทนั้นมาได้ 4 ช่องทาง

หนึ่ง ความผันผวนทางเศรษฐกิจ เช่น เกิดวิกฤติเศรษฐกิจในระดับประเทศหรือระดับโลก กระทบการขยายตัวของเศรษฐกิจ กําลังซื้อ สภาพคล่อง และเสถียรภาพเศรษฐกิจ

สอง ดิสรัปชันจากเทคโนโลยีล่าสุดก็เช่นดิจิทัลเทคโนโลยี ที่ทําให้พฤติกรรมผู้บริโภคและวิธีการทําธุรกิจเปลี่ยนไป เช่น ซื้อสินค้าและติดต่อธุรกิจด้วยระบบออนไลน์

สาม มีสิ่งเกิดขึ้น เช่นสงคราม ทำให้ห่วงโซ่ธุรกิจของบริษัทถูกกระทบทั้งขาขึ้นเช่น ลูกค้า และขาลง เช่น พนักงาน บริษัทคู่ค้า ส่งผลต่อธุรกิจของบริษัท เช่น กรณีโควิด-19

ช่องทางที่สี่ คือภัยธรรมชาติ เช่น นํ้าท่วม แผ่นดินไหว ทําให้ธุรกิจหยุดชะงัก

นี่คือช่องทางที่วิกฤติหรือผลกระทบจากภายนอกสามารถมีต่อบริษัท และไม่ว่าผลกระทบจะเกิดขึ้นผ่านช่องทางไหน จุดที่บริษัทจะถูกกระทบและเป็นตัวทดสอบว่าบริษัทมีความแข็งแกร่งมากพอหรือไม่ที่จะทัดทานผลกระทบที่เกิดขึ้นจะคล้ายกันคือ

หนึ่ง กระบวนการทําธุรกิจของบริษัท ว่าเข้มแข็งต่อดิสรัปชันหรือช็อกที่เข้ามากระทบบริษัทหรือไม่ นี่คือ Operational resilience หมายถึงความสามารถที่บริษัทจะรักษาความต่อเนี่องในการทําธุรกิจ ให้กระบวนการทําธุรกิจสามารถไปต่อได้แม้จะอยู่ในภาวะวิกฤติ

ความเข้มแข็งนี้มาจากระบบงานที่คล่องตัว ยืดหยุ่น และระบบการบริหารจัดการในช่วงวิกฤติที่บริษัทมี ที่จะช่วยให้บริษัทปรับตัวอย่างทันเหตุการณ์ในยามที่เกิดวิกฤติ นี่คือจุดทดสอบแรก

จุดที่สอง คือ ความเข้มแข็งด้านการเงิน หรือ Financial resilience เพราะในช่วงวิกฤติความไม่มีเสถียรภาพทางการเงินจะทําให้บริษัทไม่สามารถไปต่อได้

ความเข้มแข็งด้านการเงิน มาจากฐานะทางการเงินของบริษัทที่ดี มีเงินสํารอง สภาพคล่อง และทุนเพียงพอที่จะรองรับความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นหรือเมื่อมีความจําเป็นต้องใช้จ่ายยามฉุกเฉิน

ความเข้มแข็งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังและสร้างขึ้นด้วยวิสัยทัศน์การบริหารที่มองฐานะทางการเงินระยะยาวและระยะสั้นของบริษัทอย่างสมดุล ผ่านนโยบายการจ่ายเงินปันผล นโยบายลงทุน นโยบายการใช้จ่ายที่ระมัดระวัง

จุดทดสอบที่สาม คือ ความไว้วางใจ หรือ trust ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีต่อบริษัทในยามวิกฤติ คือ ถ้าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น พนักงาน ลูกค้า บริษัทคู่ค้า นักลงทุน ไม่ไว้วางใจบริษัท บริษัทก็จะไปต่อยาก ไม่ว่าจะในภาวะวิกฤติหรือในยามปรกติ

ซึ่งความไว้วางใจนี้มาจากความเข้มแข็งเชิงสถาบัน หรือ Institutional resilience ที่บริษัทควรมี ที่เกิดจากภาวะผู้นําที่เข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับ และการบริหารจัดการบริษัทที่มีธรรมาภิบาล

สองเรื่องนี้คือพื้นฐานที่จะช่วยให้บริษัทตัดสินใจได้ดีในช่วงวิกฤติ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นําไปสู่การปรับตัวและความสามารถที่จะพลิกฟื้นจากสถานการณ์ที่เลวร้ายหรือวิกฤติได้เร็ว

ในงานสัมมนา ผมชี้ว่า นี่คือสามองค์ประกอบที่ทําให้บริษัทเข้มแข็ง หรือ Resilience และการสร้างความเข้มแข็งก็คือการโฟกัสในสามเรื่องนี้ คือ กระบวนการทำธุรกิจ ฐานะการเงิน และภาวะผู้นำ

ในทางปฏิบัติ การสร้างความเข้มแข็งหรือ build resilience ควรเริ่มที่หัวหรือส่วนบนขององค์กร คือภาวะผู้นํา ที่ให้ความสําคัญกับการสร้างธรรมาภิบาลให้เกิดขึ้นในองค์กร คือ ทํางานเป็นระบบ โปร่งใส ซื่อสัตย์สุจริต ตรวจสอบได้ และพร้อมรับผิดชอบในสิ่งที่ทํา

สิ่งเหล่านี้จะนําไปสู่วัฒนธรรมองค์กรด้านธรรมาภิบาลที่เข้มแข็ง ที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งจะนําไปสู่ Culture of resilience ในที่สุด ซึ่งสำคัญมากสำหรับธุรกิจในปัจจุบัน

ทําอย่างไรให้บริษัทเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน

คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต

ดร.บัณฑิต นิจถาวร

ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล

[email protected]