AI ดิสรัปธุรกิจพลังงานโลก ดีมานด์ไฟสีเขียวพุ่ง บางจากหนุนเทคโนโลยียั่งยืน
“บางจาก” เปิดเวที Greenovative Forum ชูสมดุล AI สร้างอนาคตยั่งยืน เพิ่มผลผลิตเกษตร-อุตสาหกรรม ชี้ AI สร้างดีมานด์ไฟฟ้าสีเขียวพุ่ง ประเทศใหญ่ต้องการใช้ ลุยศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็กรับการใช้งานมหาศาล
บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จัดงาน Greenovative Forum ครั้งที่ 14 “Crafting Tomorrow's Future with Sustainable Energy and AI” ในวาระครบรอบ 40 ปีบางจากฯ และการก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ร่วมกับสำนักข่าว The Standard ณ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เวสต์ เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2567
การสัมมนาครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากในประเทศและต่างประเทศ ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการสร้างอนาคตที่เป็นมิตรกับการจัดการด้านพลังงาน สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 600 คน
นายประสงค์ พูนธเนศ รักษาการประธานกรรมการ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวเปิดงานว่า การจัดงานครั้งนี้สะท้อนความมุ่งมั่นและการพัฒนาของกลุ่มบางจากฯ เพื่อร่วมกันรักษาสิ่งแวดดล้อมให้ดียิ่งขึ้นในยุคที่เทคโนโลยีมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
อย่าไรก็ตาม ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ได้สร้างการเรียนรู้ในชีวิตประจำวันให้กับทุกคน พร้อมกับช่วยยกระดับทางการแพทย์ให้มีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น รวมถึงช่วยให้ภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรมและทุกภาคส่วนได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจากและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษในหัวข้อ “AI, Energy and Environment” ว่า การนำประโยชน์ของ AI มาใช้ ภายใต้ความท้าทายในการรักษาความสมดุลระหว่างเทคโนโลยีล้ำสมัย พลังงาน และสิ่งแวดล้อม
“การนำ AI มาช่วยสร้างโอกาสและสร้างการเปลี่ยนแปลงอีกมากมาย ช่วยส่งเสริมความเป็นอยู่ให้กับสังคมคนไทย ช่วยบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงลดการสูญเสียด้วย” นายประสงค์ กล่าว
ทั้งนี้ การจะนำเอา AI มาใช้ในกิจการต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงผลกระทบโดยเฉพาะความยั่งยืนด้วย เนื่องจากจะต้องการใช้พลังงานที่สูงมากขึ้นจึงต้องใช้พลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น การจ้างงานอาจลดลง จึงต้องนำมาสู่การคิด วิเคราะห์เพื่อให้เกิดการสมดุล
อย่างไรก็ตาม แม้ AI จะสร้างประโยชน์เป็นอย่างมากในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและร่นระยะเวลาในการปฏิบัติงานต่าง ๆ แต่กระบวนการพัฒนาและใช้งาน AI ต้องการพลังงานมหาศาลเช่นกัน ส่งผลต่อทรัพยากรโลก เช่น น้ำและพลังงาน ทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงโรงไฟฟ้าซึ่งใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก Small Modular Reactors : SMR ซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก
ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปี หลังจากนี้ ทั่วโลกจะบริหารพลังงานอย่างไรเพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงของระบบ เช่น พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์เมื่อมีหมอกควันโซลาร์ทำงานได้แค่ 30-40% รวมถึงการคำนวนพลังงานลมก็เช่นกัน จึงต้องใช้ AI เข้าช่วย รวมถึงระบบการขนส่งที่ลดต้นทุน เพราะแหล่งผลิตกับแหล่งใช้จะคนละแหล่งกัน เหมือนน้ำมันที่ผลิตก็ไม่อยู่ในมหานคร แต่การใช้กลับเป็นในมหานครนิวยอร์กเยอะ จึงมี 2 ทางเลือกคือหาแหล่งผลิตเพิ่มเติมที่รับกับระบบสายส่ง
Generative AI ช่วยยกระดับการทำงาน
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า วิวัฒนาการณ์มนุษย์โลกได้พัฒนาการสื่อสารจากการบันทึกเพื่อเก็บข้อมูลเป็น 100 ปีที่ผ่านมา อุปกรณ์ชิ้นแรกจะเป็นกระดานชนวนและเริ่มบันทึกลงสมุุดโดยการเขียน หากวัดประสิทธิภาพการทำงานถือเป็นวิวัฒนาการต่าง ๆ ในการทำงานจนมาถึงยุคสมัครงาน 40-50 ปีที่ผ่านมา จะมีช่องให้กรอบความสามารถในการพิมพ์ดีดจนมาถึงยุคคอมพิวเตอร์ทำให้การทำงานดีขึ้นเรื่อยๆ
ขณะที่การพัฒนาจาก 15-16 ปีที่ผ่านมาและก้าวมาสู่ iPhone16 การทำงานแทนที่จะอยู่บน desktop วันนี้สามารถทำ PowerPoint บนมือถือได้และดีขึ้นจนช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่คิดว่าน่าจะเป็นการเปลี่ยนอีกครั้งของโลกคือ ยุคของ AI ทำให้มนุษย์มี Productivity มากยิ่งขึ้นช่วยย่นเวลา ได้ชิ้นงานมากขึ้นจากเวลาเท่าเดิม และช่วยเสริมความคิดสร้างสรรค์จากการใช้ Generative AI ช่วยให้การทำงานต่อวันเพิ่มมากขึ้น เพราะทำได้ทุกที่และตลอดเวลา ช่วยสรุปประเด็นได้เพียงเสี้ยววินาที
ทั้งนี้ สิ่งที่ตามมาคือการใช้พลังงานที่มากขึ้นระดับ 6-15 เท่า เช่น จากการประมวล AI และใช้พลังงานรวม ๆ กันประมาณ 300–1,000 เมกะวัตต์ โดยในอนาคตคาดการณ์ว่าจะพุ่งไปถึง 5 กิกะวัตต์ เทียบเท่ากับพลังงานที่โรงงานน้ำมันบางจากจำนวน 100 โรงงาน ซึ่งจุดเปลี่ยนสำคัญคือ โลกจะต้องหาแหล่งพลังงานอะไรมารองรับปริมาณใช้งาน AI และในตอนนี้ทั่วโลกก็ต่างกำลังหันกลับไปมองพลังงานนิวเคลียร์อีกครั้ง ซึ่งประเทศไทยก็ควรศึกษาเช่นเดียวกัน
“ถ้าทุกคนทั้งโลกราว 8,000 ล้านคน จะใช้ไฟมหาศาล และจะเอาแหล่งพลังงานมาจากไหน ทั้ง Google Microsoft และ Amazon ประกาศที่จะซื้อโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องใช้เงินมากกว่าแผนถึง 3 เท่า และใช้เวลานาน อีกทั้งเรื่องของการบริหารความปอดภัย และเรื่องใหญ่ที่สุดคือเวลาในการผลิตพลังงาน 30-40 ปี แต่รังสีที่ยังอยู่นานถึง 1 แสนปี”
โรงไฟฟ้านิวเคลียร์รับดีมานด์พลังงาน
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อท้ายที่สุดแล้วการใช้ดาต้าในปริมาณที่สูง ซึ่งทุกประเทศขณะนี้จะพบกับปัญหาเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้า แม้แต่ประเทศสหรัฐที่มีขนาดใหญ่ต่างต้องการใช้พลังงานสะอาดที่มีความเสถียรมากขึ้น แม้ที่ผ่านมาพลังงานนิวเคลียร์จะมีปัญหาแต่ก็จะนำกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้น กลุ่มบางจากฯ โดย บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPG อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจเช่นกัน
“จุดไหนมีดีมานด์การใช้พลังงานสะอาดมากๆ และเปิดกว้าง กลุ่มบางจากฯ ก็พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนทั้งในและต่างประเทศ จึงขึ้นอยู่กับโอกาส ซึ่งตอนนี้ก็ได้ศึกษาอยู่ตามแผนต่างๆ ทั้งความเป็นไปได้ที่จะร่วมทุนกับพันธมิตรและเข้าลงทุนเอง" นายชัยวัฒน์ กล่าว
ดังนั้นดีมานด์ความต้องการสำคัญ รวมถึงขณะนี้เทคโนโลยี AI เองมีการใช้งานมากขึ้น และกลุ่มนี้จะมีการใช้พลังงานสะอาดในปริมาณมาก รวมไปถึงดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีการใช้พลังงานสูงกว่าการใช้คอมพิวเตอร์ปกติหลายเท่า
ส่วนการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง และการอยู่ร่วมกันกับ AI อย่างยั่งยืนว่า การเปลี่ยนแปลงการใช้พลังงานสะอาดทั่วโลกจะต้องใช้เวลา ซึ่งนอกจากนี้การใช้พลังงานของคนทั่วไปล้วนอิงจากพฤติกรรมชีวิตประจำวัน หากลองเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้พลังงานก็น้อยลงตามด้วย นอกจากนี้ การใช้งาน AI ควรใช้งานที่พึงประสงค์เท่านั้น เพราะ AI ยังเป็นสิ่งที่ใช้พลังงานมาก
“การใช้ AI ในองค์กรบางจากมองว่า AI เป็นการก้าวกระโดดของเทคโนโลยี เรามองเป็นเครื่องมือช่วยให้การทำงานง่ายขึ้นหรือเพิ่ม Productivity ให้สามารถทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ก็ต้องใช้ทรัพยากรธรรมชาติเยอะมากกว่าหลักร้อยหลักพันเท่า ดังนั้น ต้องสร้างสมดุล เรามองว่าจำเป็นที่จะต้องใช้และใช้ให้เหมาะสม สู่เป้าหมาย Net Zero”
“บางจาก”ขับเคลื่อนสังคมยั่งยืน
สำหรับงานสัมมนา Greenovative Forum จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีอย่างต่อเนื่องโดยบางจากฯ ตั้งแต่ปี 2554 เพื่อสร้างเวทีแห่งการแลกเปลี่ยนความรู้และมุมมองใหม่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะด้านพลังงาน เทคโนโลยี นวัตกรรม และสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบางจากฯ ในการเชิญชวนให้สาธารณชนตระหนักถึงประเด็นที่ควรให้ความสำคัญและร่วมมือกันในการผลักดัน ผ่านการร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ เอกชน หรือประชาชน เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ร่วมสร้างสังคมที่สมดุลและยั่งยืน
นางสาวชญานิศ โควาวิสารัช Senior Consultant, Net Zero, ERM, United Kingdom (สหราชอาณาจักร) ได้แบ่งปันประสบการณ์จากการทำงานด้านการให้คำปรึกษาด้านความยั่งยืน ในหัวข้อ “AI and Sustainability in Practice” ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ว่า ปัจจุบัน AI มีศักยภาพอย่างยิ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของมนุษย์และสามารถช่วยแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ตั้งแต่ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงความเหลื่อมล้ำทางสังคมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
“การใช้ AI จะต้องใช้พลังงานที่เยอะขึ้นนำมาใช้ช่วยในเรื่องของการแพทย์ การเกษตร ช่วยบริหารขัดการพลังงานเพื่อความมั่นคง ช่วยในเรื่องของการกำกับดูแลที่เป็นระบบและการวางแผนกลยุทธ์อย่างเร่งด่วนจึงมีความสำคัญ เพื่อให้การพัฒนาและพิจารณาการใช้ AI ที่เหมาะสม เท่าเทียม และมีจริยธรรมอีกด้วย”
ทั้งนี้ ในเรื่องของการคาร์บอนไนเซชันจะต้องไม่ละเลย นอกจากใช้พลังงานเยอะแล้วยังต้องใช้น้ำเยอะด้วยเช่นกัน
อีกทั้ง เครื่องจักรอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ยังมาจากแร่ที่หายาก จะสร้างปัญหาในเรื่องการบริโภคที่มหาศาลตามมาด้วยคอมพิวเตอร์ที่ต้องทำงานเร็วขึ้น เหมือนการใช้มือถือที่ทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ความเสี่ยง AI ก็ทำให้คนแปลกแยกออกจากสังคม เพราะเล่นโซเชียลเยอะเกิดเฟกนิวส์ จึงต้องระมัดระวัง ต้องหาความสมดุล
เปิดมุมมอง AI ทางการแพทย์
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภามหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้ AI ช่วยการทำงานในหลากหลาย เช่น การใช้ในการพยากรณ์การทรุดตัวของกรุงเทพมหานครก่อสร้างอุโมงค์ไฟฟ้าใต้ดิน เป็นต้น แต่ในเบื้องต้นจะต้องสอน AI ซึ่งต้องป้อนข้อมูล เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ความสามารถในการคำนวณ AI ยังไม่เท่าปัจจุบัน หากเทียบการแพทย์วันนี้มาไกลมาก
อย่างไรก็ตาม การจะมาไกลมากแค่ไหน AI ก็ยังต่อสู้อยู่ใน 2 เวทีที่ท้าทายคือ 1. ต้องใช้ทรัพยากรให้น้อยที่สุด เพราะทางการแพทย์ข้อมูลที่ได้มามีข้อจำกัดทั้งในเรื่องของศีลธรรมความเป็นส่วนตัว อีกทั้งพลังงานที่ใช้ก็เยอะมาก ทำอย่างให้ประหยัดที่สุดและมีการใช้เรียนรู้ให้น้อยที่สุด 2. ต้องแม่นยำที่สุด เพราะทางการแพทย์ผิดพลาดแม้แต่เสี้ยววินาทีเดียวนั่นหมายถึงชีวิต
“AI จะฉลาดได้ต้องมีคนอยู่ข้างๆ ที่ฉลาดมากที่ไม่ใช่คนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์แต่คนในสาขาวิชาชีพนั้น แต่ที่เสี่ยงที่สุดโดยเฉพาะการแพทย์ที่ยังเป็นข้อถกเถียงกันคือ ยังเร็วเกินไปที่จะมาใช้จริงเพราะจะต้องมีหมอและใช้ควบคู่กัน และหากเจอกรณีใหญ่ๆ หากให้ AI ตัดสินใจญาติผู้ป่วยจะยอมหรือไม่ อีกทั้งหากมีความซับซ้อนมากๆ จะปล่อยให้ AI ดำแทนหมอคงไม่ได้ ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ที่สำคัญมากที่สุด คือเรายังไว้ใจ AI ในวันนี้ไม่ได้ ซึ่งอนาคตตามที่มองไว้อาจจะเป็นไปได้แต่คงไม่ใช่ในวันนี้” ศ.ดร. สุชัชวีร์ กล่าว
นอกจากนี้ ความสามารถในการพัฒนาสมองของมนุษย์คือ การแสวงหาคำตอบไปเรื่อยๆ ดังนั้น เด็กจะพัฒนาได้ในปัจจุบันอย่าเพิ่งใช้ AI ควรหาหนังสืออ่านก่อนแล้วค่อยพัฒนา แต่ในยุคกลางคน หรือผ่านช่วงการเรียนรู้ก็สามารถใช้ AI ได้ในเฉพาะเรื่อง และทุกครั้งที่ใช้จะต้องใช้ในความพึงระวังใช้ในระบบศึกษาเบื้องลึกเพื่อต่อยอด