โจทย์หิน ‘การคลัง’ ปรับโครงสร้างภาษีแก้หนี้ล้น
ช่วงนี้คงไม่มีประเด็นใดร้อนแรงมากไปกว่าเรื่อง “ภาษี” แล้ว โดยเฉพาะหลังจาก “พิชัย ชุณหวชิร” รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ออกมาเผยถึง “ความฝัน” ในการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางการคลังและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในงาน “Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business” ภายใต้หัวข้อ “Financial Policies for Sustainable Economy” ซึ่งจัดโดยกรุงเทพธุรกิจเมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ยังมีประเด็นให้ถกเถียงกันถึงทุกวันนี้
โดย “พิชัย” ย้ำว่าไทยควรต้อง “ลดภาษีนิติบุคคล” ลงเหลือ 15% เท่ากับประเทศอื่นๆ จากปัจจุบันที่เราเก็บในระดับ 20% เพื่อดึงการลงทุนจากทั่วโลกมาประเทศไทย ขณะเดียวกันก็ต้อง “ลดภาษีบุคคลธรรมดา” ให้เหลือ 15% จากปัจจุบันที่จัดเก็บสูงสุด 35% เพื่อจะแย่งตัวคนเก่งๆ เข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วย ...แต่ประเด็นที่คนส่วนใหญ่โฟกัสอยู่ตรงที่ ท่านรองนายกฯ บอกว่า รัฐบาลอาจต้อง “ขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม(VAT)” เป็น 15% จากปัจจุบันเก็บอยู่ที่ 7% เพราะทั่วโลกในเวลานี้เขาเรียกเก็บกันในอัตรา 15-25% เท่ากับว่าภาษีบริโภคของไทยต่ำเกินไป
จริงๆ แล้ว “พิชัย” เข้าใจเรื่องนี้ดีว่า การไปพูดถึงการ “เพิ่มภาษี VAT” จะสร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนอย่างมาก เพราะท่านบอกบนเวทีของกรุงเทพธุรกิจว่า “ผมคิดทุกคืนว่าจะทำอย่างไรให้คนเข้าใจเรื่องการขึ้น VAT เพราะถ้าคนไม่เข้าใจ ผมจะอยู่รอดได้ถึงวันไหนก็ไม่รู้ เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน” ...คำถาม คือ เมื่อท่านรู้อยู่แล้วว่า การไปแตะภาษี VAT ย่อมสร้างผลกระทบเชิงลบกลับมาที่รัฐบาล แต่ทำไมถึงต้องพูด คำตอบชัดๆ คือ ภาคการคลังของไทยกำลัง “อ่อนแอ” ลงเรื่อยๆ หากไม่ทำอะไรเลยหนี้สาธารณะของไทยคงทะลุเพดานหนี้ที่ 70% ของจีดีพีอย่างแน่นอน
กลับมาดูฐานะการคลังของไทยกันหน่อย ต้องยอมรับว่าเศรษฐกิจไทยเติบโตช้ามาก ขณะที่ภาระการคลังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนผ่านการขาดดุลงบประมาณในปีงบ 2568 ที่สูงถึง 4.45% เป็นตัวเลขที่สูงสุดในประวัติการณ์ ที่สำคัญการขาดดุลงบประมาณของไทยในอดีตมักจะน้อยกว่าการขยายตัวของจีดีพีประเทศ แต่ระยะหลังมานี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวน้อยกว่ายอดขาดดุลงบประมาณอย่างมาก หากเป็นเช่นนี้ต่อเนื่องว่ากันว่า ไม่เกิน “ปีครึ่ง” หนี้สาธารณะของไทยทะลุระดับ 70% ต่อจีดีพีอย่างแน่นอน
ดังนั้นการขึ้น VAT จึงเป็นวิธีที่ง่ายและดูตรงไปตรงมาที่สุด เพราะสามารถเพิ่มการจัดเก็บรายได้ให้กับรัฐบาลได้อย่างมาก ประเมินกันว่าการขึ้น VAT ทุกๆ 1% จะช่วยให้รัฐบาลจัดเก็บรายได้เพิ่มเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี เพียงแต่การปรับขึ้นจาก 7% เป็น 15% ดูจะโหดร้ายเกินไป และที่สำคัญไม่ควรปรับขึ้นกับสินค้าทุกชนิด สินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพโดยเฉพาะกับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยควรยกเว้นการขยับขึ้น เราจึงมองว่าการขึ้น VAT มีความจำเป็นต่อการรักษาสถานะการคลังที่เข้มแข็ง เพียงแต่ต้องดูอัตราที่เหมาะสมและไม่ควรมีผลกับสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ!