‘รัฐบาล’เตรียมรับมือความท้าทายโลกปี 2025 

‘รัฐบาล’เตรียมรับมือความท้าทายโลกปี 2025 

ปี 2025 เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญความท้าทายที่ซับซ้อนจากพลวัตทางการเมือง และเศรษฐกิจโลก การกลับสู่ทำเนียบขาวของ “โดนัลด์ ทรัมป์” อาจสร้างความผันผวนทางเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

โดยเฉพาะในมิติสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย ในฐานะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก การปรับตัวให้รวดเร็วและมียุทธศาสตร์ชัดเจน จะเป็นกุญแจสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ

ในอีกมุมที่ไม่ควรมองข้าม คือ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งมีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงได้ทุกเมื่อจะกระทบอย่างมากต่อราคาพลังงาน และห่วงโซ่อุปทานโลก ประเทศไทยจึงต้องมียุทธศาสตร์การบริหารความเสี่ยงที่รอบคอบ การกระจายแหล่งพลังงานและการพัฒนาพลังงานทดแทนภายในประเทศจะเป็นทางออกสำคัญ รวมถึงการสร้างความหลากหลายทางเศรษฐกิจเพื่อลดการพึ่งพาจากปัจจัยภายนอก

อีกเรื่องที่สำคัญ และเป็นความท้าทายของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ที่มักหยิบยกเรื่องของเทคโนโลยี นวัตกรรม AI มาเป็นคีย์แมสเสจสำคัญ เพื่อสร้างภาพให้รัฐบาลดู มีความคิดที่ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงโลก การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดดปีหน้า จะเป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยงของไทย รัฐบาลอาจต้องจริงจังในการพัฒนาทักษะแรงงาน ส่งเสริมนวัตกรรม สร้างระบบนิเวศทางเทคโนโลยีที่เอื้อต่อการแข่งขัน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอนาคตเช่น อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ การแพทย์สมัยใหม่ และเทคโนโลยีสีเขียว

รัฐบาลต้องโชว์ให้เห็นเป็นรูปธรรมว่า อยากเห็นประเทศไทยเป็นฮับ AI ฮับเซมิคอนดักเตอร์ จริงๆ แบบจับต้องได้ ไม่ได้ทำเพียงแค่เทียบเชิญบิ๊กเทคระดับโลกมาแวะกินอาหารไทย แล้วก็กลับไปโดยไม่มีโครงการอะไรร่วมกับเราแบบเป็นชิ้นเป็นอัน มีอะไรบ้างที่ทำให้คนไทยรู้สึกว่า ประเทศไทยได้อะไรจากการมาเยือนไทยของบิ๊กเทคระดับโลกจริงๆ อย่าให้เพียงแค่แวะมาเพื่อ “ขายของ” แล้วก็กลับไป หากต้องมาร่วมดันศักยภาพของไทย เราสามารถดึงโนว์ฮาวความรู้ต่างๆ มาจาก บิ๊กเทคเหล่านี้ เพื่อสร้างให้ธุรกิจไทยแข่งกับโลกได้อย่างไม่อายใครด้วย

ขณะที่ ในมุมเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวน ประเทศไทยต้องมียุทธศาสตร์การเงินและการคลังที่ยืดหยุ่น สร้างเครือข่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ และการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศจะเป็นกลไกสำคัญในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 

เช่นเดียวกับ การเมืองภายในประเทศและความขัดแย้งทางการเมืองยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างความเป็นเอกภาพ ลดความขัดแย้ง และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ การปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และรับมือความท้าทายของโลกได้อย่างมั่นคงแข็งแกร่ง