เอกนัฏ เห็นด้วย พ.ร.ก.2 ฉบับ เก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ ดึงเงินพัฒนาอุตฯในไทย
“เอกนัฏ” ยันเห็นด้วย พ.ร.ก.2 ฉบับ เก็บภาษีบริษัทข้ามชาติ ควบคู่เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตของประเทศ เผยแสดงความเห็นใน ครม.สนับสนุน แต่ขอให้ประโยชน์จากการลงทุนของผู้ประกอบการและแรงงานไทย
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงกรณี พ.ร.ก. 2 ฉบับเรื่องการส่งเสริมการลงทุนที่นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในไทยที่ผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า ในการพิจารณาเนื่องนี้ตนเองอยู่ในที่ประชุม ครม.แล้วก็ได้กล่าวสนับสนุนร่าง พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับซึ่งเรื่องนี้เป็นไปตามกฎเกณฑ์ขององค์กรเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่รอช้าไม่ได้ เพราะถ้ารอระยะเวลาแล้วเลยช่วงเวลาในการกำหนดอัตราภาษีไปเราต้องรออีก 1 ปี
เรื่องนี้ถ้าไม่วางเกณฑ์ให้ถูกต้องประเทศไทยก็จะสูญเสียการลงทุนในประเทศซึ่งการเก็บภาษีจะเกิดขึ้นในปี 2568 ในหลักการคือถ้านักลงทุนจะต้องเสียภาษีในประเทศที่มาลงทุน หากเราไม่เก็บภาษีนักลงทุนก็ไปเสียภาษีที่ต้นทางดังนั้นเราก็ควรเก็บภาษีไว้เอง
ซึ่งสิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือเมื่อมีการเก็บภาษีแล้วเงินที่เก็บได้จะนำมาใส่กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.ก.ฉบับที่ 2 ซึ่งสิ่งสำคัญคือเงินในส่วนนี้จะนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร เช่นการนำไปต่อรองกับบริษัทที่เข้ามาลงทุนในไทยเป็นเรื่องของการให้สิทธิประโยชน์ เมื่อให้สิทธิประโยชน์แล้วก็ต้องดูด้วยว่าบริษัทเหล่านี้จะมีการจ้างงานคนไทย ช่วยให้เกิดการจ้างงานที่มีคุญณภาพได้อย่างไรบ้าง จะมีการพัฒนาทักษะแรงงานไทย และการส่งต่อเทคโนโลยีอย่างไรบ้าง
“ผมได้บอกในที่ประชุม ครม.ว่าผลสนับสนุน โดยผมในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ข้อว่าในเรื่องของการใช้เงินในกองทุนฯนี้ซึ่งเป็นเสมือนอาวุธใหม่ที่เราใช้ประโยชน์ได้นอกจากเรื่องของมาตรการภาษี เราจะแบ่งเงินเหล่านี้ไปดึงคนมาลงทุน แต่เมื่อมาลงทุนแล้วคนไทย ธุรกิจไทยต้องได้ประโยชน์ ซึ่งผมได้คอมเมนต์เป็นข้อสังเกตไว้ในที่ประชุม ผมเองจึงไม่คิดว่ามีปัญหาอะไรในการทำงานร่วมกันกับส่วนอื่นๆ และพรุ่งนี้ก็มีการประชุม ครม.ปกติ”
ทั้งนี้ตนเองไม่ได้มีปัญหาในการทำงานกับรัฐมนตรีจากพรรคอื่นๆเพราะว่าในการทำงานต้องทำงานร่วมกับกระทรวงอื่นๆเพื่อประโยชน์ของประเทศในภาพรวมโดยเมื่อเร็วๆนี้ ตนได้ไปคุยกับค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น และได้รับคำยืนยันว่าจะรักษาการผลิตในประเทศไทยโดยจะมีการลงทุนเพิ่มเพื่อสร้างฐานการผลิตและอัพเกรดฐานการผลิตรองรับอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย รวมทั้งการลงทุนชิ้นส่วนเกี่ยวกับรถยนต์ไฟฟ้าและซัพพลายเชน
ตนได้มีการนำเรื่องนี้ไปคุยกับนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกฯและรมว.คลังด้วยตัวเองเพื่อหาสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมในการดึงอุตสาหกรรม โดยมีการหารือถึงเงื่อนไขที่เหมาะสมในการกำหนดสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับในการซื้อชิ้นส่วนและรักษาฐานการผลิตไว้ในประเทศไทย เพื่อรักษาการจ้างงานมีการส่งต่อเทคโนโลยีด้วยถือว่าเป็นการทำงานร่วมกับทุกกระทรวง ไม่ได้มีปัญหาอะไรกัน