เป้าหมายท้าทายของ รมว.คลังเศรษฐกิจปี 68 โตเกิน 3%
รัฐบาลโดยนายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มองเศรษฐกิจปี 2568 มีทิศทางขยายตัวดีขึ้น
โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัว 3.0-3.5% เป็นการมองบวกเมื่อเทียบกับหลายฝ่ายก่อนหน้านี้ที่มองว่าขยายตัวต่ำกว่า 3% ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังยังมองว่าการส่งออกที่ยังขยายตัวและการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยสนับสนุนสำคัญ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่จะมีต่างชาติเข้ามาถึง 39.9 ล้านคน สูงกว่าปี 2567 ที่มี 35-36 ล้านคน
ในขณะที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ประมาณการเศรษฐกิจปี 2568 จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.3 - 3.3% โดยมีค่ากลางที่ 2.8% และในปี 2568 จะมีแรงสนับสนุนจากการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ซึ่งประเมินว่าจะมีการลงทุนมากในบางอุตสาหกรรม เช่น เซมิคอนดักเตอร์ โดยการขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนควรให้ความสำคัญ เพื่อให้เป็นส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว รวมทั้งเป็นการเร่งรัดการลงทุนในภาคการก่อสร้าง
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามองอยู่ที่การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีการเตือนให้เฝ้าระวังความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นทั้งต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย โดยมีความเป็นเร่งด่วนที่จะต้องการขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับมาตรการการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือผลกระทบจากการยกระดับมาตรการกีดกันการค้าที่รุนแรงขึ้น จากการขึ้นภาษีนำเข้าที่อาจกระทบมาถึงการส่งออกสินค้าไทย
หากดูความเห็นของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่เห็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทยเพิ่มสูงขึ้น โดยความไม่แน่นอนจะชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลัง 2568 ภายใต้การคาดว่าเศรษฐกิจยังสามารถเติบโตได้ ซึ่งหลายส่วนฟื้นตัวได้ดี เช่น ภาคธุรกิจท่องเที่ยว ภาคก่อสร้างที่ฟื้นกลับมาได้จากงบประมาณของภาครัฐที่ทยอยเบิกจ่าย ขณะที่ต้องจับตาใกล้ชิดในอุตสาหกรรมรถยนต์ รวมถึงการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้น เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก
การที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมองว่าเศรษฐกิจปี 2568 จะขยายตัวมากกว่า 3% จึงเป็นประเด็นที่ท้าทายถึงแม้ว่าจะเป็นระดับที่ต่ำกว่าที่รัฐบาลเพื่อไทยในสมัยนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี เคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าในช่วง 4 ปี ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้เฉลี่ยปีละ 5% จึงจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องมีแผนงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ชัดเจน และสอดคล้องกับงบประมาณที่มี เพื่อให้ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด