โจทย์ใหญ่เศรษฐกิจไทยปี 68 กระตุ้นอย่างไร? ไม่ให้เสีย ‘วินัยการคลัง’
ปี 2567 ที่กำลังจะหมดลงในอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าถือว่าเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้นจากเดิม จากในปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้เพียง 1.9%
มาในปีนี้เศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวได้ประมาณ 2.6 – 2.7% โดยเครื่องยนต์สำคัญยังคงเป็นการส่งออกและการท่องเที่ยวที่เติบโตได้ดีกว่าปีที่ผ่านมา
ในปี 2568 รัฐบาลตั้งเป้าให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวมากขึ้น แม้ว่าตอนนี้จะไม่มีใครในรัฐบาลพูดถึงเป้าหมายการเติบโตของจีดีพีที่ระดับ 5% แต่ก็มีตัวเลข 3-3.5% จากรองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พิชัย ชุณหวชิร ที่บอกว่าอยากเห็นเศรษฐกิจไทยปี 2568 เติบโตให้ถึง 3.5% ส่วนเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่าเศรษฐกิจไทยใกล้จะเติบโตใกล้เคียงกับระดับศักยภาพที่ขยายตัวได้ประมาณ 3%
แม้ว่าเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นเป้าหมายที่สำคัญของรัฐบาลซึ่งแน่นอนคงหนีไม่พ้นที่จะต้องมีมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาเป็นระยะๆ แต่ความยากของเศรษฐกิจไทยก็คือ “ข้อจำกัดทางการคลัง” ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้รัฐบาลไม่สามารถจะออกมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยขนาดของโครงการหรือเม็ดเงินที่จะเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากอย่างที่คาดหวังไว้
ในปี 2568 การจัดทำงบประมาณของไทยที่มีการดันตัวเลขการขาดดุลงบประมาณขึ้นไปถึง 8.67 แสนล้านบาท หรือประมาณ 4.5% ของจีดีพี (สูงกว่าที่ IMF ระบุว่าไม่ควรเกิน 3%) เพื่อรองรับโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ “ดิจิทัลวอลเล็ต” การปรับฐานเงินเดือนข้าราชการ และโครงการอื่นๆของรัฐบาลที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ รวมกับการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 ที่ค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ฐานะทางการคลังของไทยไม่ได้อยู่ในจุดที่จะขาดดุลงบประมาณในระดับสูงเหมือนที่ผ่านมาได้อีกแล้ว
ในวันนี้หนี้สาธารณะไทยอยู่ที่ใกล้เคียงกับระดับ 12 ล้านล้านบาท คิดเป็นประมาณ 66% ของจีดีพี ถ้าบวกการขาดดุลปี 2568 ไปด้วย เท่ากับ “พื้นที่การคลัง” (Fascial Space) ของไทยเหลือเพียง 3-4% เท่านั้น ด้วยพื้นที่การคลังที่เหลืออยู่เพียงเท่านี้หากประเทศไทยจะดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณในระดับ 7 – 8 แสนล้านอีกก็มีความเสี่ยงที่หนี้สาธารณะจะทะลุเพดาน 70% โดยกรอบการคลังระยะปานกลาง (2569 - 2572) ระบุว่า ณ สิ้นแผนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีจะอยู่ที่ 69.3% ต่อจีดีพี ใกล้จะชนเพดาน 70% ไม่รวมถึงความเสี่ยงจากวิกฤติที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากนี้ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ถูกจับตามองเช่นกัน เนื่องจากถูกใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดต้นทุนทางการเงินในการออกพันธบัตรรัฐบาล โดยเกณฑ์ภาระดอกเบี้ยต่อรายได้ของรัฐปัจจุบันอยู่ที่ 9% ซึ่งถือว่าสูงมาก และหากเพิ่มขึ้นไปถึงระดับที่มากกว่า 12% พันธบัตรรัฐบาลไทยอาจจะถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือลงสู่ระดับไม่น่าลงทุน หรือ Junk Bondได้
การคลังของไทยในวันนี้รวมถึงในระยะปานกลาง (2579 - 2572) จึงอยู่ในจุดสุ่มเสี่ยงที่ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง ภาครัฐต้องใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างพุ่งเป้า เพื่อให้จีดีพีขยายตัวต่อเนื่อง เพิ่มพื้นที่การคลังให้เพิ่มขึ้นเพียงพอที่จะรองรับ “วิกฤติ” ครั้งต่อไปที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต