'ส.อ.ท.' เปิด 4 ประเด็นร้อน 'ทรัมป์ 2.0' ป่วนการค้าโลก
"ส.อ.ท." จับตานโยบาย "ทรัมป์ 2.0" ป่วนสงครามการค้าโลก สร้างความเสี่ยงธุรกิจไทยใน 4 ประเด็นความเสี่ยง แนะรัฐเร่งสกัดสินค้าจีนที่จะยิ่งทะลักเข้าอาเซียน และไทย หลังมาตรการสหรัฐเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม
คาดการณ์ของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 ว่าจะขยายตัวในช่วง 2.3-3.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ การขยายตัวของอุปสงค์ภาคเอกชนในประเทศ และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว
สำหรับเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้องติดตามความชัดเจนของนโยบายผู้นำคนใหม่ของสหรัฐ หลังจาก "โดนัลด์ ทรัมป์" ชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐสมัยที่ 2 โดยจะเข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.2568
ทั้งนี้ สศช.ได้มีการประเมินถึงความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐภายใต้ประธานาธิบดีทรัมป์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกระดับความเข้มข้นของมาตรการกีดกันทางการค้า และการลงทุนทั้งต่อจีน และประเทศคู่ค้าอื่นๆ
รวมถึงมาตรการตอบโต้จากประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะจีนที่จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตโลก และทิศทางการลงทุน นอกจากนี้ ยังมีแนวทางในการด่าเนินนโยบายเศรษฐกิจอื่นที่สำคัญ ซึ่งว่าที่ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้เคยประกาศไว้ในช่วงหาเสียง อาทิ มาตรการทางด้านภาษี และมาตรการด้านแรงงาน เป็นต้น
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การเข้าสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐอีกครั้งต้องจับตาดูสถานการณ์สงครามการค้าปี 2568 โดยเฉพาะนโยบายการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากประเทศคู่ค้าอย่างน้อย 10-20% ส่วนจีน 60-100% สิ่งที่ต้องจับตาแบ่งเป็น
1. ส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบหรือไม่ สังเกตนโยบายสมัยทรัมป์ 1 ขณะนั้นไทยเป็นประเทศที่ได้ดุลสหรัฐอันดับที่ 14 ปีละกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ จีนเป็นอันดับ 1 ถูกจับตาพิเศษ ไทยอาจโดนจับตาเรื่องการบิดเบือนค่าเงินหรือไม่
ทั้งนี้ การขึ้นภาษีจีนทำให้สหรัฐต้องนำเข้าจากที่อื่นแทน ซึ่งไทยได้อานิสงส์ ตั้งแต่ช่วงนั้นและเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุดปี 2566 ไทยได้ดุลการค้าเพิ่มขึ้น และถูกเลื่อนมาอยู่ที่อันดับ 12 ขณะที่ยอดส่งออกไปสหรัฐ 10 เดือนของปี 2567 ไทยปรับขึ้นมาเป็นอันดับ 9 ดังนั้น อาจอยู่ในเป้าประเทศที่ไต่อันดับที่ได้ดุลการค้าสหรัฐเพิ่มขึ้น เสี่ยงถูกจับตามอง และทำให้เงินไทยแข็งค่าขึ้น จึงมีทั้งโอกาส และความเสี่ยง
2.การลงทุน เดิมสหรัฐต้องการให้พันธมิตรย้ายฐานออกจากจีน เพื่อลดความเข้มแข็งของจีน เพื่อทำลายซัพพลายเชนให้อ่อนแอลง จึงมีมาตรการดึงดูดให้นักลงทุนย้ายกลับมาสหรัฐ โดยเฉพาะสินค้าไฮเทค
“นโยบายทรัมป์สนับสนุนการลงทุนในประเทศมากขึ้น โดยลดภาษีนิติบุคคลจาก 21% เหลือ 15% เป็นแรงจูงใจให้คนย้ายฐานกลับสหรัฐ และขึ้นภาษีประเทศใกล้เคียงโดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เพราะจีนก็ไปตั้งโรงงานด้วย”
ดังนั้น การลงทุนยังมีความผันผวน ต้องจับตาดูว่า อุตสาหกรรมดาต้าเซนเตอร์ สมาร์ตอิเล็กทรอนิกส์ คลาวด์เซอร์วิส ที่กระจายตัวลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทย ที่ได้ประกาศแผนลงทุนแล้ว เมื่อถึงเวลาทรัมป์จะลอบบี้ และดึงกลับประเทศไปหรือไม่ เพราะยังไม่ได้ลงทุนจริง เป็นเพียงประกาศแผนและขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานส่งเสริมการลงทุน (BOI)
นอกจากนี้ ทรัมป์ยังไม่สนใจเจรจาพหุภาคี ซึ่งไบเดนดำเนินการกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ที่เป็นเครื่องมือสำคัญของการรวมตัวทางเศรษฐกิจเพื่อต้านอิทธิพลของจีน ปัจจุบันมี 14 ประเทศ สมัครเป็นสมาชิกรวมถึงไทยมีขนาดเศรษฐกิจเป็นการค้าของโลกประมาณ 8% และมี GDP ราว 40% ของมูลค่าการค้าของโลก
ขณะเดียวกันจีน และพันธมิตรได้ตั้งกลุ่ม BRICS ขึ้น ประกอบด้วย 10 ประเทศปัจจุบัน ซึ่งไทยเป็นหุ้นส่วนของกลุ่ม BRICS ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2567
ดังนั้น เมื่อทรัมป์มา ทำให้ไทยจะโดนขึ้นภาษีเป็นการลงโทษด้วยเช่นกัน เพราะกลุ่มนี้จะตั้งสกุลเงินเพื่อลดเงินดอลลาร์ในการค้าขาย โดยทรัมป์รับไม่ได้ และไม่นิยมการใช้พหุภาคีในการเจรจาการค้าจะเป็นลักษณะทวิภาคี คือ เจรจาประเทศต่อประเทศมีการต่อรอง และผลประโยชน์ระหว่างกัน
3.อุตสาหกรรมสีเขียว ทรัมป์ไม่สนใจอุตสาหกรรมและสิ่งแวดล้อม และประกาศออกจากการเป็นสมาชิก Paris Agreement 2015 หรือ สนธิสัญญาเรื่องลดปัญหาภูมิอากาศหรือโลกร้อน ทั้งที่สหรัฐเป็นประเทศใหญ่ทรงอิทธิพล และเป็นผู้ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มากสุด
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องจับตาคือ การที่ทรัมป์มีผู้สนับสนุน และเป็นที่ปรึกษาใหญ่คือ อีลอน มัสก์ เจ้าพ่อแห่งพลังงานสะอาด ให้ความสำคัญเรื่องรักษ์โลก และทำธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ดังนั้น ถือเป็นความย้อนแย้งที่ต้องจับตา
"ตอนที่ คามาลา แฮร์ริส หาเสียงบอกว่าจะลงทุนงบประมาณขนาดใหญ่เพื่อเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมสะอาดทั้งประเทศ ส่วนทรัมป์จะสนับสนุนพลังงานฟอสซิลโดยขุดน้ำมัน และก๊าซขึ้นมาสำรองซึ่งสกัดใต้ชั้นหินนี้จะสร้างมลพิษมาก"
4.เทคโนโลยี ทรัมป์มีความเข้มงวดถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่ให้นักลงทุนจีนมาลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน เกี่ยวกับสาธารณูปโภค หรือแม้กระทั่งท่าเรือ และห้ามหลายธุรกิจเข้ามายุ่งเพื่อความมั่นคงเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องรับมือมากสุดคือ ตลอดปี 2567 ไทยได้รับผลกระทบนอกจากภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อไม่ดี สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยกู้ สิ่งสำคัญคือ เอสเอ็มอี ได้รับผลกระทบจากสินค้าจีนที่ทะลักเข้ามา
ดังนั้น จึงคาดว่าปี 2568 จากมาตรการเข้มข้นของทรัมป์ จะส่งผลทางอ้อมกระทบกับไทยและอาเซียนเพิ่มขึ้น เพราะสินค้าจีนเมื่อถูกต้องตั้งกำแพงภาษีที่สูงมากเข้าสหรัฐไม่ได้ ยิ่งไหลกลับเข้ามาในภูมิภาคนี้ โดยปี 2566-2567 ต้านทานไม่ได้ และสินค้าเข้ามาทุกทางส่งผลกระทบต่อ 25 อุตสาหกรรม ดังนั้น ต้องเตรียมพร้อมรับมือสินค้าที่จะไหลเข้าเพิ่มขึ้น
"เป็นความกังวลและวิตกมาก อยากฝากรัฐบาลแม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แก้หนี้ครัวเรือนแล้วจะต้องทำคู่ขนานเพื่อป้องกันไม่ให้สินค้าเข้ามา ทำให้ SME และโรงงานต่างๆ พากันปิดกิจการ และเลิกจ้าง เหลือเพียงอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นต่างชาติมาลงทุน ซึ่งเราไม่ได้รังเกียจแต่ต้องรักษาอุตสาหกรรมของไทยคู่ขนานกับการดึงดูดเม็ดเงินลงทุน"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์