'ส.อ.ท.' ชี้โมเดลจัดเก็บภาษี รัฐบาลลุยแก้นโยบายขาดดุลการเงิน
“ส.อ.ท.” ชี้แนวคิดเก็บภาษีต่างชาติ 15% จูงใจต่างชาติ เหมือนมาตรการ BOI ที่ยกเว้นภาษีตามกรอบเป้าหมาย ควรดูเงื่อนไขของการลงทุน ส่วนภาษีสินค้าอุปโภค บริโภค แก้การเงินการคลัง กฎหมายไทยเก็บ 10% แต่ไม่เคยเก็บถึง เผยหากเก็บเพิ่ม 1% ช่วยหาเงินคลังได้กว่า 1 แสนล้านบาท
จากรณีที่นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุถึงแนวทางการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาล โดยหนึ่งในมาตรการที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ การปรับเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จากอัตราเดิม 7% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในหลายประเทศทั่วโลก ที่จัดเก็บ VAT ในช่วง 15-25% โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ
1. ภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งที่ผ่านมามีการพิจารณา Global Minimum Tax (GMT) ที่ทำให้มีการปรับภาษีเงินได้นิติบุคคลของแต่ละประเทศ โดยไทยจะศึกษาการจัดเก็บจาก 20% เป็น 15%
2. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งจะมีการศึกษาเพื่อจูงใจการทำงานในประเทศไทย อาจมีการพิจารณาจาก 35% เหลือ 15%
3. ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หรือภาษีบริโภคน้อย โดยทั่วโลกมีการเก็บระหว่าง 15-25% ในขณะที่ไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% จากอัตราที่กำหนดไว้ 10% ส่วนสิงคโปร์จัดเก็บที่ 9% และประเทศในยุโรปมีการจัดเก็บที่ 20%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ถึงกรณีดังกล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงการคลังมีแนวคิดในการเก็บภาษีในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะภาษีนิติบุคลต่างชาติที่วางไว้ 15% ส่วนตัวมองว่าตรงกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของ BOI
ทั้งนี้ เพื่อทำให้ประเทศไทยเป็น รีเจอร์นอลเฮดควอเตอร์ ซึ่งตอนนี้นักท่องเที่ยวอยากมาอยู่จำนวนมาก ดังนั้น แนวคิดดึงบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีสาขาเป็นภูมิภาค อยู่ในสิงคโปร์จึงน่าสนใจ เพราะตอนนี้ไทยได้ตัวเลขมาจากภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก
นอกจากนี้ เมื่อนักลงทุนเหล่านี้ย้ายเข้ามาจะเกิดการจ้างงาน และมีการลงทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากสิงคโปร์ขณะนี้ค่าครองชีพแพงกว่าไทยหลายเท่าทั้งที่ดิน ค่าเช่าสำนักงาน รวมถึงค่าแรง ซึ่งรัฐบาลสิงคโปร์มีอินฟราซัคเจอร์ที่ครบครัน รวมถึงศูนย์กลางการเงินแล้ว สิงคโปร์ยังเป็นศูนย์กลางของบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่ประจำภูมิภาคมากที่สุด รวมถึงได้สิทธิประโยชน์มากกว่าที่อื่น เช่น ภาษีบุคคลธรรม 17% ซึ่งถูกมากกว่าประเทศอื่นๆ
ส่วนกรณีที่นิติบุคคลไทยยังจัดเก็บที่ 20% นั้น หากจะดูลึกลงไป การจัดเก็บก็สามารถเก็บเป็น 2 อัตราได้ อยู่ที่นโยบายรัฐบาล เหมือนการสนับสนุนของ BOI หรือมาตรการด้าน FDI หรือการลงทุนในพื้นที่ EEC เป็นต้น หรือแม้แต่มาตรการสนับสนุนการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่มีมาตรการยกเว้นภาษี 5-8 ปี หรือ 13 ปี เป็นต้น จุดนี้จึงเป็นนโยบายดึงดูดการลงทุนเช่นเดียวกัน แต่ก็จะต้องมีเงื่อนไขประกอบด้วย
“สิงคโปร์เจริญและได้เปรียบการเก็บที่ 17% ถือว่าต่ำกว่าประเทศอื่น ไทยอาจจะดึข้อได้เปรียบด้านเมืองท่องเที่ยว ค่าเช่า ค่าครองชีพ แรงงานที่ล้วนถูกกว่ามาดึงดูด เพราะส่วนใหญ่แล้วนักลงทุนกลุ่มนี้ที่นั่งทำงานประจำสาขาที่สิงคโปร์ส่วนมากจะเดินทางมาท่องเที่ยวพักผ่อนในประเทศไทยในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์แล้วต้องกลับไปทำงานที่สิงคโปร์ จึงควรดึงมาประจำที่ประเทศไทยเลย และประเทศไทยจะได้ผลพลอยได้ตามมาอีกจำนวนมาก”
ทั้งนี้ การเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ของประเทศไทยตามกฏหมายอยู่ที่ 10% เป็นมาตลอด 10 ปีแล้ว แต่ไม่มีใครสามารถเก็บได้จริง เมื่อจะเก็บหลายคนบอกว่าจะทำให้สินค้าราคาพุ่ง ดันเงินเฟื้อเพิ่ม ประชาชนแบกภาระไม่ไหว จึงเป็นการเก็บชั่วคราวทุก ๆ ปี ราว 7% ก่อน และมารีวิวปีต่อปี ซึ่งตอนนี้ก็ต่ออัตราการเก็บมาตลอด
นายเกรียงไกร กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศไทยพบปัญหาหลักคือ 1. หนี้สาธารณะ ที่บวมมากจากกรอบเพดานที่ 60% และขยายมาที่ 70% ซึ่งขณะนี้อยู่ระดับ 68% ส่วนที่ 2. หนี้ภาคครัวเรือน โดยมีอัตราถึง 90% ของ GDP ดังนั้นทั้ง 2 เรื่องที่รัฐบาลต้องแก้ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ภาครัฐเก็บภาษีไม่ได้ตามเป้า โดยรายรับของภาครัฐคือการเก็บภาษีต่าง ๆ ต่ำกว่าค่าใช้จ่ายภาครัฐ เพราะหนี้สาธารณะสูงมาก
ดังนั้น รัฐบาลจึงต้องทำนโยบายขาดดุลมาตลอดที่ 3-5 แสนล้านบาท และยังมีนโยบายเกี่ยวกับประชานิยมต่าง ๆ ออกมาอีกจำนวนมากซึ่งต้องใช้เงินทั้งสิ้น เหล่านี้ยิ่งส่งผลให้สถานทางการเงินการคลังของไทยไม่ดีขึ้นไปอีก และหากทำแบบนี้บ่อย ๆ ถือเป็นความเสี่ยงที่ต่างชาติจะปรับลดอันดับเรดติ้งประเทศไทย จะเป็นจุดเสียในระยะยาวที่น่ากลัว
"ตอนนี้กระทรวงการคลังมองว่าสาเหตุเพราะเศรษฐกิจไม่ดี ร้านค้าปิดกิจการ ค่าไฟสูงขึ้น หนี้ทั้ง 2 ส่วนบวมหมด GDP ไม่โต เพราะเป็นหนี้ต่อ GDP ดังนั้น จึงต้องเก็บรายได้ให้เพิ่มขึ้น และดูว่าตรงไหนจะสามารถเก็บได้บ้าง สิ่งที่ชัดเจนคือภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีกรอบกฎหมาย 10% ซึ่งมีการสำรวจว่าหากเก็บเพิ่มอีก 1% จะได้เงินเข้าคลังเพิ่มกว่า 1 แสนล้านบาท ถ้าเก็บครบ 3% ก็จะได้เงินอีกราว 4 แสนล้านบาท ถือว่าเพียงพอไม่ต้องทำงบขาดดุลได้
อีกทั้ง ยังเป็นภาษีการบริโภคที่จ่ายตามการบริโภค และเมื่อศึกษาโมเดลต่างประเทศ สินค้าที่เป็นอุปโภค-บริโภค ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันเพื่อประชาชนส่วนใหญ่ต้องกินต้องใช้ เช่น หมวดอาหาร ก็อาจจะเก็บต่ำลงมาหรือเท่าเดิม ส่วนสินค้าฟุ้มเฟือยแต่ละประเภทที่คนมีฐานะซื้อได้และยินดีจ่ายแพงก็สามารถขึ้นไปตามเกณฑ์หรือทะลุไป 15% ก็ได้ ซึ่งจะต้องขึ้นตามหมวดสินค้า เป็นต้น