ปิดฉากโรงงาน ‘ซูบารุ’ ในไทย 'บทเรียน' สงครามราคาของแบรนด์ญี่ปุ่น
"ซูบารุ" ปิดโรงงานประกอบรถที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง หลัง 30 ธ.ค.นี้ นำเข้ารถมาทำตลาดในไทยแทน "ส.อ.ท." ชี้ เป็นแผนลดต้นทุน เจาะกลุ่มคนไทยที่ยังรักในแบรนด์ญี่ปุ่น รับเทรนด์เทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิม หลังแบรนด์ใหม่เกิดเพียบ ยันบริการหลังการขายญี่ปุ่นเหนือกว่าที่อื่น
บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นในไทยเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลังจากที่ผ่านมาอย่างน้อย 2 บริษัท ประกาศหยุดโรงงานในไทย โดย “ซูซูกิ ประเทศไทย” เตรียมยุติการผลิตรถยนต์จากโรงงานในไทยภายช่วงสิ้นปี 2568 โดยยังจำหน่ายรถยนต์และให้บริการหลังการขาย แต่จะเปลี่ยนไปนำเข้ารถยนต์จากโรงงานในอาเซียน ญี่ปุ่นและอินเดียแทน
รวมถึง “ซูบารุ” จะหยุดผลิตรถจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังหลังวันที่ 30 ธ.ค.2567 โดยยังคงวางจำหน่ายในไทย แต่จะนำเข้ามาจากญี่ปุ่นแบบทั้งคันเหมือนตลาดเวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา ที่จะเปลี่ยนไปจำหน่ายรถนำเข้าเช่นกัน
ทั้งนี้ ซูบารุยังมีรถวางจำหน่ายและจะขายจนรถสต๊อกจะหมด จากนั้นจะนำเข้ามาขายทั้งคัน ส่วนบริการหลังการขายยังดำเนินการต่อเนื่องผ่านศูนย์บริการ 24 แห่งทั่วประเทศ และดีเลอร์ยังคงให้บริการดูแลลูกค้า
สำหรับโรงงานในไทยเป็นความร่วมมือของกลุ่มตันจง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL) และซูบารุ คอร์ปอเรชั่น (SBR) ประเทศญี่ปุ่น ในชื่อบริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด (TCSAT) เปิดโรงงานวันที่ 23 เม.ย.2562 ถือว่าเป็นโรงงานแห่งที่ 3 นอกญี่ปุ่น โดยแห่งแรกอยู่ที่สหรัฐ ส่วนแห่งที่ 2 อยู่ในมาเลเซียและได้ปิดไปก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ โรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีพื้นที่รวมมากกว่า 100,000 ตารางเมตร เงินลงทุน 5,000 ล้านบาท เริ่มต้นด้วยการผลิตรถยนต์ซูบารุ ฟอเรสเตอร์ (Subaru Forester) ได้มากกว่า 6,000 คัน ได้ภายในปีแรกของการดำเนินงาน เพื่อทำตลาดอาเซียน
ทั้งนี้ ในช่วงปี 2562-2566 บริษัท ตันจง ซูบารุ ออโตโมทีฟ (ประเทศไทย) จำกัด มีผลดำเนินการขาดทุนต่อเนื่อง โดยกรุงเทพธุรกิจสำรวจข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าพบว่าปี 2562 มีรายได้รวม 3,566 ล้านบาท ขาดทุน 365 ล้านบาท
ปี 2563 มีรายได้รวม 2,194 ล้านบาท ขาดทุน 400 ล้านบาท, ปี 2564 มีรายได้รวม 1,611 ล้านบาท ขาดทุน 451 ล้านบาท, ปี 2565 มีรายได้รวม 2,077 ล้านบาท ขาดทุน 377 ล้านบาท และปี 2566 มีรายได้รวม 2,960 ล้านบาท ขาดทุน 161 ล้านบาท
ในขณะที่ในช่วง 3 ปี ที่ผ่านมา สถานการณ์ตลาดรถยนต์ในประเทศมีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ โดยเฉพาะการส่งเสริมการตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่รัฐบาลออกมาตรการอุดหนุนราคารถผ่านผู้จำหน่ายสูงสุดคันละ 150,000 บาท ในปี 2565 รวมถึงการแข่งขันด้านราคาของรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นปิดโรงงานในไทย
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การหยุดผลิตรถยนต์ของทั้ง 2 แบรนด์ถือเป็นการปรับแผนธุรกิจตามเทรนด์การเปลี่ยนแปลงไปของเทรนด์การใช้รถยนต์ไฮบริดมากขึ้น ที่คำนึงถึงเทรนด์การลดโลกร้อน
นอกจากนี้ จะเห็นว่าปัจจุบันมีแบรนด์รถเข้ามาตีตลาดเกิดขึ้นมากมาย มีทั้งที่สามารถไปต่อได้และไปต่อไม่ได้ ดังนั้น การที่ซูบารุมีกรอบแผนเลิกผลิตรถในประเทศไทยวันนี้ (30 ธ.ค.2567) ก็เป็นแผนการลดต้นทุน โดยนำเข้ามาขายแทน เป็นการเน้นคงการทำตลาด เพราะหากยังคงผลิตรถยนต์อยู่แล้วยอดการผลิตน้อยก็ไม่คุ้มกับต้นทุน
"ซูบารุเลือกนำเข้าและนำเสนอเทคโนโลยีที่ดีกว่าเดิม เพื่อตอบรับกับเทรนด์ที่คนไทยได้ใช้รถที่ไฮเทคมากขึ้น คนไทยยังนิยมรถของเบรนด์ญี่ปุ่นเพราะบริการหลังการขายที่ดี อย่าลืมว่าสมัยก่อนซูบารุนำเข้ารถยนต์ขับเคลื่อนล้อหน้า ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีขายและบริการที่ดี จึงเป็นที่ยอมรับของคนไทยเสมอมา" นายสุรพงษ์ กล่าว