ระวัง “ศึกการเรียนรู้” | วรากรณ์ สามโกเศศ

 ระวัง “ศึกการเรียนรู้” | วรากรณ์ สามโกเศศ

 เด็ก ๆ ดูมีความสุขมากที่บัดนี้ได้ไปโรงเรียน   ไปพบเพื่อนพบครูตามปกติหลังจากโรงเรียนเปิด ๆ ปิด ๆ ตลอดสองปีที่ผ่านมา

 พ่อแม่ก็โล่งอกเพราะไม่ต้องดูแลลูกเรียนออนไลน์ที่บ้านอีกต่อไป     แต่หารู้ไม่ว่าจะสบายใจได้ไม่นานเพราะลูกกำลังจะประสบ “ศึกการเรียนรู้” ที่อาจหนักกว่าเดิมด้วยซ้ำ

โรงเรียนและเด็กประสบพายุโควิดเต็ม ๆ ในปีการศึกษา 2563 และ 2564   เด็กที่เรียนอยู่ชั้นใดก็ตามในปีการศึกษา 2563 (เปิดเรียนพฤษภาคม 2563) จะได้รับการศึกษาแบบกระพร่องกระแพร่งจากการเรียนรู้นอกห้องเรียน ซึ่งออนไลน์เป็นวิธีหลักเพราะอุปกรณ์ขาดบ้าง    ครูยังไม่คุ้นกับการสอนแบบนี้บ้าง

ถึงโรงเรียนจะพยายามช่วยให้ได้ทำแบบฝึกหัดที่บ้าน จากหนังสือ   จากสมุดฝึกหัด  จากเว็บ     ฯลฯ    เด็กก็ยังไม่คุ้นกับการเรียนแบบใหม่ จึงให้ความสนใจมากบ้างน้อยบ้าง   เกิดการเรียนรู้กันไม่ได้เต็มที่    พอถึงปลายปีก็ได้เลื่อนชั้นกันแบบพิเศษอย่างต่างไปจากที่เคยเป็นมา

พอถึงปี 2564    โรงเรียนก็ยังปิด ๆ เปิด ๆอีก   ส่วนใหญ่เรียนแบบออนไลน์อีกปี   เด็กก็ชักล้าเบื่อหน่าย เพราะไม่สนุกเหมือนเรียนปกติในห้องที่ได้หัวเราะสนุกสนานกับเพื่อน  อย่างไรก็ดีทุกคนสอบผ่านขึ้นชั้นไปอีกปี และพร้อมมาเรียนที่โรงเรียนแบบปกติในปี 2565

สมมุติว่าเด็กคนนี้อยู่ประถมสองในปี 2563 ที่เน้นการอ่านการเขียน    โดยเป้าหมายคืออ่านหนังสือออกเขียนหนังสือได้ก่อนชั้นประถมปีที่สาม   คราวนี้ พอมาเปิดเทอมเดือนพฤษภาคม 2565 เริ่มเรียนประถมสี่โดยได้ขึ้นชั้นจากประถมสองตอนต้นโควิดในปี 2563 และขึ้นประถมสามตอนปี 2564    และได้มาอยู่ประถมสี่ในปี 2565

บัดนี้เด็กคนนี้ตามเกณฑ์แล้วสามารถอ่านหนังสือออก   แต่ความเป็นจริงแกผ่านการสอนอ่านออกเขียนได้ออนไลน์แบบกระพร่องกระแพร่งมาจึงอ่านได้บ้างหรืออ่านไม่ได้เลย   คำถามคือเด็กคนนี้จะประสบอะไร

คาดเดาว่าจะประสบความเครียดในการเรียนชั้นประถมปีที่สี่เพราะต้องเร่งเรียนรู้ฝึกฝนอ่านให้ออกอย่างรวดเร็วพร้อมไปกับรับความรู้และการฝึกฝนทักษะตามเนื้อหาของชั้นประถมปีที่สี่      

เด็กเครียดมา   2 ปียังไม่พอต้องมาเครียดกับ “ศึกการเรียนรู้”   ซึ่งได้แก่การต่อสู้เพื่อเยียวยาความกระพร่องกระแพร่งของสองชั้นที่เรียนมาและเรียนรู้เนื้อหาใหม่ของประถมปีที่สี่ไปในเวลาเดียวกัน

“ศึกเรียนรู้” ดังกล่าวนี้เด็กทุกคนในทุกชั้นเรียนต้องประสบ     หากไม่ชนะศึกก็อาจท้อใจเพราะเรียนไม่ทันเพื่อน    ไม่สนใจเรียน หรือหลุดออกจากโรงเรียนถ้าพ่อแม่หรือผู้ปกครองไม่ดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มกำลัง    ขณะนี้เด็กทุกคนกำลังอยู่ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน    

 ระวัง “ศึกการเรียนรู้” | วรากรณ์ สามโกเศศ

สำหรับเด็กบางคนในชั้นเรียนที่โตหน่อย และไม่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้นักเมื่อเผชิญกับการเรียนไม่ทันก็อาจเลิกเรียน และหากคบเพื่อนไม่ดีก็เสียผู้เสียคนไปได้

ยิ่งชั้นสูงขึ้น   ศึกก็ยิ่งหนักขึ้นเพราะเนื้อหาที่ไม่ได้เรียนอย่างเต็มที่นั้นอาจเป็นพื้นฐานไปสู่การเรียนรู้ที่สูงขึ้น      การ “เก็บ” ความรู้ที่หายไป และเรียนรู้เนื้อหาใหม่จึงยากยิ่งขึ้น    

หากเรียนอยู่ในชั้นมัธยมปีที่หกที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยในปีหน้ายิ่งหนักมาก  ไหนจะต้องสู้สอง “ศึก” คือ “เก็บ” ความรู้ของสองปีก่อนที่หายไป และเรียนรู้เนื้อหาใหม่ของมัธยมหกไปในเวลาเดียวกันแล้ว    ยังต้องสู้อีก “ศึก” หนึ่งก็การสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยอีกด้วย

นักวิชาการเรียกสิ่งที่ควรได้ฝึกฝนเรียนรู้ หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่าคือสิ่งที่ได้สูญหายไปในสองปีที่ผ่านมาว่า Learning Loss    ตัวอย่างเช่นถ้าควรได้เรียนรู้เต็ม 10   แต่ได้เรียนรู้เพียง 8    Learning Loss ก็คือ 2 หรือในบางกรณีคือ 10 คือไม่ได้เรียนรู้เลย    

ถ้าใช้เวลาเป็นตัววัดคร่าว ๆ จำนวนวันที่เด็กไม่ได้เรียนที่โรงเรียนและครูมิได้จัดรูปแบบการเรียนรู้อย่างอื่น ๆ ให้ก็สะท้อน Learning Loss     การสำรวจพบว่าใน   2 ปีที่ผ่านมาทั้งโลกมี Learning Loss ซึ่งมาจากการปิดโรงเรียน ประมาณ 2 ล้านล้านวัน

Learning Loss เป็นผลมาจากความกระพร่องกระแพร่งของการศึกษา     ซึ่งการระบาดของโควิดเป็นต้นเหตุ    Learning Loss กินความไปถึงการลืมความรู้   ลืมทักษะของนักเรียนที่มีอยู่ก่อนหน้าเนื่องจากไม่มีการฝึกหัดซ้ำในระหว่างการระบาดเช่นการอ่านอีกด้วย

การเยียวยา Learning Loss ของเด็กจึงเป็นภารกิจสำคัญของโรงเรียนและพ่อแม่      การ “เก็บ” ความรู้และทักษะที่จำเป็นต้องมีของชั้นเรียนต่าง ๆ ซึ่งได้ตกหล่นไปแต่ก็ยัง“สอบผ่าน”มาได้ ก็คือลักษณะหนึ่งของการเยียวยา Learning Loss 

ปัจจุบันโรงเรียน    มูลนิธิ    ภาคเอกชน  เครือข่ายครูและผู้ปกครอง ฯลฯ    จับมือกันช่วยเยียวยา Learning Loss ของเด็กด้วยวิธีต่าง ๆ   บ้างก็เพิ่มชั่วโมงเรียน  บ้างก็แจกกล่องการเรียนรู้ด้วยตนเองเพิ่มเติม สร้างเว็บพิเศษเพื่อการตาม “เก็บ” ความรู้       ฝึกฝนครูเป็นพิเศษ     สร้างรูปแบบการเรียนรู้ใหม่ ๆ   ฯลฯ    

อย่างไรก็ดี ความรับผิดชอบสำคัญตกอยู่กับตัวเด็กและพ่อแม่ที่จะต้องให้ความสนใจอย่างยิ่งกับการเยียวยานี้

คนที่น่าเห็นใจ และผู้ใหญ่ต้องเข้าใจความรู้สึกของเขาเป็นพิเศษก็คือ เด็กที่เครียดกับการสู้ “ศึก”  ซึ่งการเยียวยา Learning Loss เป็นเครื่องมือสำคัญโดยมีความรัก-ความห่วงใย-ความห่วงอาทร และคำพูดที่ให้กำลังใจของสังคม ครูและครอบครัวเป็นอาวุธสนับสนุน

โควิดกำลังหมดไป    แต่ “ศึก” ที่รบโดยเด็กที่เป็นสมบัติอันล้ำค่าของสังคมกำลังเริ่มขึ้น    “ศึก” ลักษณะนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ยกเว้นกับเด็กที่ลาเรียนไปเป็นเวลายาวนานเพราะป่วยไข้ และกลับมาเรียนอีกครั้ง    พ่อแม่และครูช่วยเด็กทำ “ศึก” ยังไม่พอ     สมาชิก   สังคมทั้งหลายต้องช่วยเหลือด้วยครับในหลากหลายลักษณะ.