การดูแลสุขภาพ ≠ การรักษาโรค (4) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ครั้งที่แล้วผมกล่าวทิ้งท้ายเอาไว้เกี่ยวกับเทคโนโลยีที่เรียกว่า Chimeric Antigen Receptor-T cells (CAR-T cells)
เทคโนโลยี CAR-T cells เป็นการนำเอาเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันของคนไข้คือ T-cell ออกมาแล้วพัฒนาศักยภาพ (bio-reengineer) ให้สามารถปราบมะเร็งประเภทมะเร็งในเม็ดเลือด (leukemia) และมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (lymphoma) ซึ่งเป็นการรักษาโรค
เพราะมะเร็งเกิดขึ้นได้แม้กับคนที่ดำเนินชีวิตอย่างระมัดระวังในการดูแลสุขภาพเป็นอย่างดี นอกจากนั้นก็ยังคงมีคนอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่สามารถควบคุมน้ำหนักและมีเวลาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งประเภทต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรเป็นลำดับ 2 รองลงมาจากโรคที่เกี่ยวกับหลอดเลือดหัวใจดังที่ได้กล่าวมาแล้วในบทความก่อนหน้า
แต่ประเด็นที่ผมคิดว่าน่าสนใจคือการรักษาที่พัฒนาไปอย่างลึกซึ้งไปสู่ระดับเซลล์ ในกรณีนี้คือนำเอาเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันออกมาปรับปรุงศักยภาพให้สามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้ ที่สำคัญคือได้มี “ข่าวใหญ่” ในด้านการรักษามะเร็งเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2 เรื่องซึ่งผมขอนำมาเขียนให้อ่านกันในครั้งนี้
1.T-cell Receptor (TCR) gene therapy รักษาโรคมะเร็งในตับอ่อน (ที่มา: AP 2 มิ.ย. 2022) ผู้เชี่ยวชาญจะทราบดีว่ามะเร็งในตับอ่อนนั้นแม้จะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่เป็นมะเร็งที่รักษาเกือบจะไม่ได้เลย
กล่าวคือจากสถิติที่สหรัฐอเมริกา มะเร็งในตับอ่อนนั้นคาดว่าจะตรวจพบ 62,210 ราย ในปี 2022 (เทียบกับมะเร็งลำดับแรกคือมะเร็งต่อมลูกหมากกับมะเร็งเต้านม ซึ่งคาดว่าจะตรวจพบ 270,000-280,000 รายในปีเดียวกัน-ที่มา National Cancer Institute)
แต่สำหรับโรคมะเร็งตับอ่อนนั้นอัตราการรอดชีวิตในช่วง 5 ปีนั้นมีเพียง 11% (สำหรับผู้ที่เป็นมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก อัตราการรอดชีวิตในช่วง 5 ปีนั้นเกือบ 100% หากไม่ได้แพร่ขยายไปส่วนอื่นของร่างกาย ในขณะที่มะเร็งเต้านม อัตราการรอดชีวิตปีประมาณ 85%)
ข่าวที่ AP นำมาลงคือการรักษาแบบใหม่เรียกว่า TCR gene therapy ซึ่งนำเอา T-cell ของผู้หญิง 1 คนคือ Kathy Wilkes ออกมาพัฒนาให้มีศักยภาพในการ “มองเห็น” โปรตีนที่มีอยู่ในเซลล์มะเร็ง (แต่ไม่มีในเซลล์ปกติ)
T-cell จึงสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งออกไปได้เป็นจำนวนมากหลังจากการนำเอาเทคโนโลยี TCR gene therapy มาใช้เพียงครั้งเดียวเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว
แม้ว่าจะเป็นการรักษาคนไข้เพียง 1 คนแต่ก็เป็นผลที่น่ายินดีอย่างมาก จึงได้นำไปตีพิมพ์ ใน New England Journal of Medicine เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2022 ทั้งนี้ ผลจากการรักษาเพียง 1 ครั้งดังกล่าวทำให้ขนาดของมะเร็งเนื้องอกลดลงไป 72% ภายใน 6 เดือนและต่อมาก็อยู่ที่ระดับกล่าวไม่โตขึ้น
จึงกล่าวได้ว่าเป็นการช่วยให้มีชีวิตรอดอย่างไม่น่าเชื่อเพราะมะเร็งได้เริ่มกระจายออกไปที่ปอดแล้วด้วย อย่างไรก็ดีแนวทางรักษานี้ใช้ได้เฉพาะกับเซลล์มะเร็งที่ยีน KRAS G12D กลายพันธุ์ (mutation)
อย่างไรก็ดี การกลายพันธุ์ดังกล่าวก็ยังทำให้เกิดมะเร็งในปอดและในลำไส้ใหญ่ (non-small cell lung and colorectal cancers) ได้อีกด้วย
ดังนั้น TCR gene therapy จึงน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการรักษาเนื้องอก (tumor) ที่เป็นมะเร็งในอวัยวะดังกล่าวของร่างกายที่ปัจจุบันเป็นสาเหตุสำคัญในการเสียชีวิต
2.ยา Dostarlimab กำจัดก้อนมะเร็งในลำไส้ใหญ่ของคนไข้ 12 คนได้ผล 100% (ที่มา liverscience.com 7 มิ.ย.2022) ข่าวนี้เป็นข่าวใหญ่ในเชิงวิชาการและแม้แต่ CNN ก็นำมาลงข่าว แม้ว่าจะมีคนไข้ที่ได้รับยาดังกล่าวเพียง 12 คน
เพราะผลที่ได้มานั้นดีเกินคาดแบบที่ไม่เคยพบมาก่อนเลยในการรักษาโรคมะเร็งไม่ว่าจะประเภทใด ผลของงานวิจัยดังกล่าวถูกนำมาตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2022
กรณีนี้คนไข้เป็นมะเร็งที่ Rectum คือมะเร็งที่อยู่ในอุ้งเชิงกราน ซึ่งแนวทางในการรักษาปกตินั้น ผมเข้าใจว่าทารุณมากคือต้องทำการฉายแสง (radiation), chemotherapy และมักจะต้องตามด้วยการทำศัลยกรรมสร้างทวารหนักเทียม โดยเปิดเข้าไปในลำไส้ใหญ่ (colostomy) ต้องเปิดหน้าท้องเพราะไม่สามารถอุจจาระทางทวารหนักได้หลังการผ่าตัด
คนไข้ทั้งหมดที่ได้รับยา Dostarlimab นั้นล้วนแต่มีเนื้องอกขนาดใหญ่ (big bulky tumors and 94% were node positive) แต่หลังจากได้รับยาดังกล่าว ครั้งละ 500 mg ทุกๆ 3 สัปดาห์เป็นเวลา 6 เดือน ก็ตรวจพบว่าเนื้องอกถูกกำจัดไปทั้งหมด (completely cleared) ในคนไข้ทั้ง 12 คน
กล่าวคือตรวจหาเนื้องอกไม่พบเลย ทั้งโดยการตรวจดูภายนอก (physical exam) หรือการใช้เครื่อง endoscopy PET scan หรือ MRI scan นอกจากนั้นเมื่อได้มีการติดตามอาการของคนไข้เฉลี่ยกว่า 6 เดือน (แต่บางคนติดตามอาการมากว่า 1 ปีแล้ว) ก็ไม่มีคนไข้คนใดต้องเข้ารับการรักษาอีก
นอกจากนั้นยา Dostarlimab ยังไม่ได้มีผลข้างเคียงใดๆ เลย ซึ่งโดยปกติแล้วยารักษามะเร็งจะมีผลข้างเคียงที่ค่อนข้างจะรุนแรงในประมาณ 20% ของคนไข้ที่รับการรักษา
ยา Dostarlimab นี้เป็นยาประเภท monoclonial antibody คือแอนติบอดี้ที่สร้างจากเซลล์เม็ดเลือดขาวที่เราเคยได้เห็นข่าวว่าได้มีการนำเอาเทคโนโลยีชนิดนี้มาใช้รักษาโรค COVID-19 ในตอนแรกที่ยังไม่มีวัคซีน
ในกรณีนี้ Dostarlimab นั้นเดิมทีจะถูกนำไปใช้รักษามะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก (endometrial cancer) โดยทำหน้าที่ที่เรียกว่า anti-PD-1 checkpoint inhibitor คือกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของตัวเราเองให้สามารถ “พบเห็น” เซลล์มะเร็งและทำลายเซลล์ดังกล่าวให้หมดไป
ประเด็นทิ้งท้ายที่น่าสนใจคือภูมิหลังของผลสำเร็จครั้งนี้เกิดจากการทำการทดลองเมื่อปี 2017 โดย Dr. Luis A Diaz โดยใช้ยา Check point inhibitor อีกประเภทหนึ่งของ Merck คือ Keytruda พบว่าได้ผลในการช่วยลดมะเร็งที่กระจายตัวออกไป (metastatic cancers) คือใน 10% ของคนไข้ ก้อนมะเร็งถูกกำจัดไปทั้งหมดและในอีก 1/3 ทำให้ขนาดของก้อนมะเร็งลดลงและรอดชีวิตได้นานขึ้น
ดังนั้น จึงต้องการทำการทดลองใช้ยาประเภทเดียวกันในการรักษามะเร็งในลำไส้ใหญ่ แต่บริษัทยาส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบเพราะคิดว่าเสี่ยงมากเกินไป เพราะมีแนวทางในการรักษาอยู่แล้ว
แต่ในที่สุดก็มีบริษัทยาขนาดเล็กบริษัทหนึ่งคือบริษัท Tesaro ยอมทำการทดลองดังกล่าว อย่างไรก็ดีบริษัท Tesaro เพิ่งถูกซื้อเข้าไปควบรวมในบริษัท Glaxo Smith Kline เมื่อเดือนมกราคม 2019 ในราคา 5,100 ล้านเหรียญ
แม้ว่าแนวทางการรักษาโรคมะเร็งกำลังรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่ผมก็จะยังจะยึดแนวทางการดำเนินชีวิตเพื่อลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคมะเร็งอย่างเคร่งครัดต่อไปครับ.