ไบโอแล็บ ระเบิดเวลาที่ต้องรีบปลดชนวน | เกียรตินันต์ ล้วนแก้ว

ไบโอแล็บ ระเบิดเวลาที่ต้องรีบปลดชนวน | เกียรตินันต์ ล้วนแก้ว

มีหลายแนวคิดถูกหยิบขึ้นมาอธิบายการเกิดขึ้นของโควิด-19 หนึ่งในนั้นคือ โควิด-19 เกิดขึ้นภายในห้องทดลองทางชีวภาพหรือไบโอแล็บ แล้วเกิดการรั่วไหลหรือมีการจงใจปล่อยออกมาเพื่อสร้างความปั่นป่วนให้กับระบบเศรษฐกิจและการเมืองโลก

แน่นอนว่าคู่กรณีหลักในเรื่องนี้ย่อมหนีไม่พ้นจีนและสหรัฐ แต่จนถึงวันนี้คำกล่าวหาที่เกิดขึ้นต่อสองประเทศนี้ก็ยังไม่มีหลักฐานหนักแน่นพอที่จะชี้ลงไปได้ว่าต้นทางของการระบาดมาจากไหนกันแน่

ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ปฏิเสธไม่ได้คือ หลายประเทศในโลกนี้มีการพัฒนาอาวุธชีวภาพเพื่อใช้ในการสงครามจริง เรื่องนี้คือสิ่งที่น่ากังวลมากกว่าการหาที่มาของโควิด-19 เสียอีก เพราะอาวุธชีวภาพมันเป็นระเบิดเวลาที่น่ากลัวเหลือเกิน หากมองในแง่ของการสงคราม ข้อดีของอาวุธชีวภาพมี 4 อย่าง

  1. อาวุธชีวภาพสามารถปิดเกมได้เร็ว เพราะแม้ใช้ในปริมาณน้อยก็สามารถสร้างความเสียหายให้กับกำลังทหารและประชาชนได้ในวงกว้าง โดยไม่ส่งผลเสียหายเหมือนการใช้อาวุธประเภทอื่นเพื่อให้ได้ผลเช่นเดียวกัน เช่น การใช้ระเบิดนิวเคลียร์
  2. มีต้นทุนในการผลิตและใช้ที่ต่ำ ด้วยปริมาณที่ไม่มาก จึงนำไปใช้ได้ง่าย ตรวจจับได้ยากจนกว่าจะสายเกินไปแล้ว ทั้งยังมีต้นทุนในการผลิตไม่สูงเมื่อเทียบกับอาวุธทำลายล้างประเภทอื่นที่สามารถสร้างความเสียหายให้กับชีวิตในระดับเดียวกัน
  3. สามารถสร้างได้ง่าย หากเทียบกับการพัฒนาอาวุธประเภทอื่น อาวุธชีวภาพสามารถสร้างได้ง่ายกว่า ไม่ต้องใช้องค์ความรู้สูง หากเป็นแบบที่ไม่ซับซ้อนมากก็ไม่ต้องใช้วัตถุดิบพิเศษ ประเทศที่ไม่ได้มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากนักจึงสามารถพัฒนาและครอบครองอาวุธประเภทนี้ได้
  4. สามารถกระจายไปใช้งานในหลายพื้นที่พร้อมกันได้สะดวก เนื่องจากเป็นอาวุธที่ใช้ปริมาณไม่มาก ไม่ต้องการพื้นที่ในการจัดเก็บมากนัก จึงสะดวกต่อการซุกซ่อนและเคลื่อนย้าย

ไบโอแล็บ ระเบิดเวลาที่ต้องรีบปลดชนวน | เกียรตินันต์ ล้วนแก้ว

ข้อจำกัดสำคัญของอาวุธชีวภาพมี 5 อย่าง ได้แก่

1. ไม่สามารถรับประกันผลได้ 100% โดยปกติแล้วประชากรเป้าหมายราว 1% ถึง 10% จะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติต่ออาวุธชีวภาพ จึงต้องส่งทหารเข้าไปกวาดล้างประชากรที่เหลืออีกรอบ เป็นการเปิดเผยตัวตนต่อฝ่ายตรงข้าม ซึ่งผิดกับวัตถุประสงค์ของการใช้อาวุธชีวภาพที่ต้องการปกปิดตัวตนของผู้ใช้ให้มากที่สุด

2. ทำร้ายผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงคราม เป้าหมายของการทำสงครามคือ การลดทอนความสามารถของกองทัพฝ่ายตรงข้าม การใช้อาวุธชีวภาพสร้างความเสียหายมากกว่านั้น ประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามก็จะโดนผลกระทบทำให้เจ็บป่วย บาดเจ็บ ล้มตายเป็นจำนวนมาก เป็นการละเมิดหลักมนุษยธรรมอย่างร้ายแรง

3. ควบคุมการกระจายได้ยาก การกระจายตัวของอาวุธชีวภาพขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้หลายประการ เมื่อนำไปใช้แล้ว อาจทำให้ทหารของฝ่ายที่ใช้อาวุธได้รับผลไปด้วย หรืออาวุธมีการกระจายตัวข้ามพื้นที่ข้ามพรมแดนไปสู่ประเทศอื่น ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศตามมา นอกจากนี้แล้ว อาวุธนี้อาจกลายพันธุ์จนควบคุมไม่ได้ และมีการแพร่อยู่ในพื้นที่เป้าหมายเป็นเวลานานหลายปี จนทำให้พื้นที่ดังกล่าวไม่ปลอดภัย

ไบโอแล็บ ระเบิดเวลาที่ต้องรีบปลดชนวน | เกียรตินันต์ ล้วนแก้ว

4. การต่อต้านของประชาชน ความเหี้ยมโหดของอาวุธชีวภาพทำให้การใช้อาวุธประเภทนี้เป็นที่รังเกียจของประชาชนทั้งในประเทศของตนเอง ประเทศที่เป็นเหยื่อ และประชาชนในประเทศอื่น การไม่ยอมรับนี้นำไปสู่ผลกระทบหลายอย่าง

เช่น มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ การปฏิบัติการทางทหารเพื่อทำลายห้องทดลองชีวภาพที่อาจเป็นภัยต่อประเทศอื่น ประชาชนในประเทศผู้ใช้อาวุธลุกฮือขึ้นมาต่อต้านรัฐบาลของตนเอง เป็นต้น ชัยชนะที่ได้มาด้วยวิธีนี้จึงไม่มีความยั่งยืน

5. มีโอกาสถูกนำไปใช้ในการก่อการร้าย การมีห้องทดลองอาวุธชีวภาพเป็นการเชื้อเชิญให้ผู้ก่อการร้ายเข้ามาขโมยอาวุธนี้ไปหาประโยชน์ โดยผู้เดือดร้อนอาจเป็นประเทศเจ้าของอาวุธเอง หรือประเทศอื่น แต่ไม่ว่าใครจะเป็นผู้เดือดร้อน ประเทศที่เป็นเจ้าของห้องทดลองชีวภาพนั้นจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

ในประวัติศาสตร์การสงครามของมนุษยชาติ การใช้อาวุธชีวภาพถือเป็นรอยด่างร้ายแรงที่สุด การดำรงอยู่ของห้องทดลองชีวภาพเพื่อการสงครามในประเทศต่างๆ แม้จะอ้างว่าเป็นไปเพี่อการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ แต่ก็เป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้น เพราะการมีอยู่ของห้องทดลองก็เป็นการยอมรับออกมาแล้วว่ามีความคิดจะนำอาวุธเหล่านี้ไปใช้

สถานการณ์เศรษฐกิจการเมืองโลกในตอนนี้ยังมีความเสี่ยงหลายอย่าง อาจแสดงตัวออกมารวดเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน การลดปัจจัยเสี่ยให้น้อยลงไปสักเรื่องหนึ่งก็ช่วยเหลือประชากรโลกได้มากแล้ว ดังนั้น แทนที่จะโจมตีใส่กันไปใส่กันมาว่าใครมีหรือไม่มีอาวุธชีวภาพ

เราควรจับมือกันกดดันให้ประเทศต่างๆ เลิกทำเรื่องนี้จะดีกว่า เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม คนเคราะห์ร้ายที่สุดคือคนบริสุทธิ์ ซึ่งไม่ได้รู้อีโหน่อีเหน่อะไรด้วยเลย.

 

คอลัมน์ : หน้าต่างความคิด
ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์