ฤดูหนาวกำลังคืบคลาน | ปิยศักดิ์ มานะสันต์
หากการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ เป็นเหมือนก้อนหินที่ตกมาจากยอดภูเขาหิมะ และทำให้เกิด Snowball effect ดั่งลูกหิมะที่กลิ้งลงจากภูเขา ซึ่งจะใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ และอาจนำไปสู่มหันตภัยขนาดใหญ่ได้
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ก้อนหินตกลงมาได้แก่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่เป็นทั้งสงครามทางการทหารและเศรษฐกิจ เพราะส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหารและพลังงานโดยเฉพาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ และหากสถานการณ์ลากยาวต่อไป วิกฤติพลังงานในยุโรปอาจจะเป็นชนวนสำคัญที่จะนำไปสู่วิกฤติเศรษฐกิจทั่วโลก
ในปัจจุบัน ราคาซื้อขายล่วงหน้าก๊าซธรรมชาติในฤดูหนาวปีนี้อยู่ที่ 182 ยูโรต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง (184 ดอลลาร์สหรัฐต่อกิโลวัตต์ชั่วโมง) เกือบจะสูงเท่ากับต้นเดือนมีนาคม หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน และสูงกว่าระดับราคาเฉลี่ยถึงกว่า 7 เท่า ทั้งหมด เป็นผลจากรัสเซียระงับการส่งก๊าซธรรมชาติเป็นเครื่องมือในการบีบชาติตะวันตกโดยเฉพาะยุโรป เนื่องจากก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานหลักกว่า 1 ใน 4 ในยุโรป และ 1 ใน 3 เป็นการนำเข้าจากรัสเซีย (ซึ่งตัวเลขในบางประเทศ เช่น เยอรมนี อยู่ระดับที่สูงกว่านั้น (50%))
และด้วยการที่ก๊าซธรรมชาติสามารถขนส่งได้ยากกว่า (ต้องแปลงเป็น Liquefied Natural Gas: LNG) ซึ่งต้องการการลงทุน โดยเฉพาะในสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลวซึ่งใช้เวลาและเงินทุนในการสร้าง บางประเทศ เช่น เยอรมนี จึงต้องพึ่งก๊าซที่ขนส่งจากท่อส่งจากรัสเซียเป็นหลัก
ในขณะที่ในฝั่งเศรษฐกิจของรัสเซีย ไม่ได้พึ่งพารายได้จากก๊าซธรรมชาติมากเท่าน้ำมัน โดยการส่งออกน้ำมันมีมูลค่าสูงถึงกว่า 10% ของ GDP ในช่วงห้าปีที่ผ่านมา ขณะที่การส่งออกก๊าซธรรมชาติอยู่ที่ประมาณ 2% เท่านั้น ทำให้รัสเซียไม่ได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจของชาติตะวันตกเท่าใดนัก
เนื่องจากยังสามารถส่งออกน้ำมันไปยังพันธมิตร เช่น จีน และอินเดียได้ แต่การปิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยังยุโรปกลับสามารถทำร้ายเศรษฐกิจยุโรปได้มากกว่า ก่อนหน้าที่จะรัสเซียจะปิดท่อส่งก๊าซ ยุโรปยังสามารถวางแผนบริหารจัดการการใช้ก๊าซธรรมชาติได้ในระดับหนึ่ง โดยมีการวางแผนไว้ว่าปริมาณสำรองในช่วงฤดูใบไม้ผลิและฤดูร้อนจะเพิ่มขึ้นจากระดับต่ำมากที่ 26% ในเดือน มี.ค. และจะเพิ่มเป็น 50% ในเดือน มิ.ย. และถึง 80% ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดที่จำเป็นเพื่อให้ผ่านฤดูหนาวไปได้
แต่ปัจจุบัน ความเสี่ยงกลับเพิ่มขึ้น ผลทั้งจาก
- ปัญหาด้านการขุดเจาะก๊าซธรรมชาติในนอร์เวย์
- สภาพอากาศที่ร้อนซึ่งสร้างความต้องการไฟฟ้าเพื่อจ่ายพลังงานให้กับเครื่องปรับอากาศ
- การปิดท่อก๊าซของ Gazprom ซึ่งเป็นผู้ส่งออกก๊าซรายใหญ่จากรัสเซียไปยังยุโรป
โดยในช่วงต้นเดือน ก.ค. การส่งออกก๊าซจากรัสเซียไปยุโรปลดลงกว่า 80% จากช่วงก่อนวิกฤต Covid-19 ที่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านคิวบิกเมตร เหลือประมาณ 3 พันล้านคิวบิกเมตรในปัจจุบัน และจะลดลงไปอีก หลังจากรัสเซียประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 11-22 ก.ค. จะมีการปิดท่อส่งก๊าซ Nord Stream 1 เพื่อซ่อมบำรุง แต่รัสเซียไม่ได้ชดเชยด้วยการเพิ่มปริมาณการส่งก๊าซที่ผ่านยูเครน และเมื่อตลาดคาดการณ์ว่ารัสเซียจงใจลดอุปทาน ราคาสำหรับการส่งมอบในช่วงฤดูหนาวในปี 2023-24 จึงเพิ่มขึ้นเป็นสี่เท่าของระดับปกติ
ในปัจจุบัน ผู้บริโภคยังไม่ทราบถึงผลกระทบจากวิกฤติก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากรัฐบาลในยุโรปยังคงให้การอุดหนุนด้านราคา และผลจากสัญญาระยะยาว โดยชาวเยอรมันจ่ายน้อยกว่าราคาตลาดถึงกว่า 70% แต่สำหรับผู้ใช้ก๊าซในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น เคมีภัณฑ์และผู้ผลิตแก้วกำลังประสบปัญหาจากมาตรการจัดสรรปันส่วน (Ration) เพื่อให้มีพลังงานเหลือเพียงพอสำหรับการทำความร้อนในฤดูหนาว
แต่หากก๊าซธรรมชาติเกิดขาดแคลนในช่วงฤดูหนาวและรัฐบาลต้องปล่อยลอยตัวก๊าซ อาจทำให้ราคาต้องพุ่งขึ้นมากและนำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจและการเมืองได้ โดยสำนักวิจัย UBS คาดว่า ณ สถานการณ์ปัจจุบัน วิกฤติก๊าซธรรมชาติครั้งนี้ จะทำให้เศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลง 3.4% และทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น 2.7%
นอกจากนั้น การขาดแคลนก๊าซอาจทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปด้วยกันเอง เนื่องจากสมาชิกอาจระงับการส่งก๊าซไปยังเพื่อนบ้านเพื่อกักตุนหรือ Hoarding (โดยในปัจจุบัน รัฐบาลอังกฤษเริ่มส่งสัญญาณดังกล่าว) ขณะที่ส่วนต่างของราคาขายส่งก๊าซในประเทศต่างๆ แสดงให้เห็นว่าเริ่มพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ดังกล่าว
นอกจากนั้น ปัญหาหนี้สาธารณะในยุโรปที่สูงขึ้น ความกังวลการผิดนัดชำระหนี้ หรือแม้กระทั่งวิกฤตการเมืองและวิกฤตหนี้สาธารณะในอิตาลี ซึ่งเชื่อมโยงกับวิกฤตพลังงาน ก็จะยิ่งทำให้เศรษฐกิจยูโรโซนเสี่ยงมากขึ้น ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีใครเป็นผู้ชนะจากสงครามเศรษฐกิจ ทั้งชาติตะวันตก รัสเซีย ยูเครน รวมถึงทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากสงครามเศรษฐกิจครั้งนี้
สำนักวิจัย Economist Intelligence Unit คาดว่าสงครามทำให้เกิดความเสียหายทั่วโลกกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และทำให้เศรษฐกิจโลกในปีนี้ขยายตัวลดลงจาก 3.9% เหลือ 2.8% และทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นมากจนธนาคารกลางต่าง ๆ ต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อกดความต้องการซื้อ (Demand) ลงให้สมดุลกับปริมาณการผลิต (Supply) ที่ลดลง และทำให้เศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยใน 1-2 ปีข้างหน้า
ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยในครึ่งหลังของปีนี้ โดยประเทศที่ได้รับผลกระทบมากประเทศหนึ่งคือเยอรมนี ซึ่งตามการคาดการณ์ของ Bundesbank หรือธนาคารกลางของเยอรมนี คาดว่าเศรษฐกิจอาจหดตัวถึง 5% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าหากแหล่งก๊าซของรัสเซียถูกปิดโดยสมบูรณ์
ทั้งหมดนี้จึงขึ้นอยู่กับว่า สงครามทางการทหารระหว่างรัสเซียและยูเครนจะสิ้นสุดเมื่อใด ซึ่งหากกล่าวโดยสรุปแล้ว ผู้เขียนคาดว่าคงยังไม่จบภายในปีนี้ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญจะอยู่หลังเดือน พ.ย. ปีนี้เป็นต้นไป หากพรรค Democrat ของประธานาธิบดีไบเดนพ่ายแพ้การเลือกตั้ง Mid-term Election ขณะที่ฤดูหนาวที่โหดร้ายในยุโรป (เนื่องจากไม่มีก๊าซธรรมชาติในการทำ Heater) จะทำให้ประชาชนชาวยุโรปเรียกร้องให้ชาติตะวันตกผลักดันให้ยุติสงครามเร็วขึ้น
แต่หากรัฐบาลชาติตะวันตกยังไม่ยอมแพ้แล้ว สถานการณ์อาจลากยาวและทำให้รัสเซียขยายขอบเขตสงคราม ไปสู่ชาติอื่น ๆ ในยุโรป เช่น Moldova, Slovenia หรือ Lithuania ทางตอนเหนือ รวมถึงเป็นไปได้ที่จะใช้อาวุธลักษณะพิเศษ (Unconventional weapons) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น สงครามเศรษฐกิจก็จะรุนแรงขึ้นเป็นทวีคูณ
ฤดูหนาวแห่งสงครามกำลังจะมาเยือนเศรษฐกิจโลก ท่านผู้อ่านทั้งหลาย โปรดระวัง
คอลัมน์ Global Vision
ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์
[email protected]