เศรษฐกิจสหรัฐ ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง | ดอน นาครทรรพ

เศรษฐกิจสหรัฐ ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง | ดอน นาครทรรพ

ในฐานะที่สหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย (สัดส่วนมูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์เท่ากับร้อยละ 15.4 จีนเป็นอันดับ 2 ที่ร้อยละ 13.7) หากจะบอกว่า ฝน (เศรษฐกิจ) ที่ตกทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้ ก็คงจะไม่ผิดนัก

ปลายเดือนที่แล้ว ผมเชื่อว่าหลายคนคงตื่นเต้นกับตัวเลขอัตราการขยายตัวแบบไตรมาสต่อไตรมาสของเศรษฐกิจสหรัฐ ที่ออกมาติดลบติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2

แม้ NBER ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ประกาศภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอย่างเป็นทางการ จะออกมาบอกว่าเครื่องชี้รายเดือนหลักที่ NBER ใช้พิจารณาภาวะเศรษฐกิจถดถอย เช่น การผลิตภาคอุตสาหกรรม การบริโภคภาคเอกชน และการจ้างงานนอกภาคเกษตร จะบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังห่างไกลจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย

แต่ด้วยความที่ทุกครั้งในอดีตที่จีดีพีแบบไตรมาสต่อไตรมาสของสหรัฐหดตัวติดต่อกัน 2 ไตรมาส ไม่เคยมีครั้งไหนเลยที่สุดท้ายแล้ว NBER จะไม่ระบุว่าเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอย หลายคนจึงยังไม่มั่นใจนักว่า พอเวลาผ่านไปสักระยะ NBER อาจจะกลับคำให้การก็ได้

อย่างไรก็ดี สำหรับเศรษฐกิจไทย ไม่ว่าเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอยไปแล้วหรือยัง ไม่ได้มีนัยสำคัญอะไร โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยไปสหรัฐขยายตัวร้อยละ 20.1 สูงกว่าการขยายตัวของส่งออกรวมที่ร้อยละ 12.7

และคาดกันว่าครึ่งหลังของปี น่าจะยังขยายตัวได้สองหลักอยู่ ซึ่งถ้าเราส่งออกไปสหรัฐได้ดีขนาดนี้ ผมว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยก็ถดถอยไป

เศรษฐกิจสหรัฐ ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง | ดอน นาครทรรพ

ที่ผมคิดว่าเป็นประเด็นมากกว่าคือ เศรษฐกิจสหรัฐในปีหน้าจะเป็นอย่างไร เพราะกระทั่งคนที่มองโลกในแง่ดีที่สุด คือธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ยังมองว่า แม้เศรษฐกิจสหรัฐปีหน้าจะไม่ถึงขั้นถดถอย แต่ก็จะชะลอลงจากปีนี้อย่างมีนัย (Soft landing)

ซึ่งในกรณีแรกนี้ เศรษฐกิจไทยน่าจะยังชิลๆ เพราะปัจจัยหลักที่หนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปีนี้และในปีหน้ามาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งรวมกันแล้วมีขนาดของแรงส่งทางเศรษฐกิจใหญ่กว่าส่งออกไทยไปสหรัฐมาก

กรณีที่สองซึ่งเป็นกรณีที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันคือ เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างอ่อนๆ (Mild recession) ในปีหน้า จากการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดของเฟด

โดยตลาดมองว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 2.25-2.50 ต่อปีในปัจจุบัน ไปอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.50 ต่อปีภายในสิ้นปีนี้ ก่อนที่เฟดจะต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงภายในครึ่งแรกของปีหน้าหลังจากพบว่าเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย

อย่างไรก็ดี ในกรณีนี้ แม้การถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐจะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยพอสมควร แต่ไม่น่าถึงกับทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต้องสะดุดลง ด้วยผมยังเชื่อว่าการใช้จ่ายในประเทศและการท่องเที่ยวน่าจะยังพอเอาชนะปัจจัยลบจากสหรัฐได้

เศรษฐกิจสหรัฐ ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง | ดอน นาครทรรพ

กรณีสุดท้าย ซึ่ง ณ ตอนนี้ผมยังมองว่ามีความเป็นไปได้น้อยที่สุด แต่เป็นกรณีที่ผมกังวลที่สุดคือ เศรษฐกิจสหรัฐประสบภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรง (Deep recession) จากการที่เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยไปสูงกว่าที่ตลาดคาดมาก เนื่องจากเงินเฟ้อในปีหน้าจะไม่ลงมามากตามที่เฟดคาดการณ์

ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์คนสำคัญที่เชื่อกรณีนี้มาก คือ Lawrence Summers อดีตรัฐมนตรีคลังของสหรัฐ

ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐที่ออกมาแข็งแกร่งมากเมื่อต้นเดือนนี้ แม้จะเป็นข่าวดีว่าเศรษฐกิจสหรัฐในครึ่งแรกของปีไม่น่าจะเข้านิยามเศรษฐกิจถดถอย ตอกย้ำสมมติฐานของ Summers ว่า ตลาดแรงงานของสหรัฐนั้นร้อนแรงเกินไป โดยเฉพาะอัตราการขยายตัวของค่าจ้างที่ทำสถิติสูงสุดต่อเนื่อง

Summers มองว่า เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ จนถึงระดับที่ทำให้อัตราการว่างงานของสหรัฐไปอยู่ที่ร้อยละ 6.9 (จากปัจจุบันร้อยละ 3.5) จึงจะสามารถกดเงินเฟ้อที่มาจากค่าจ้างแรงงาน (Wage inflation) ให้ลงมาเท่าค่าเฉลี่ยในอดีตได้ (ตัวเลขจากบทความ A Labor Market View on the Risks of a U.S. Hard Landing โดย Alex Domash และ Lawrence Summers)

เศรษฐกิจสหรัฐ ปีนี้เผาหลอก ปีหน้าเผาจริง | ดอน นาครทรรพ

ในกรณีหลังนี้ เศรษฐกิจไทยจะเจอกับปัจจัยลบสองเด้ง เด้งแรกจากการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องของอัตราดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ (ซึ่งถ้าสหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อ ธนาคารกลางจำนวนมากในโลกคงขึ้นต่อด้วย ส่วนหนึ่งตามเทรนด์ Reverse currency war) และเด้งที่สองจากการถดถอยรุนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐ และเผลอๆ เศรษฐกิจโลกด้วย

ทำให้ที่หลายคน (รวมถึงผม) มองกันไว้ว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 คงลืมกันไปได้เลย ดีไม่ดี เศรษฐกิจไทยอาจถูกเศรษฐกิจสหรัฐฉุดตามไปด้วย ดังนั้น นอกจากจะภาวนาว่ากรณีเลวร้ายนี้จะไม่เกิดขึ้น คงต้องเตรียมแผนฉุกเฉินไว้รองรับกันด้วยครับ.

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย