อินเดียกำลังมุ่งหน้าสู่ “New India” ภายใน ค.ศ. 2022 (ตอน 1)
เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2560 นายนเรนทรา โมดี เคยประกาศในคำปราศรัยโอกาสวันครบรอบเอกราช (Independence Day) ว่าจะสร้างอินเดียใหม่
หรือ New India ภายใน ค.ศ. 2022 ซึ่งเป็นปีที่อินเดียจะครบรอบ 75 ปีแห่งการประกาศเอกราช
เวลาผ่านไป 1 ปี รัฐบาลได้มอบหมายให้สถาบัน National Institution for Transforming India - NITI Aayog (เทียบได้กับ สศช. ของไทย) เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ตามวิสัยทัศน์ ดังกล่าว โดยเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2561 สถาบัน NITI Aayog ได้เผยแพร่รายละเอียด Strategy for New India@75 ซึ่งศูนย์บริการข้อมูลธุรกิจไทย – อินเดีย ขอนำมาสรุปและวิเคราะห์ให้ทุกท่านได้รับทราบพัฒนาการที่น่าจับตามองของอินเดียในครั้งนี้ ดังนี้
แนวคิดและเป้าหมายที่สำคัญของ Strategy for New India@75
- ทำให้อินเดียกลายเป็น “อินเดียใหม่” ภายในปี ค.ศ. 2022 และส่งเสริมให้อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจ 5 ล้านล้านดอลลาร์ ภายในปี ค.ศ. 2030 (อินเดียมีขนาดเศรษฐกิจ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี ค.ศ. 2018)
- เน้นการพัฒนาแบบองค์รวม ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนพร้อมกับส่งเสริมความเจริญทางเศรษฐกิจ และเน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนา
- เน้นการมีส่วนร่วมของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการวางแผนยุทธศาสตร์ โดย NITI Aayog ได้ประชุมร่วมกับผู้แทนกลุ่มคนที่มีบทบาทสำคัญในสังคม 7 กลุ่มคือ นักวิทยาศาสตร์และผู้คิดค้นนวัตกรรม เกษตรกร องค์กรภาคประชาสังคม think tanks ผู้แทนภาคแรงงาน ผู้แทนสหภาพการค้า และผู้แทนภาคอุตสาหกรรม และได้หารือร่วมกับทั้งหน่วยงานในรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่น
สาระสำคัญของ Strategy for New India @ 75 ด้วยรายละเอียดกว่า 290 หน้า Strategy for New India @ 75 ได้กำหนดสาขาที่อินเดียต้องได้รับการพัฒนาไว้ 41 สาขา แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ
(1) ปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (drivers)
(2) โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure)
(3) การพัฒนาแบบองค์รวม (inclusion)
(4) ธรรมาภิบาล (governance)
โดยสามารถแจกแจงสาขาการพัฒนาและยกตัวอย่างโครงการที่น่าสนใจได้ ดังนี้
(1) กลุ่มปัจจัยที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ประกอบด้วยสาขาการพัฒนา 11 สาขา คือ (1) การกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ (2) การจ้างงานและปฏิรูประบบแรงงาน (3) การพัฒนาความสามารถทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (4) การพัฒนาอุตสาหกรรม (5-7) การเพิ่มรายได้เกษตรกรด้วยเทคโนโลยี/ ปรับปรุงนโยบายด้านการเกษตร/ สร้างโครงสร้างพื้นฐานและ value chain รองรับสินค้าเกษตร (8-9) การผนวกรวมประชาชนให้เข้ามาร่วมได้รับประโยชน์จากบริการทางการเงิน (financial inclusion) และที่อยู่อาศัย (housing for all) (10) การส่งเสริมธุรกิจด้านการท่องเที่ยว และ (11) การส่งเสริมการทำเหมืองแร่
แผนงานที่น่าสนใจ อาทิ (1) รักษาให้ GDP เติบโต 8% ในระหว่างปี ค.ศ. 2018-2023 และเพิ่มมูลค่าการลงทุนให้มีสัดส่วน 36% ของ GDP (จากเดิมคือ 29% ในปี ค.ศ. 2018) (2) เปลี่ยนเกษตรกรให้กลายเป็นผู้ประกอบการ ด้วยการปรับปรุงเทคนิคการทำการเกษตร และขยายตลาดทั้งการค้าออนไลน์และการส่งเสริมการส่งออก (3) การสร้างงานให้มากที่สุดผ่านการปรับปรุงกฎหมายและการพัฒนาฝีมือแรงงาน และ (4) การประกาศนโยบาย “Explore in India” ส่งเสริมการทำเหมืองแร่ด้วยการปรับปรุงกฎหมายให้ง่ายเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ ซึ่งจะช่วยสร้างงานจำนวนมาก (ปัจจุบันมีการทำเหมืองแร่เพียง 1.5% ของทรัพยากรที่มีทั้งหมด) เป็นต้น
(2) กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกด้านที่ช่วยส่งเสริมการทำธุรกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ประกอบด้วยสาขาการพัฒนา 11 สาขา คือ (1) พลังงาน (2) ถนน (3) การรถไฟ (4) การบิน (5) การเดินเรือ/ ท่าเรือ (6) โลจิกติกส์ (7) ความเชื่อมโยงทางดิจิตอล (8) โครงการ Smart City เพื่อพัฒนาไปสู่ชุมชนเมือง (9) ความสะอาด (10) ทรัพยากรน้ำ และ (11) การสร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืน
แผนงานที่น่าสนใจ อาทิ (1) เร่งจัดตั้งหน่วยงาน Rail Development Authority ที่จะช่วยพัฒนากลไกการยกระดับมาตรฐานการขนส่งทางราง (2) เพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางน้ำทั้งทางทะเลและการขนส่งทางน้ำภายในประเทศเด้วยการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และ (3) ส่งเสริมเครือข่ายอินเทอร์เนต Bharat Net ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ภายในปี ค.ศ. 2022 เพื่อให้ภาครัฐทุกหน่วยงานสามารถให้บริการแบบดิจิตัลได้เท่าเทียมกันแม้ในพื้นที่ห่างไกล เป็นต้น
(3) กลุ่มการพัฒนาแบบองค์รวม เน้นแก้ปัญหาที่บั่นทอนการพัฒนาศักยภาพประชาชนโดยแบ่งเป็น 12 สาขาภายใต้ 3 ประเด็นหลักคือ (3.1) การศึกษา – (1) เน้นพัฒนาการศึกษาในโรงเรียน (2) การศึกษาขั้นสูง (3) การฝึกอบรมครู (4) การพัฒนาทักษะการทำงาน (3.2) สุขภาพ – (5) เน้นพัฒนาการจัดการสาธารณสุข (6) การให้บริการทางสุขภาพขั้นพื้นฐาน (7) ทรัพยากรบุคคลในการให้บริการด้านสุขภาพ (8) การประกันสุขภาพถ้วนหน้า (9) การโภชนาการ และ (3.3) การช่วยเหลือผู้ถูกแบ่งชนชั้นสังคม โดยให้ความสำคัญกับ (10) การสร้างความเท่าเทียมทางเพศ (11) การสร้างศักดิ์ศรีให้กลุ่มคนสูงอายุ/ คนพิการ/ คนข้ามเพศ และ (12) สร้างศักยภาพให้กลุ่มคนวรรณะชั้นต่ำ/ ชนเผ่า/ ชนกลุ่มน้อย
แผนงานที่น่าสนใจ อาทิ (1) การยกระดับคุณภาพการศึกษาและการพัฒนาฝีมือแรงงานด้วยการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรมผ่านการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือ Atal Tinkering Laboratories ในโรงเรียนต่าง ๆ 10,000 แห่งทั่วประเทศภายในปี ค.ศ. 2020 (2) การสร้างศูนย์ประสานงานเพื่อการสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกลให้ครอบคลุม และความสำเร็จของอินเดียในการประกาศ นโยบายประกันสุขภาพประชาชน ของ นรม. - Pradhan Mantri Jan Arogya Abhiyaan และ (3) การให้ความสำคัญกับคนชายขอบด้วยการให้การศึกษา ปรับเปลี่ยนกฎระเบียบให้คนชายขอบได้รับการยอมรับและมีส่วนร่วม และส่งเสริมความตระหนักรู้ในสังคม เป็นต้น (อ่านตอนจบ ฉบับวันที่ 13 ก.พ.2562)
โดย...
เชษฐ์ธิดา กิตติ์ชัยวัชร์
เลขานุการเอก
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงนิวเดลี