ทางเลือกก่อนถึงวันที่อ่อนแอ
“ถ้าไม่แก่ ก็คงไม่รู้” เราคงได้ยินคำนี้บ่อยๆ จากผู้สูงอายุ
เมื่ออายุมากขึ้น ศักยภาพของร่างกายที่ธรรมชาติให้มาก็มักจะถดถอยลงไป เร็วบ้าง ช้าบ้าง มากบ้าง น้อยบ้าง ขึ้นกับแต่ละคนที่ “สะสมและล้างผลาญสุขภาพ” ของตนกันมาต่างกัน
เมื่อความอ่อนแอของสุขภาพมาเยือนจนถึงขั้นอยู่ในภาวะพึ่งพิง เราย่อมต้องการความช่วยเหลือ สังคมไทยมีวัฒนธรรมที่ลูกหลานช่วยเหลือดูแลพ่อแม่ทั้งทางด้านการเงินและด้านอื่น ๆ
เงื่อนไขหนึ่งที่สำคัญในการทำให้วัฒนธรรมนี้สืบสานได้คือ พ่อแม่มีลูกหลายคน ลูก ๆ สามารถร่วมกันแบ่งเบาการดูแลพ่อแม่ได้ แต่ปัจจุบันสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมได้เปลี่ยนไปมาก สัดส่วนคนไทยที่อยู่เป็นโสดมีมากขึ้น ผู้หญิงทำงานนอกบ้านเช่นเดียวกับชาย คู่แต่งงานมีจำนวนบุตรน้อยลง พ่อแม่มีอายุยืนขึ้น
แม้วัฒนธรรมการดูแลพ่อแม่อาจไม่ได้เปลี่ยนมากนัก แต่เงื่อนไขที่จะทำให้วัฒนธรรมนั้นถูกสืบสานต่อ เป็นเงื่อนไขที่ตรงข้ามกับเหตุการณ์ปัจจุบัน คนหนุ่มสาวจึงควรมีทางเลือกใหม่ให้แก่ตนเอง เพื่อจัดการกับความอ่อนแอที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
ถึงแม้ว่าความอ่อนแอถึงขั้นติดเตียงจะไม่เกิดขึ้นกับทุกคน แต่ก็อาจเกิดขึ้นกับญาติ หรือเพื่อนเรา หรือคนที่เรารัก ซึ่งคนเหล่านี้ย่อมต้องการความช่วยเหลือ การสร้างทางเลือกนั้นจึงควรทำเพื่อคนทุกคน
การวิจัยเรื่องระบบการดูแลระยะยาว โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยร่วมกับสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้เสนอทางเลือกสิทธิประโยชน์ของหลักประกันการดูแลระยะยาว ให้ประชากรวัย 25-60 ปี จำนวน 2,019 คน ใน 11 จังหวัดทั่วทุกภาคของประเทศไทย (รวมกรุงเทพฯ) โดยมีแนวคิดว่า คนไทยควรจะมีโอกาสตัดสินใจเลือกหรือวางแผนการเป็นอยู่ของตน ก่อนจะถึงวันที่ตนต้องอยู่ในภาวะพึ่งพิง เช่น ภาวะติดเตียงที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย หรือภาวะติดบ้านที่ต้องการความช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น อาบน้ำ แปรงฟัน เข้าห้องน้ำ หรือแม้แต่การทานอาหาร
แม้ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดูแลทุกคนที่เจ็บป่วย แต่ระบบการรักษาพยาบาลไม่ได้คุ้มครองการดูแลผู้ป่วยระยะยาวที่ต้องกลับไปรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งการดูแลคนติดเตียงให้ถูกสุขอนามัย มีค่าใช้จ่ายประมาณปีละ 230,000 บาท และการดูแลคนติดบ้าน ประมาณปีละ 120,000 บาท ถ้าเราต้องจ่ายทุกปีตั้งแต่เริ่มอยู่ในภาวะพึ่งพิงไปจนกระทั่งเสียชีวิต จะเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่น้อย ถ้าเราไม่มีเงินในกระเป๋าและไม่มีหลักประกันการดูแลระยะยาว เราก็เสี่ยงที่จะอยู่อย่างอนาถา ซึ่งทุกวันนี้ก็มีให้เห็นบ้างแล้ว
ระบบการประกันการดูแลระยะยาวที่คณะผู้วิจัยเสนอให้เลือก มีสิทธิประโยชน์ 4 ด้าน คือ
หนึ่ง การมีวัสดุอุปกรณ์ที่จำเป็นในการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน เช่น รถเข็น ไม้เท้า เบาะนอน/ที่นอนลม-น้ำ ผ้ายาง โต๊ะคร่อมเตียง ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ กระดาษชำระ สำลี และแผ่นรองซับ
สอง การมีทีมพยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการเยี่ยมบ้านให้คำแนะนำติดตามดูแลสุขภาพเดือนละ 1-2 ครั้ง
สาม การมีศูนย์บริการดูแลรายวันให้ผู้สูงอายุได้พบปะเพื่อนหรือได้เข้าสังคมบ้างเป็นบางวัน ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับบริการของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จะช่วยให้ผู้ดูแลได้พักผ่อนหรือทำธุระส่วนตัวบ้าง และ
สี่ การมีรัฐช่วยจ่ายค่าจ้างผู้ดูแล อาจจะเป็น 25% หรือ 50% ของค่าจ้างทั้งหมด
คณะวิจัยได้นำชุดสิทธิประโยชน์และราคาทั้งหมด 16 ชุดทางเลือก ไปสัมภาษณ์ และนำวิเคราะห์ทางเศรษฐมิติ พบว่า คนไทยมีรสนิยมหลายแบบ แต่สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ คนที่ชอบด้านวัสดุอุปกรณ์ข้อหนึ่ง คนที่ชอบให้รัฐช่วยจ่ายค่าจ้างผู้ดูแลข้อสี่ และคนที่ชอบสองแบบแรกพอ ๆ กัน คือมีวัสดุอุปกรณ์และมีทีมพยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแล
งานวิจัยพบอีกว่า คนไทยไม่ได้ชอบชุดสิทธิประโยชน์ที่ราคาถูกและให้ความคุ้มครองต่ำๆ เมื่อตั้งราคาประกันการดูแลระยะยาว ที่ 500 - 2,000 บาทต่อปีกับชุดสิทธิประโยชน์ 4 รูปแบบ พบว่า คน 86% เลือกที่จะซื้อประกัน และอีก 14% เลือกที่จะไม่ซื้อ ในจำนวนคนที่เลือกซื้อ มี 29% ต้องการจ่าย 500 บาทต่อปี เพื่อให้ได้ความคุ้มครองด้านที่หนึ่งและสอง คนอีก 24% ยอมจ่าย 2,000 บาท เพื่อให้ได้ความคุ้มครองครบทุกด้านและให้รัฐช่วยจ่ายค่าจ้างผู้ดูแลครึ่งหนึ่ง ส่วนที่เหลือเลือกความคุ้มครองแบบปานกลางคือคุ้มครองทุกด้าน ยกเว้นศูนย์บริการดูแลรายวัน และยินดีจ่าย 1,000-1,500 บาทต่อปี
จากการวิจัยนี้ คณะผู้วิจัยเสนอว่ารัฐควรคิดถึงการนำระบบการประกันการดูแลระยะยาวมาใช้เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคนไทยในการประกันความเสี่ยงต่อภาวะพึ่งพิงที่อาจจะเกิดกับตนเองและครอบครัวในวันที่เรามีคนในบ้านให้พึ่งพิงน้อยลงไปอีก หรือวันที่เราอาจจะต้องอยู่คนเดียวในยามสูงอายุ
ทุกวันนี้คนที่ดูแลผู้สูงอายุผู้ชายที่ติดบ้าน หรือติดเตียง มักเป็นภรรยาหรือลูกสาว ส่วนคนที่ดูแลผู้สูงอายุผู้หญิงมักเป็นลูกสาว ผู้หญิงอายุยืนกว่าผู้ชาย ผู้หญิงที่ติดเตียงกว่า 70% เป็นหม้าย
การมีการประกันการดูแลระยะยาวจึงสำคัญมาก โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง
“ถ้าไม่เป็นผู้หญิง ก็คงไม่รู้”
โดย...
รศ.ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น