ข้อควรทราบทางกฎหมายสำหรับนักรีวิวในยุค 4.0

ข้อควรทราบทางกฎหมายสำหรับนักรีวิวในยุค 4.0

การเติบโตของธุรกิจออนไลน์ในยุคสมัยใหม่ ทำให้เกิดปัญหาหลายประการตามมา

อาทิ สินค้าไม่มีคุณภาพ ต่ำกว่าที่โฆษณาไว้ทางออนไลน์ รับสินค้าไม่ตรงกับที่สั่งซื้อ โดยเฉพาะการโฆษณาเกินจริง หลอกลวงผู้บริโภคสื่อออนไลน์ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม จนกลายเป็นปัญหาร้องเรียนยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค 

จากสถิติของกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณา ในปีงบประมาณ 2555 ถึงปัจจุบัน พบแนวโน้มการตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการ โดยอาศัยข้อมูลทางออนไลน์มีปัญหาในหลายประเด็น เช่น ใช้ข้อความและรูปภาพโฆษณาชวนเชื่อที่เกินความจริงใช้ข้อความที่โน้มน้าวจิตใจโดยไม่ได้มีการทดลองใช้สินค้าหรือบริการอย่างแท้จริง หรือบางครั้งใช้รูปภาพประกอบที่ไม่เหมาะสม

การโฆษณาส่งเสริมการขายในปัจจุบันได้ถูกพัฒนาไปในหลากหลายรูปแบบ และเข้าถึงได้ง่าย แต่หากข้อมูลที่ผู้บริโภคได้รับเหล่านั้นไม่เพียงพอ บิดเบือน มีข้อผิดพลาด กระทำในลักษณะที่เป็นเท็จ เกินจริง หรือหลอกลวงจนผู้บริโภคสำคัญผิดย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรม อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคในแง่สุขภาพ ความปลอดภัยและสุขภาพจิตอีกด้วย 

ในปัจจุบันยังคงปรากฏการรับจ้างโฆษณาสินค้าและบริการที่ฝ่าฝืนกฎหมายควบคุมการโฆษณาผลิตภัณฑ์และบริการอยู่เป็นจำนวนไม่น้อย การแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องอาศัยการบูรณาการความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ผู้ประกอบการ ผู้ทำหน้าที่สื่อและผู้บริโภค ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์จากการโฆษณาและส่งเสริมการขายอย่างมีมาตรฐานและมีความปลอดภัย

นอกเหนือนี้ การทราบบทบาทผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้บริโภคกับผู้ผลิตหรือเจ้าของสินค้า (Reviewer) ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นและมีความสำคัญอย่างยิ่ง การโฆษณาที่แพร่หลายในรูปแบบของการวิจารณ์สินค้าและบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตโดยแฝงว่าเป็นการโฆษณาและแสดงตนเองเป็นผู้บริโภค ส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความสับสนและหลงผิดในสถานะของผู้วิจารณ์และเข้าใจว่าการนำเสนอดังกล่าวไม่ใช่การโฆษณา ถือได้ว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค เนื่องจากเป็นการโฆษณาจูงใจด้วยวิธีที่บิดเบือนต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าหรือบริการของผู้บริโภค อีกทั้งยังเป็นการกระทำทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งส่งผลเสียหายต่อผู้ประกอบธุรกิจอื่นเป็นลูกโซ่โดยต่อเนื่องกัน

กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคด้านโฆษณาของไทยนั้นยังไม่มีบทบัญญัติครอบคลุมถึงการโฆษณาที่แฝงมาในรูปของการวิจารณ์สินค้าและบริการผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเพื่อจูงใจผู้บริโภคไว้อย่างชัดเจน ทำให้เกิดความแพร่หลายของการทำโฆษณาในลักษณะดังกล่าวที่กระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค และยังส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นจากการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวซึ่งอาจเข้าข่ายเป็นการแข่งขันทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม

 อีกทั้งกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าของไทย ยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับรูปแบบพฤติกรรมทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ทั้งนี้รูปแบบพฤติกรรมซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า จัดทำไว้ยังไม่มีรูปแบบใดที่สามารถนำมาปรับใช้กับการโฆษณาในลักษณะดังกล่าวได้ รวมถึงรูปแบบที่จัดทำไว้นั้นยังคงไม่มีสถานะในทางกฎหมายที่อาจบังคับใช้หรือกำหนดบทลงโทษได้ (Soft Law) ในขณะที่กฎหมายของสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสาธารณรัฐสิงคโปร์ กำหนดว่าการโฆษณาโดยวิธีใด ๆ ที่ไม่ชี้แจงว่าเป็นการโฆษณาและการโฆษณาที่แสดงตนเองเป็นผู้บริโภคถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภคและเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยกฎหมายของกลุ่มประเทศดังกล่าวยังถือว่าการโฆษณาดังกล่าวเป็นรูปแบบการโฆษณาไม่เป็นธรรมต่อผู้ประกอบธุรกิจอื่นอีกด้วย

ทั้งนี้ผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางควรศึกษาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับบทบาทหน้าที่ของตนให้เข้าใจอย่างถ่องแท้ ตลอดจนมีจิตสำนึกในการรับผิดชอบโดยยึดเอาความสุจริตเป็นที่ตั้ง ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเฝ้าระวังร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดผลร้ายต่อสังคมและความเสียหายแก่ผู้ประกอบการรวมถึงผู้บริโภคด้วย และควรมีระบบการควบคุมกันเองโดยองค์กรวิชาชีพเช่น สมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทยหรืออื่น ๆ ควรเข้ามามีบทบาทในการกำกับดูแลเพื่อร่วมกันพิจารณากลั่นกรองความเหมาะสมของการโฆษณาก่อนที่จะมีการส่งชิ้นงานโฆษณาสู่การพิจารณาของภาครัฐ หรือก่อนที่จะนำโฆษณาออกเผยแพร่สู่สาธารณชน

สิทธิในการได้รับข้อมูลข่าวสารจึงเป็นกลไกในการช่วยชดเชยข้อเสียเปรียบในแง่ความรู้ที่ผู้บริโภคมีต่อผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ชักจูงผู้บริโภคให้สละสิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภคและปราศจากการชักจูงอันไม่เป็นธรรม คำนึงถึงความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ (Right to Safety) จากการโฆษณาหรือถ่ายทอดของตน ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือด้วยความระมัดระวังตามสภาพของสินค้าหรือบริการนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางควรได้ผ่านการทดลองใช้สินค้าหรือบริการนั้น ๆ อย่างแท้จริงก่อนทำการแนะนำหรือวิจารณ์สินค้าหรือบริการดังกล่าว.

โดย...

ดร.ณัชชา สุขะวัธนกุล

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์