จิตวิทยาเด็ก ในโลกแห่งการแข่งขัน
เป็นที่น่ายินดีกับเยาวชนของเรากับ 4 เหรียญทอง 2 เหรียญเงิน 9 เหรียญทองแดง แข่งขันคณิตศาสตร์โลก ระดับประถม ในเวที PMWC 2019 ล่าสุดที่ฮ่องกง
แสดงให้เห็นว่าในเชิงวิชาการแล้ว เยาวชนของเราไม่ได้หย่อนไปกว่าชาติใด ซึ่งในปัจจุบันนี้มีการแข่งขันมากมาย ทั้งในเชิงวิชาการอย่างคณิตศาสตร์โลก วิทยาศาสตร์โอลิมปิก ในเชิงศิลปะและดนตรี และในเชิงกีฬา ทั้งกอล์ฟ ฮอกกี้
สังคมปัจจุบันคือโลกแห่งการแข่งขัน เพื่อเป็นที่ยอมรับ เพื่อเป็นที่หนึ่ง สัจธรรมในการแข่งขันต้องนั้นมีทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ ในฐานะของพ่อแม่ผู้ปกครองที่รักลูกของเรา จึงสมควรพิจารณาให้ถี่ถ้วนถึงวัยของเด็กและผลที่จะตามมาหลังจากการแข่งขัน
วันนี้ ผมจะยกตัวอย่างงานวิจัยของมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐที่ศึกษาเรื่องจิตวิทยาและพัฒนาการของเด็กในโลกแห่งการแข่งขัน และการแข่งขันหรือกิจกรรมแข่งขันที่เหมาะกับเด็กในช่วงอายุที่ต่างกันเพื่อเป็นข้อมูลให้ท่านผู้อ่านพินิจพิจารณา
งานวิจัยนี้สรุปว่า การแข่งขันในระดับปานกลางมีผลในเชิงบวกกับการพัฒนาของเด็ก เด็กแต่ละคนมีบุคลิกภาพไม่เหมือนกัน บางคนชอบการแข่งขัน บางคนชอบอยู่เงียบ ๆ พัฒนาการในช่วงวัยต่าง ๆ ก็สำคัญ เช่น การแข่งขันต่างๆของเด็กมักเริ่มที่อายุ 5 ขวบ เด็กส่วนใหญ่จะทำงานเป็นทีมได้อย่างดีที่อายุ 10-11 ปีและในช่วงวัยนี้เป็นช่วงวัยที่เด็กสามารถเรียนรู้ว่าการพ่ายแพ้เป็นสัจธรรมหนึ่งของชีวิตได้
ข้อดีของการแข่งขัน คือ ส่งเสริมการพัฒนาการทักษะเฉพาะทาง การสื่อสาร รู้จักการวางเป้าหมาย ฝึกฝนการแก้ไขปัญหา รู้จักเคารพกฏกติกา ได้ลองเล่นบทบาทอื่นๆเช่นผู้นำ ผู้ตาม รู้จักการนำเสนอผลงาน การทำงานร่วมกันผู้อื่น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่เยาวชนควรจะได้รับในช่วงวัยนี้
ข้อเสียของการแข่งขันที่มากเกินไปหรือไม่สมวัย จะทำให้เด็กรู้สึกเครียด เหนื่อย ต้องเป็นที่หนึ่ง ไม่สนใจผู้อื่นและสังคม มีทัศนคติว่าการเอาชนะสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด ขาดความเชื่อมั่นในตนเอง มีความก้าวร้าว เข้ากับผู้อื่นได้ยากเป็นต้น
เด็ก 6-8 ปีนั้น ตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เป็นชิ้นชัดเจน จับต้องได้ เห็นได้ ชิมรสได้ ความสามารถการประสานงานกับผู้อื่นต่ำ ชอบเป็นจุดสนใจ มีความสนใจสั้น ๆ ดังนั้นกิจกรรมการแข่งขันที่เหมาะ ได้แก่ กิจกรรมที่กฏกติกาไม่มาก เน้นการเล่นสนุกสนาน ควรหลีกเลี่ยงการทำโทษ ควรเน้นกิจกรรมกลุ่ม ไม่ใช่แข่งขันเพื่อเป็นที่หนึ่ง แต่ควรเน้นการชนะหรือเข้าเส้นชัยเป็นทีม เช่น การแข่งกีฬาเป็นทีม
เด็ก 9-12 ปีและมากกว่านั้น เริ่มพัฒนาการเข้าสังคม อยากเอาใจคนอื่นและพยายามเป็นให้เป็นที่ยอมรับ รับผิดชอบต่อหน้าที่ได้และเคารพต่อกฏกติกา ได้รับอิทธิพลอย่างมากจากกลุ่มเพื่อน เริ่มมีเหตุผลและตรรกะและมองภาพอย่างบูรณาการมากขึ้น ช่วงวัยนี้เริ่มเหมาะกับการแข่งขันที่จะเอาชนะในฐานะปัจเจกได้ดังนั้นกิจกรรมการแข่งขันจึงเป็นได้ทั้งในรูปแบบเข้าเส้นชัยเป็นทีมหรือเดี่ยวก็ได้
คำว่า “ชัยชนะ” สำหรับเด็กในสองวัยนี้มีความแตกต่างกัน เด็กอายุน้อยกว่าสนุกกับการเล่น ขณะที่พอเริ่มโตขึ้น จะเข้าใจถึงคำว่าชัยชนะทั้งเชิงจิตวิทยา ดังนั้นยิ่งโต ยิ่งอยากเอาชนะ
การสอนให้เด็กโฟกัสในการแข่งขัน กีฬาหรือสิ่งที่ได้เรียนรู้จะช่วยต่อยอดมากกว่าการโฟกัสที่ผลแพ้ชนะ งานวิจัยยังยกตัวอย่างถึงกลุ่มเด็กที่โฟกัสที่ผลแพ้ชนะที่มีแนวโน้มเลิกเล่นกีฬาหรือการแข่งขันนั้น ๆ ไม่นานเมื่อแพ้
เป็นการบ้านที่น่าคิดของพ่อแม่ถึงช่วงวัยที่เหมาะสมของลูกในการส่งเข้าแข่งขันรายการต่างๆ และความคาดหวังต่อชัยชนะ ตลอดจนสิ่งที่ได้เรียนรู้จากเกมกีฬาการแข่งขันนั้นๆว่าสำคัญต่อพัฒนาการของเด็กมากกว่าคำว่า ชัยชนะ