วิกฤติเศรษฐกิจแบบปี 2540 จะซ้ำรอยหรือไม่??? (จบ)
ต่อเนื่องจากบทความตอนที่แล้ว กับ 5 ข้อสังเกตเกี่ยวกับวิกฤติต้มยำกุ้งที่ได้นำมาเรียบเรียงนำเสนออีกครั้งหนึ่งให้กับ แฟนคอลัมน์ “พลวัตเศรษฐกิจ"
6.ในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ก่อนปี พ.ศ. 2540 ทางการไทย (รัฐบาลไทย กระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทยและหน่วยงาน ทางเศรษฐกิจต่างๆของภาครัฐ) ไม่สามารถใช้มาตรการต่างๆหยุดยั้งภาวะฟองสบู่และการขยายตัวอย่างร้อนแรงของอุปสงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น นโยบายการคลังที่เข้มงวดและเกินดุลมากพอที่จะลบล้างความร้อนแรงของเงินทุนไหลเข้าไม่ได้เกิดขึ้น นโยบายการเงินเข้มงวดโดยปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยสูงไม่ได้ช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้นมากนัก นโยบายเพิ่มทุนสำรองและกีดกันการนำเข้าของเงินกู้ระยะสั้นมีการดำเนินแต่ไม่เพียงพอ ไม่มีการปรับระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้มีความยืดหยุ่นมากพอ
7.มีการโจมตีและการเก็งกำไรค่าเงินโดยกองทุนเก็งกำไรและนักลงทุนช่วงก่อนวิกฤติปี 40 มีพฤติกรรมการโจมตีค่าเงินในประเทศอ่อนแอทางเศรษฐกิจ ทำให้ค่าเงินของหลายประเทศรวมทั้งเงินบาทของไทยแข็งค่าเกินปัจจัยพื้นฐาน เช่น การโจมตีค่าเงินในสหภาพยุโรป ปี 2535 และเม็กซิโก 2537 ประเทศที่มีระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่ยืดหยุ่นจะมีแนวโน้มที่ถูกโจมตีมากกว่าประเทศอื่นๆ (IMF Research Department Staff (1997)) นอกจากนี้วิกฤติในเม็กซิโก ส่งผลให้นักลงทุนมีความกังวลใจกับเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ที่มีปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดและมีแนวโน้มว่าจะมีการลดค่าเงิน ซึ่งนักลงทุน นักเก็งกำไร เริ่มเห็นโอกาสสร้างผลกำไรขณะที่ด้านกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย รัฐบาลพยายามลดความรุนแรงของปัญหาดุลบัญชีเดินสะพัดและภาวะฟองสบู่ กิจกรรมเก็งกำไรแต่ไม่เป็นผลนัก เงินกู้ต่างประเทศระยะสั้นของภาคเอกชนยังคงเพิ่มขึ้น ปัญหาหนี้เสียสถาบันการเงินอันเนื่องมาจากอสังหาริมทรัพย์และกิจกรรมเก็งกำไร ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
เมื่อภาพรวมของเศรษฐกิจและความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศลดลงอย่างมาก อันดับความน่าเชื่อถือของไทยถูกปรับลดลงเงินทุนต่างประเทศเริ่มทยอยไหลออกเป็นจำนวนมากจนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท) ต้องเข้ามาแทรกแซงค่าเงินบาท
ช่วงเดือน ธ.ค.2539 มีการใช้เงินตราต่างประเทศในการแทรกแซงตลาด กว่า 4.88 พันล้านดอลลาร์ ต่อมาเมื่อมีข่าวลือการลดค่าเงินในช่วงเดือนม.ค.2540 นักลงทุน ได้เข้ามาเก็งกำไรในค่าเงินบาท ธปท. แทรกแซงตลาด 7.8 พันล้านดอลลาร์ ในช่วงต้นปี 2539 และมีฐานะเงินสำรองทางการ หักยอดคงค้างสัญญาขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า หรือทุนสำรองทางการสุทธิ เมื่อสิ้นเดือน ก.พ.จำนวน 26 พันล้านดอลลาร์ การโจมตีครั้งที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นในเดือน พ.ค.2540 การปกป้องค่าเงินบาททำให้ทุนสำรองสุทธิลดลงจากระดับ 24.2 พันล้านดอลลาร์ เป็น 2.5 พันล้านดอลลาร์ ช่วงเดือนมิ.ย.2540 เมื่อรัฐมนตรีคลังลาออก ส่งผลให้เงินทุนไหลออกนอกประเทศ ส่งผลให้ทุนสำรองสุทธิลดลง จนกระทั่งในวันที่ 2 ก.ค.2540
ในที่สุด ภายใต้แรงกดดันของตลาดการเงินระหว่างประเทศและปัญหาวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงิน รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาท เปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนเป็นระบบลอยตัวแบบมีการจัดการ (Managed Floated Exchange Rate System) โดยในวันดังกล่าวทุนสำรองสุทธิของไทยเหลือ 2.8 พันล้านดอลลาร์ สถานการณ์การโจมตีค่าเงินจะไม่เกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ ส่วนการไหลออกของเงินทุนต่างประเทศจากตลาดการเงินไทยในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจากเงินทุนไหลกลับจากการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ และ QE exit ของธนาคารกลางยุโรป
8.ก่อนวิกฤติปี 2540 ไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่ เมื่อใช้ในสภาวะที่ปล่อยให้มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนอย่างเสรีธนาคารแห่งประเทศไทยจะไม่สามารถใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดจำกัดอุปสงค์รวมได้อย่างมีประสิทธิผล เพราะเมื่ออัตราดอกเบี้ยภายในประเทศสูง ผู้ลงทุนจะหันไปกู้เงินจากต่างประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าและในช่วงเวลาดังกล่าวอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ยุโรป(อียู)และญี่ปุ่นก็ต่ำกว่าไทยมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดหนี้ต่อประเทศระยะสั้นจำนวนมาก ส่วนสถานการณ์ในปัจจุบัน มองว่าทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะปรับลดลงในช่วงครึ่งปีหลัง และ อียูอาจทำนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพิ่มเติม ทางการไทยจึงควรปรับนโยบายการเงินผ่อนคลายมากขึ้น หากทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกกลับมาเป็นขาลง
9.เศรษฐกิจไทยประสบปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วงปลายทศวรรษที่ 2530ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจ ประเทศจะสามารถขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่องได้จะต้องมีการเกินดุลบัญชีเงินทุน ในกรณีของประเทศไทยมีการเกินดุลบัญชีเงินทุนในส่วนของเงินกู้จากต่างประเทศ และเป็นหนี้ระยะสั้น ซึ่งการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อเจ้าหนี้เชื่อว่าประเทศสามารถจ่ายหนี้ได้ในอนาคต และสามารถรักษาระดับเงินทุนไหลเข้า
10.การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยหลักใหญ่แล้วเกิดขึ้นจากการใช้ปัจจัยการผลิตมากขึ้นมิใช่จากการยกระดับผลิตภาพและเทคนิคการผลิต การเพิ่มคุณภาพของปัจจัยการผลิตเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาว ดังจะเห็นได้ว่าในบรรดาประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และอิสราเอล การเพิ่มผลิตภาพรวมของปัจจัยการผลิต (Total Factor Productivity, TFP) ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของคุณภาพของปัจจัยการผลิต และการปรับปรุงเทคโนโลยีให้ดีขึ้นนั้นเป็นที่มา (Source) ของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญยิ่ง
บทเรียนทั้งหลาย จากวิกฤติปี 2540 เป็นสิ่งเตือนใจพวกเราไม่ให้ผิดพลาดซ้ำรอย และต้องตระหนักเสมอว่าพลวัตใหม่ๆ ปัจจัยใหม่ๆ จะทำให้เศรษฐกิจและสังคมไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ระบบการค้าโลกท่ามกลางสงครามการค้า ทำให้มีการยึดถือการเจรจาตกลงต่อรองกันแบบทวิภาคี แทนที่จะ ยึดหลักการที่ตกลงกันในระดับพหุภาคี (Deal-based Rather than Rule-based) ทำให้“ไทย” ต้องกลับมาคิดใหม่ในเรื่องยุทธศาสตร์และกลยุทธ์นโยบายการค้า และ ภายในเองก็ต้องรักษาวินัยทางการเงินการคลังในกระแสการผ่อนคลายทางการเงินรอบใหม่