ตัวเลขเศรษฐกิจจะค่อยๆดีขึ้น
อีกเพียงไม่กี่วันก็จะเข้าสู่ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้แล้ว โดยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาบรรยากาศการลงทุนอยู่ในภาวะที่ไม่ดีนัก
ถึงแม้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในปีนี้ยังคงอยู่ในระดับสูงกว่าสิ้นปีที่แล้ว แต่ก็เป็นเพียงการฟื้นตัวหลังจากร่วงลง 10.82% ในปี 2561 ทั้งนี้ บรรยากาศการลงทุนในปีนี้ถูกกดดันจากปัญหาความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนเป็นหลัก ซึ่งส่งผลให้การส่งออกของไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่อง กอปรกับการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลให้การส่งออกในรูปสกุลเงินบาทติดลบมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการผลิตและการจ้างงาน ในขณะที่ความกังวลเกี่ยวกับ Brexit เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดดันบบรยากาศการลงทุนในตลาดโลก
อย่างไรก็ดี ตัวเลขเศรษฐกิจทั้งของไทยและประเทศเศรษฐกิจหลักน่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากช่วงก่อนหน้านี้ แต่เป็นการปรับตัวดีขึ้นจากฐานในปีที่แล้วต่ำ และดัชนีเศรษฐกิจบางตัวอาจฟื้นตัวตามฤดูกาล กล่าวคือ ไม่ใช่การฟื้นตัวอย่างแท้จริง แต่เป็นการฟื้นตัวทางเทคนิค
ในส่วนของเศรษฐกิจไทย ตัวเลขที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจนได้แก่ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเพิ่มขึ้น 5.6% จากช่วงเดียวกันปีก่อนในเดือนสิงหาคม หลังจากเพิ่มขึ้น 4.7% ในเดือนกรกฎาคม ตามจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น 15.6% ในเดือนสิงหาคม หลังจากเพิ่มขึ้น 5.8% ในเดือนกรกฎาคม ทั้งนี้เป็นผลจากฐานต่ำ เนื่องจากเกิดเหตุเรือล่มทางภาคใต้ในเดือนกรกฎาคมในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลงอย่างมากในช่วงปลายปีที่แล้ว ในส่วนของภาคการส่งออกก็มีสัญญาณที่ดีขึ้น โดยกลับมาขยายตัวในเดือนกรกฎาคม ถึงแม้ได้แรงหนุนหลักจากการส่งออกทองคำก็ตาม เนื่องจากตัวเลขส่งออกในหลายหมวดเริ่มหดตัวน้อยลง ในขณะที่ผู้ส่งออกเริ่มปรับตัวได้ดีขึ้น และการย้ายฐานการผลิตของบางอุตสาหกรรมเริ่มช่วยหนุนการส่งออกของไทย รวมถึงผลจากฐานต่ำ และคาดว่าน่าจะเริ่มมีคำสั่งซื้อสินค้าสำหรับช่วงคริสต์มาสจากต่างประเทศเข้ามา การที่ตัวเลขเศรษฐกิจหลักเริ่มดีขึ้นน่าจะช่วยให้ความเชื่อมั่นปรับตัวขึ้น แต่แรงกดดันจากปัญหาสงครามการค้าน่าจะยังคงมีอยู่
ในส่วนของต่างประเทศ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจที่สำคัญ ของทั้งยุโรปและจีนเริ่มฟื้นตัว โดยที่ PMI ภาคการผลิตของหลายประเทศบ่งชี้ว่าภาคการผลิตกลับมาขยายตัว ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นการฟื้นตัวตามฤดูกาล จากแรงหนุนของคำสั่งซื้อสินค้าสำหรับช่วงเทศกาลคริสต์มาส ในขณะที่ผู้นำเข้าสหรัฐอาจรีบนำเข้าสินค้าจากจีนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าที่จะมีผลเต็มที่ในช่วงต้นปีหน้า
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐในภาพรวมยังคงดีอยู่ โดยตัวเลขการจ้างงานยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องช่วยหนุนให้การใช้จ่ายของผู้บบริโภคเป็นแรงขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจสหรัฐเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดดอกเบี้ยและส่งสัญญาณที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป มีส่วนช่วยหนุนความเชื่อมั่นของผู้ผลิตและผู้บริโภคให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งต่อไป
การที่ตัวเลขศรษฐกิจของหลายๆประเทศปรับตัวดีขึ้น น่าจะส่งผลดีต่อบรรยากาศการลงทุนโดยรวม ถึงแม้ในความเป็นจริงเศรษฐกิจอาจไม่ได้ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็ตาม ทั้งนี้บรรยากาศการลงทุนอาจได้แรงหนุนเพิ่มเติมจากการที่หลายประเทศมีแนวโน้มใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยตลาดคาดว่าเฟดจะประกาศลดดอกเบี้ยลงอย่างน้อยอีก 1 ครั้งในปีนี้ ธนาคารกลางยุโรปอาจประกาศลดดอกเบี้ยหรือมีมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เพิ่มเติม และจีนอาจประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นหลังจากที่ทยอยประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมาอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของไทย รัฐบาลได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไปแล้ว ในขณะที่โครงการลงทุนต่างๆของภาครัฐยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี ตลาดยังคงคาดหวังว่ารัฐบาลจะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม แต่ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงอาจส่งผลให้รัฐบาลและ ธปท. ไม่สามารถใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่
อย่างไรก็ดี สงครามการค้าเริ่มมีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น หลังสหรัฐและจีนจะกลับมาเจรจาการค้ากันอีกครั้งในเดือนตุลาคมนี้ โดยทางจีนส่งสัญญาณว่าจะนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐมากขึ้นหากสหรัฐผ่อนปรนการควบคุมการทำธุรกิจกับหัวเว่ย และชะลอการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนออกไป ในขณะที่ ภาคธุรกิจของสหรัฐเริ่มเรียกร้องให้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ยุติการทำสงครามการค้า ก็จะเป็นปัจจัยเร่งให้มีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการค้าให้เร็วขึ้น มิฉะนั้นอาจจะไม่เป็นผลดีต่อประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะลงสมัครเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในปีหน้า