ไอด้า จิด้า ริด้า นิด้า
ทุกวันนี้เราพูดถึง บิ๊กดาต้า กันเป็นปกติ และมักเปรียบเทียบว่า ข้อมูล คือทรัพยากรที่มีค่าอย่างยิ่ง
องค์กรใดมีข้อมูลมาก องค์กรนั้นก็ได้เปรียบในเชิงการแข่งขัน
รัฐบาลเอง ก็ให้ความสำคัญในการจัดระบบข้อมูล และใช้ประโยชน์จากข้อมูล เพราะแต่ละหน่วยงานของรัฐมีข้อมูลมากมาย แต่ยังมีข้อจำกัดในการโยงใยข้อมูลเหล่านั้น เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้อย่างสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม และองค์กรต่างๆของประเทศ
แต่ท่านทราบไหมว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงเห็นความสำคัญของ “ข้อมูล” ตั้งแต่เมื่อ 60 ปีที่แล้ว ครับ
อีก 9 วัน จะถึงวันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งวันนั้นจะยังไม่ถึงช่วงเวลาของ ศุกร์ เว้น ศุกร์ ฉบับต่อไป ดังนั้น ศุกร์ เว้น ศุกร์ ฉบับวันนี้ จึงขอน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ ในวิสัยทัศน์ด้าน การอุดมศึกษา และการพัฒนาประเทศ
เมื่อต้นปี 2505 นาย เดวิด ร็อคกี้เฟลเลอร์ มหาเศรษฐีชาวอเมริกัน ได้เดินทางมาประเทศไทย และได้เข้าเฝ้าพระองค์ ซึ่ง ในหลวงฯได้ทรงปรารภว่า ประเทศไทย กำลังเริ่มพัฒนา จึงควรมี “นักสถิติ” เพิ่มขึ้น และขณะนั้นไทยก็ได้เริ่มส่งบุคคลากร ไปเรียนวิชาสถิติในต่างประเทศบ้างแล้ว เพื่อกลับมาวางแผนพัฒนาประเทศอย่างเป็นระบบ
นายเดวิด ร็อคกี้เฟลเลอร์ ได้กราบทูลถวายความเห็นว่า แทนที่จะส่งนักเรียนไปเรียนต่างประเทศ ถ้าหากตั้งสถาบันขึ้นสอนภายในประเทศ น่าจะประหยัดเงินได้มากกว่า จึงได้กราบทูลว่าจะส่งนักวิชาการมาสำรวจความเป็นไปได้ในเรื่องนี้ ซึ่งในหลวงฯ ก็ทรงเห็นชอบ และโปรดให้ ม.ล. เดช สนิทวงศ์ จากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจฯ ประสานงานในเรื่องนี้
ปลายปีเดียวกันนั้น เดวิด ร้อคกี้เฟลเลอร์ ก็ได้ส่ง ดร. สเตซี่ เมย์ มาเมืองไทยเพื่อศึกษาเรื่องนี้ และต่อมา ดร. เมย์ ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว และกราบทูลว่าการจัดตั้งสถาบันแห่งใหม่ ไม่น่าจะยากนัก เพราะเราก็มีสำนักงานสถิติแห่งชาติ และวิชาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนา ก็มีการสอนอยู่ในสถาบันต่างๆอยู่บ้างแล้ว รวมทั้งองค์กรต่างประเทศก็คงจะช่วยเหลือค่าใช้จ่ายในการจัดตั้ง ได้อีกด้วย
ร่างข้อเสนอของ ดร. เมย์ ร่างแรกๆ ปรากฎชื่อของสถาบันที่จะจัดตั้งนี้ หลายชื่อด้วยกัน เช่น Institute of Development Administration (IDA) หรือ Graduate Institute of Development Administration (GIDA) และยังมีชื่อที่บ่งชี้ถึงพระราชดำริ อีกด้วย คือ Royal Institute of Development Administration (RIDA) แต่ในที่สุดก็ใช้ชื่อว่า National Institute of Development Administration (NIDA) มาจนถึงทุกวันนี้
ที่ผมจั่วหัวไว้ว่า...ไอด้า จิด้า ริด้า นิด้า... ก็มีที่มาที่ไป เช่นนี้แหละครับ
นอกจากพระราชดำริของพระองค์ฯ และการสนับสนุนและสานต่อโดย นายเดวิด ร็อคกี้เฟลเล่อร์ และ ดร. สเตซี่ เมย์ แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ก็ยังมีบุคคลที่อยู่ในหน่วยงานต่างๆ ของระบบราชการ ซึ่งมีแนวความคิดที่สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน และมีบทบาทในการเสนอให้รัฐบาล จัดตั้งสถาบันแห่งใหม่ขึ้นเช่นกัน อาทิ ศาสตราจารย์บุญชนะ อัตถากร ดร. มาลัย หุวะนันทน์ และ ดร. อำนวย วีรวรรณ เป็นต้น
นิด้า จึงถือกำเนิดขึ้นมา เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2509 โดยวิสัยทัศน์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งนับจนถึงบัดนี้นิด้าก็เข้าสู่วัย 53 ปีแล้ว และได้ผลิตบัณฑิตออกมารับใช้ประเทศชาติ จำนวนหลายหมื่นคน
ผมคิดว่า ถ้าไม่ใช่ศิษย์เก่านิด้า ก็คงมีคนไทยไม่มากนัก ที่ทราบว่า “พ่อ” เป็นผู้ทรงก่อตั้งนิด้า กระทั่งผมเองซึ่งสำเร็จจากธรรมศาสตร์ ก็เพิ่งมาทราบเรื่องนี้จากการที่ ท่านองคมนตรี ดร. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ปฎิบัติหน้าที่นายกสภาสถาบันฯ ได้เล่าให้ฟัง ในระหว่างที่พวกเรารอรับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ที่นิด้า เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา
ผมฟังแล้ว รู้สึกตื้นตันใจอย่างยิ่ง ในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 จึงได้ขออนุญาตท่านองคมนตรี ที่จะเผยแพร่เรื่องนี้ในวงกว้าง ซึ่งท่านก็ไม่ขัดข้อง พร้อมทั้งให้เจ้าหน้าที่ หาเอกสารอ้างอิงเพิ่มเติมให้ผมอีกด้วย และนั่นคือที่มาของบทความนี้
ในวันนั้น ระหว่างที่พวกเราเดินเข้าไปในอาคาร “หอประชุมเฉลิมพระเกียรติฯ” ท่านยังกรุณาพาไปชม พระบรมรูปครึ่งพระองค์ ขนาดเท่าพระองค์จริง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ฉลองพระองค์ครุยดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ พระหัตถ์ขวาพระราชทานหนังสือ ซึ่งผมและทุกคนก็ได้ถวายสักการะ เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ และเกิดความรู้สึกที่ซาบซึ้งยิ่งนัก
พิธีพระราชทานปริญญาบัตรในวันนั้น ดำเนินไปอย่างงดงามตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ สำหรับผม ความรู้สึกที่ดีมากๆก็คือ หลังจากที่ได้ขึ้นรับพระราชทานปริญญาบัตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (บริหารธุรกิจ) แล้ว ผมก็ได้ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลาย เปล่งเสียง กล่าวคำปฎิญาณ ต่อพระพักต์ของพระราชธิดา ในพระมหากษัตริย์ผู้ทรงก่อตั้งสถาบันแห่งนี้
วันนั้นจึงเป็นเหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่ง ที่ผมได้มีโอกาสรำลึกถึง พระมหากรุณาธิคุณของพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงอุทิศพระชนม์ชีพของพระองค์ เพื่อประเทศไทย และคนไทยทุกคน จนกระทั่งเราทั้งหลาย ไม่ว่าจะอยู่ในวงการใด หรือส่วนใดของสังคม ต่างก็รู้สึกคล้ายกันว่า “พ่อ” ได้ทรงสัมผัสกับชีวิตของเรา ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เสมอมา
ผมอยากจะจบเรื่องนี้ ด้วยการอ้างอิงพระบรมราโชวาทของในหลวงรัชกาลที่ 9 ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรครั้งแรก ของนิด้า เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2513 ซึ่งมีข้อความตอนหนึ่งว่า “ท่านทั้งหลายที่สำเร็จการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ เป็นผู้ที่เชื่อได้ว่ามีความรู้ความสามารถสูง จึงเป็นที่หวังของคนไทยทั้งชาติ รวมทั้งของข้าพเจ้าด้วย....”
วลีสุดท้าย “รวมทั้งของข้าพเจ้าด้วย” มีความหมายที่ลึกซึ้งและกินใจยิ่งนัก ผมคิดว่า ควรอยู่ในความทรงจำของบัณฑิตทุกคน และทุกสถาบัน ด้วย ไม่ว่าท่่านเรียนจบไปจากที่ใด เมื่อใด และปฎิบัติหน้าที่การงาน อยู่ ณ ที่แห่งใด ในภาครัฐ หรือ เอกชนก็ตาม
เพราะพระบรมราโชวาท ที่พระองค์ได้ทรงพระราชทานไว้ในวันนั้น ชัดเจนอย่างยิ่งว่า บัณฑิตทุกคนเป็น “ความหวังของพระองค์”