วิวัฒนาการของรัฐเยอรมันนี(4) ‘Hitler ถึง สงครามโลกครั้งที 2'
แน่นอน เงื่อนไขย่อมต้องมีการคืน Alsace-Lorraine ให้ฝรั่งเศส ฝ่ายพันธมิตรจะยึดครองฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไรน์ กว้าง 50 กิโลเมตรเป็นเวลา 15 ปี
และกำหนดให้เป็นเขตปลอดอาวุธถาวร หลังจากนั้น พันธมิตรจะยังคงปิดทะเลนอกชายฝั่งเยอรมันนีและกองเรือเยอรมันทั้งหมดจะถูกยึดไว้ จนกว่าจะมีการลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการ วันที่ 28 มิ.ย. 1919 เป็นวันลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพอย่างเป็นทางการ เงื่อนไขต่างๆ ยังคงเป็นไปตามเดิม เขตแดนเยอรมันนีจะกลับไปสู่ตำแหน่งเดิมตามประวัติศาสตร์ เฉพาะเขตแดนระหว่างเยอรมันนีกับโปแลนด์จะมีการกำหนดโดยประชามติของประชาชนในบริเวณนั้น
ส่วนกองเรือของเยอรมันนี 74 ลำที่จะต้องโอนให้ ฝ่ายพันธมิตรถูกลูกเรือเยอรมันจมทิ้งหมดในอ่าว Scapa Flow ของ Scotland ฝ่ายพันธมิตรกำหนด ค่าปฏิกรรมสงครามในท้ายที่สุดเหลือ $33,000 ล้าน โดยฝ่ายสหรัฐ สหราชอาณาจักร และ อิตาลี ได้ขอให้ผ่อนปรนจากที่ตั้งไว้สูงลิบลิ่วในตอนแรก ในจำนวนนี้มีการชำระจริงเกิดขึ้น $21,000 ล้าน ที่จริงแล้วค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนนี้ ไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจเยอรมันถึงกับพังพาบตามที่มักจะพูดกัน แต่ความเจ็บปวดต่อเกียรติภูมิของชาติเป็นคนละเรื่องเลยทีเดียว การเหยียบย่ำเกียรติภูมิ ยังเกิดขึ้นบ่อยๆ โดยฝรั่งเศสส่งกองทหารเข้าไปในเมืองต่างๆ โดยอ้างว่าเยอรมันนีไม่ได้ปฏิบัติตาม สัญญา
หลังจากจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจเยอรมันนีหลังสงคราม ในเดือน พ.ย.1923 ประเทศได้ฟื้นตัวอย่างรวดเร็วในระยะเวลา 6 ปีหลังจากนั้น ผู้ที่มีคุณูปการต่อเยอรมันนีในเรื่องนี้ก็คือ Gustav Stresemann นักการทูตผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในการแสวงหาความร่วมมือและความช่วยเหลือจากต่างประเทศ เรื่องใหญ่ ๆ ที่ได้ทำคือ ประการแรก Charles G. Dawes นักการเงินชาวอเมริกัน เป็นผู้ที่วางแผนการเงินให้เยอรมันนี โดยการใช้เงินกู้จากสหรัฐเพื่อแก้ไขปัญหาสภาพคล่อง จากการชำระค่าปฏิกรรมสงคราม ประการที่สองออกเงินมาร์คใหม่ เพื่อลดภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประการที่สาม Owen D. Young นักกฏหมายชาวอเมริกัน ช่วยต่อรองจำนวนเงินค่าปฏิกรรมสงครามใหม่ที่ยอมรับได้สำหรับชาวเยอรมัน
ในเดือน ม.ค.1933 Hitler กับ Papen เจรจากันจัดตั้งรัฐบาล Papen ขอให้ประธานาธิบดี Hindenburg แต่งตั้งให้ Hitler เป็นนายกรัฐมนตรีแล้วเขาจะจัดตั้งรัฐบาลที่พรรคนาซี มีเสียงส่วนน้อย ในคณะรัฐมนตรี แต่ Hitler ก็พยายามหาทางให้เลือกตั้งใหม่ในปี 1933 โดยอ้างว่าพรรคร่วมรัฐบาล ควรจะมีเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ในสภาและประสบความสำเร็จในที่สุด แม้ว่าจะใช้วิธีการรุนแรงเบื้องหลัง เมื่อ Hindenburg เสียชีวิตในวันที่ 2 ส.ค.1934 Hitler รวบ 3 ตำแหน่งไว้ด้วยกันคือ ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และผู้บัญชาการทหารสูงสุด หรือที่เรียกว่าผู้นำ หรือ Fuhrer พร้อมกับจัดประชามติให้รับรองและได้รับเสียงท่วมท้น
สิ่งสำคัญที่ Hitler ดำเนินการตามมาคือ การส่งทหารเข้าไปในเขตปลอดทหาร 50 กิโลเมตร ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไรน์ การผลิตอาวุธ และการเกณฑ์ทหาร ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายส์ แต่ไม่มีประเทศใดดำเนินการใดๆ ต่อการละเมิดนี้ อันดับถัดไป Hitler จัดตั้งจักรวรรดิเยอรมันนีเป็นครั้งที่ 2 ในปี 1938 คราวนี้รวมเอาออสเตรียด้วย ที่เคยถูก Bismarck กีดกันออกไป แต่จะเป็นไรไปในเมื่อผู้นำเป็นผู้ที่เกิดในออสเตรียและมาเป็นผู้นำในเยอรมันนี ผู้บริหารของออสเตรีย ในขณะนั้นไม่เห็นด้วย Hitler จึงต้องใช้กำลัง
ในเวลาเดียวกับที่ผนวกออสเตรีย เยอรมันนีใช้หลักการในสนธิสัญญาแวร์ซายส์ที่ต้องการให้ประชาชนตัดสินใจว่าจะอยู่กับประเทศอะไร ฝั่งตะวันตกของ Czechoslovakia หรือ Czech ในปัจจุบัน หรือ Sudetenland ในสมัยนั้นมีประชาชนที่เป็นเชื้อสายเยอรมันเป็นส่วนใหญ่ แต่กรณีของ Czech ไม่ง่ายเหมือนออสเตรีย เนื่องจากต่างประเทศเข้ามาแทรกแซงด้วย ที่สำคัญคือฝรั่งเศสมีสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันกับ Czech และสหราชอาณาจักรอยู่ข้างฝรั่งเศส Chamberlain แห่งสหราชอาณาจักร เจรจากับ Hitler และสามารถบรรลุข้อตกลงในวันที่ 30 ก.ย.1938 ซึ่งเรียกว่า Munich Agreement โดยอ้างความหวังที่จะรักษาสันติภาพและ Czechoslovakia ส่วนที่เหลือ แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม Hitler ก็ยังคงส่งทหารเข้าไปใน Czechoslovakia ในเดือน มี.ค.1939
ในวันเดียวกับ Munich Agreement โปแลนด์อ้างว่า Teschen Silesia ก็มีเชื้อสายโปลเป็นส่วนใหญ่ จึงควรจะเป็นของโปแลนด์ ส่วน Hitler ก็ต้องการระเบียงชายฝั่งบอลติคไปสู่แคว้นปรัสเซียตะวันออก ในเดือนมี.ค.1939 Chamberlain ประกาศจะช่วยโปแลนด์ในกรณีที่ Hitler บุกโดยมีฝรั่งเศสและโซเวียตเห็นด้วย ที่จริงแล้วโซเวียตไม่ได้อยากจะร่วมด้วยเท่าไหร่นัก เพราะไม่ได้อะไร Hitler ฉลาดพอที่จะยื่นข้อเสนอให้สตาลินผนวกฟินแลนด์ เอสโทเนียกับลิทัวเนีย พร้อมๆ กับการแบ่ง โปแลนด์กันคนละครึ่งกับเยอรมันนี ข้อตกลงเช่นนี้เป็นการดึงเอาโซเวียตออกจากฝ่ายพันธมิตรโดยที่ Hitler ไม่ต้องเป็นห่วงแนวรบฝั่งตะวันออกอีกต่อไป
ในวันที่ 31 ส.ค.1939 ทหารเยอรมันกลุ่มหนึ่งแต่งตัวเป็นทหารโปแลนด์ เข้าโจมตีสถานีวิทยุที่ชายแดนติดกับโปแลนด์พร้อมกับฆ่านักโทษชาวเยอรมัน เหตุการณ์นี้เป็นข้ออ้างให้ Hitler บุกโปแลนด์ทันที ทหารรัสเซียเองก็บุกเข้ามาจากฝั่งตะวันออก ข้อตกลงสัมฤทธิ์ผล อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลาที่ผ่านไป Hitler ไม่ได้ส่งสัญญาณอันตรายต่อเพื่อนบ้านอื่นๆ จนกระทั่งการบุกเดนมาร์คและนอร์เวย์สายฟ้าแลบในเดือน เม.ย. 1940 และบุกลักเซมเบิร์ก เนเธอแลนด์ และเบลเยี่ยมในเดือน พ.ค. ตามสูตรเดิมไปจนถึงปารีส เป้าหมายต่อไปของ Hitler คือ สหราชอาณาจักร Messer schmidts ของเขาต้องพบ กับ Spitfires และ Hurricanes แต่ไม่อาจเอาชนะได้ ในขณะเดียวกัน เขาสั่งให้ทิ้งระเบิดสหราชอาณาจักรทุกคืน และ U-boats ที่เติมน้ำมันจากฝรั่งเศสจมเรือของพันธมิตรมากขึ้น
จุดเปลี่ยนที่สำคัญอยู่ที่การตัดสินใจของ Hitler ในการบุกรัสเซีย หลังจากที่แนวรบด้านตะวันตกเรียบร้อยแล้ว โดยคิดว่า การรบจะจบลงอย่างรวดเร็วในลักษณะที่แตกต่างจากนโปเลียน ด้วยการเคลื่อนที่ของขบวนยานยนต์ที่เร็วกว่า จุดเปลี่ยนที่ 2 คือ การที่ญี่ปุ่นโจมตีเพิร์ลฮาเบอร์โดยไม่แพร่งพรายให้เยอรมันนีรู้แม้แต่น้อย ทั้งหมดนี้ทำให้จำนวนพันธมิตรกลายเป็น 5 ประเทศ นี่คือเรื่องยาก เมื่อการวางกำลังทหารต้องเน้นไปที่แนวรบฝั่งตะวันออก แนวรบฝั่งตะวันตกจึงต้านทานฝ่ายพันธมิตรได้ยาก เมื่อความหวังที่เหตุการณ์จะเปลี่ยนแปลงทิศทางไม่เหลืออีกแล้ว Hitler จึงยิงตัวเองเข้าที่ปาก และ Eva Braun กินยาพิษตาย
ข้อสังเกต:
1.บทความนี้กล่าวถึงเฉพาะยุทธศาสตร์ภาพรวมของเยอรมันนี โดยไม่กล่าวถึงรายละเอียดกลยุทธการรบเพื่อให้จุดสนใจอยู่ที่วิวัฒนาการของรัฐเยอรมันนีเป็นหลัก และไม่ถูกรายละเอียดชักนำให้ความเข้าใจไขว้เขวไป
2.ระบบศักดินา ทำให้ดินแดนแต่ละแห่งมีอิสระต่อกัน ทำให้ยุโรปไม่มีอาณาจักรหรือรัฐขนาดใหญ่และเกิดสงครามระหว่างอาณาจักรต่างๆ อยู่เนื่องๆ ซึ่งแตกต่างจากจีนที่ก็ใช้ระบบศักดินา แต่มีพระจักรพรรดิที่มีความสามารถเพียงพอในการรวมดินแดนต่างๆ ให้เป็นอาณาจักรขนาดใหญ่ ทำให้จีนตกอยู่ภายใต้อำนาจของประเทศโดยรอบอยู่น้อยครั้งหรือนับครั้งได้ รัฐในยุโรปจะแตกต่างกันมาก ในแง่นี้ นอกจากนี้ แต่ละราชวงศ์ในจีนมักเริ่มต้นโดยการลดภาษีให้แก่ประชาชน แต่ศักดินาในยุโรป มีแต่การกดขี่ขูดรีดจนนำไปสู่การปฏิวัติและลัทธิคอมมิวนิสต์
3.อิโต ฮิโรบุมิ หนึ่งในกลุ่มผู้นำที่ปฏิวัติโชกุน โทกุงาวะ ออกเดินทางในปี 1882 ไปดูงานรัฐธรรมนูญของประเทศตะวันตกต่างๆ เป็นที่แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญที่ได้รับการคัดเลือกคือ รัฐธรรมนูญแห่งจักรวรรดิเยอรมัน ที่คงความเผด็จการแห่ง Prussia เพราะว่ารัฐธรรมนูญประเทศอื่นๆ ล้วนแต่ไม่อำนวยให้ขยายกำลังทหารโดยไม่จำกัด
4.ระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ย่อมดีกว่าระบบเศรษฐกิจที่เล็ก แต่ถ้าระบบเศรษฐกิจที่เท่ากัน การทำให้เศรษฐกิจดีย่อมอำนวยให้ประเทศเข้มแข็งกว่า Germany Confederation เป็นตัวอย่าง
5.การแบ่งฝ่าย หรือ แย่งชิงอำนาจ หรือ ไม่เป็นปึกแผ่น ย่อมเป็นผลเสียต่อความเข้มแข็งของประเทศ Poland เป็นตัวอย่าง
6.การดำเนินการใดๆ ที่มีความเสี่ยงสูงหรือการใช้ตัวอย่างเพื่อตัดสินใจไม่ใช่แนวทางที่ดี ตัวอย่างเช่น การใช้สงคราม 7 สัปดาห์กับออสเตรียหรือฝรั่งเศส ไม่ใช่ตัวชี้ที่ดีสำหรับการตัดสินใจในสงครามโลกครั้งที่ 1 การเปิดแนวรบตะวันออกด้านรัสเซีย โดยเข้าใจว่าสถานการณ์แตกต่างจากนโปเลียนเป็นความเสี่ยงที่สูง โดยปราศจากการหาข้อมูลเพิ่มเติม อย่าลืมว่ายุทธการของเหมาเจ๋อตง ทุกครั้งมีการรวบรวมข้อมูลและ/หรือการมีไส้ศึกที่สอดรับจากฝั่งแนวรบข้าศึก โดยสายลับที่ฝังตัวล่วงหน้ามานานทั้งนั้น
7.บ่อยครั้ง การตัดสินใจของผู้นำมักจะใช้อารมณ์มากกว่าเหตุผล นี่คือปัจจัยที่นำไปสู่ความล้มเหลว