"เราไม่ทิ้งกัน” กับแรงงานนอกระบบ ถูกทิ้งไว้เบื้องหลังหรือไม่
เมื่อ 6 เม.ย. ธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจโลกไว้ชัดเจนว่า “จะทำให้เกิดภาวะถดถอย”
เนื่องจากโควิด-19 สามารถทำให้การเคลื่อนไหวทั้งคนและสินค้า “หยุดชะงัก” ไม่ว่าประเทศนั้นๆ จะเป็นมหาอำนาจ ประเทศที่ด้อยพัฒนา หรือกำลังพัฒนา
สำหรับไทยเครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจชะลอตัวหรือหยุดชะงัก เช่นการลงทุนจากต่างประเทศ การส่งออกของสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่เกี่ยวกับการระบาดของโควิด-19 การเคลื่อนย้ายของคนโดยสารการบิน ทั้งระหว่างประเทศโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวและการเดินทางภายในประเทศ
การจำกัดการเคลื่อนย้ายคนในประเทศ ทำให้ real sector ต้องลำบากทั้งการผลิตเพื่อการส่งออกและการผลิตสินค้าเพื่อการอุปโภคแทบไม่เคลื่อนไหว ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนก็ชะลอตัว คงเหลือแต่เครื่องยนต์ของรัฐเท่านั้นที่ยังทำงานได้ ภาคที่เดือดร้อนมากที่สุดอันเป็นผลจากโควิด-19 คือภาคบริการเกือบทุกประเภทที่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว ต้องหยุดชะงักไปเกือบทั้งหมด ซึ่งแน่นอนต้องกระทบแรงงานส่วนหนึ่งเป็น “มนุษย์เงินเดือน” เอกชนหรือลูกจ้างชั่วคราวของภาครัฐหลายแสนคน อีกทั้งแรงงานนอกระบบ 20.4 ล้านคนต้องได้รับผลกระทบ ทั้งทางตรงและทางอ้อมไปด้วย
มนุษย์เงินเดือน (แรงงานในระบบ) ซึ่งรัฐมีมาตรการค่อนข้างชัดเจนในการช่วยเหลือผ่านระบบประกันสังคม มากกว่า 12 ล้านคน จากกำลังแรงงานที่มีงานทำมากกว่า 38.3 ล้านคนโดยประมาณ ตัดบุคลากรภาครัฐและรัฐวิสาหกิจออกไปจะเหลือประมาณ 3.5 ล้านคน แรงงานนอกระบบ (informal worker) ประมาณ 20.4 ล้านคน หรือ 55.3% ของผู้มีงานทำไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันสังคม
แรงงานเหล่านี้ไม่มีนายจ้าง ไม่มีสัญญาจ้าง เป็นผู้ประกอบการอิสระ ไม่มีค่าจ้างที่แน่นอน ส่วนมากเป็นพวกแรงงานอิสระ “หาเช้ากินค่ำ” กลุ่มนี้มีความหวังว่ากำลังจะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐ
ซึ่งรัฐให้ความหมายกับคนกลุ่มนี้ว่าผู้ถูกกระทบจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลบังคับใช้ 26 มี.ค.2563 จะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท ตั้งแต่ เม.ย.-มิ.ย. เน้นเฉพาะ “แรงงานลูกจ้าง ลูกจ้างชั่วคราว ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีประกันสังคม”
โดยเบื้องต้นน่าจะจ่ายให้กลุ่มแรงงานนอกระบบที่ถูกกระทบ 9 ล้านคน คนละ 1.5 หมื่นบาท เป็นเงิน 1.5 แสนล้านบาท หรือ 0.89% ของมูลค่า GDP ของประเทศ หรือประมาณ 2.89% ของงบประมาณปี 2563 (5.2 ล้านล้านบาท)
เราไม่ทิ้งกัน แต่รัฐทิ้งใครไว้เบื้องหลังหรือไม่?
จากการที่มีผู้ลงทะเบียนผ่านระบบ www.เราไม่ทิ้งกัน.com มากกว่า 21.5 ล้านคน (เมื่อ 31 มี.ค.) ถ้าพิจารณาจากตารางแรงงานนอกระบบมีเพียง 20.4 ล้านคน แสดงว่าเกือบทุกคนได้ลงทะเบียนและอาจมีแรงงานบางอาชีพจากแรงงานในระบบอีกมากกว่า 1 ล้านคน (จากทั้งหมด 17 ล้านคน) มาร่วมลงทะเบียนด้วย ซึ่งอาจมีปัญหาถูกกระทบจากการปิดกิจการของนายจ้างจริง หรือไม่แน่ใจเงื่อนไขของรัฐบาล กลัวจะตกจากระบบอีก บางส่วนอยู่ในยอดรวม 21.5 ล้านคนนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม จากวิธีการตัดผู้อยู่ในข่ายได้รับเงินจาก 38 ล้านคนโดยรัฐเหลือ 3 ล้านคน
(อ้างถึงจาก “กรุงเทพธุรกิจ” ฉบับวันที่ 7 เม.ย.) จำนวนที่ถูกตัดออกคือ (ไม่มีรายละเอียดที่มาตัวเลข)
- เกษตรกร รวมทั้งสมาชิก 17 ล้านคน
- พนักงานมีรายได้ประจำ 11 ล้านคน
- อาชีพอิสระ (มาตรา 39, 40) 5 ล้านคน
- กลุ่มอื่นๆ (นักเรียน ข้าราชการ ฯลฯ) 2 ล้านคน
รวมตัดแรงงานออก 35 ล้านคน
ผู้เขียนได้นำตัวเลขคนที่ไม่อยู่ในข่ายรับเงินมาเทียบกับตัวเลขจำนวนแรงงานนอกระบบแบ่งตามสถานภาพ/อาชีพของสำนักงานสถิติแห่งชาติ มีข้อสังเกตว่า ภาครัฐอาจจะคัดออกมากเกินไป ทำให้แรงงานนอกระบบจำนวนมากไม่ได้รับสิทธิเงินช่วยเหลือ
การตัดกลุ่มอาชีพเกษตรกรโดยรัฐนั้น ถูกตัดไปถึง 17 ล้านคน ซึ่งจริงๆ แล้วจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไตรมาส 3 ปี 2563 มีเกษตรกรที่เป็นแรงงานนอกระบบมีเพียง 11.06 ล้านคน และต่อให้รวมเกษตรกรอีก 0.88 ล้านคนจากแรงงานในระบบก็มีเกษตรกรโดยรวม 11.92 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งจำนวนดังกล่าวนี้รวมหัวหน้าครัวเรือน ผู้ช่วยครัวเรือน (ไม่มีค่าจ้าง) ที่สมาชิกบางคนไปทำงานทั้งที่เป็นลูกจ้างของรัฐและเอกชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างชั่วคราวหรือไปรับจ้างเท่าที่หารายได้มาจุนเจือครอบครัว โดยจำนวนทั้งหมดนี้ต่างจากที่รัฐตัดออกมากกว่า 5 ล้านคน คำถามคือภาครัฐอาจจะคัดออกมากเกินไปหรือไม่
แรงงานนอกระบบอีกกลุ่มคือ พนักงานขายจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ไตรมาส 3 ปี 2563 ระบุว่ามีอีกเกือบ 4.6 ล้านคน กลุ่มนี้ไม่แน่ใจว่ามีรายได้ประจำมากน้อยแค่ไหน แต่ที่แน่นอนคือ ไม่เข้าข่ายได้รับการคุ้มครองทางสังคม กลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการของรัฐ ถ้ารวมพนักงานขายในระบบอีก 2.14 ล้านคน พนักงานทั้งในระบบและนอกระบบมียอดรวมเพียง 6.73 ล้านคน ยังน้อยกว่าจำนวนที่รัฐตัดออก 11 ล้านคน อีกมากกว่า 4 ล้านคนที่เสี่ยงต่อการไม่ได้รับการเยียวยา
อาชีพอิสระถ้ารวมทุกกลุ่มที่เหลือของแรงงานนอกระบบประกันสังคมจะมีอีกประมาณ 3.96 ล้านคน ไม่รวมพวกมีความเชี่ยวชาญ 0.77 ล้านคน ถ้าไปตกอยู่กับกลุ่มที่ถูกตัดออก 5 ล้านคน จะเป็นผู้ที่เสียโอกาสไม่ได้รับการชดเชย
เท่าที่กล่าวมานี้ ผู้เขียนใช้หลักฐานข้อมูลทางสถิติของรัฐและของสำนักงานสถิติแห่งชาติเท่าที่มีอยู่และหาได้เพื่อมาสังเคราะห์ผู้ที่อยู่ในเกณฑ์โชคดีก่อนเพื่อนที่จะได้รับเงินงวดแรกในสัปดาห์นี้จำนวน 3 ล้านคน และครั้งต่อไปเร็วๆ นี้อีก 6 ล้านคน แต่จากการประเมินผลของผู้เขียนพบว่าอาจมีกลุ่มแรงงานนอกระบบที่ถูกตัดออกจำนวนมากแต่อาจจะอยู่ในข่ายที่ควรได้รับการช่วยเหลืออีกเกือบ 2 ล้านคนหรือมากกว่านั้นก็เป็นได้
ข้อเสนอแนะเบื้องต้นก็คือ รัฐควรเปิดเผยรายละเอียดของการคัดกรองแรงงานที่เข้าข่ายได้รับการเยียวยาให้ประชาชนได้รับทราบโดยทั่วกันและเมื่อได้แจกจ่ายเงินไปตามเงื่อนไขของรัฐแล้ว 9 ล้านคน อาจจะต้องตรวจติดตามในระดับหมู่บ้านว่ายังมีประชาชนที่ควรจะเป็นกลุ่มเป้าหมายตกค้างอยู่อีกหรือไม่ โดยอาศัยตัวแทนของกระทรวงมหาดไทยที่อยู่ระดับหมู่บ้าน อีกทั้งอาจมีประชาชนที่เข้าข่ายไม่ได้รับความช่วยเหลืออันเนื่องมาจากไม่รับรู้ข้อมูลข่าวสารและ/หรือไม่มีขีดความสามารถจะลงทะเบียนได้ด้วยเหตุผลอื่นใด และเพื่อให้พวกเขาไม่ถูกทอดทิ้งไว้ข้างหลัง ทำให้เกิดความเป็นธรรมโดยถ้วนหน้ากัน
อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มที่ https://tdri.or.th/2020/04/remedial-measures-for-informal-workers/
โดย...
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์