ห้ามขายเหล้าเบียร์ ส่อง 'ช้าง-สิงห์' ตลาดน้ำเมาแสนล้าน?
เจ้าสัวคงยิ้ม! ห้ามขายเหล้าเบียร์ ส่อง "ช้าง-สิงห์" ตลาดน้ำเมาแสนล้าน?
คอเหล้าคอเบียร์ ชักใจคอไม่ดี!!
หลัง กรุงเทพมหานคร หรือ กทม. ประกาศคำสั่งงดขายสุราทั้งขายปลีก หรือ ขายส่ง ตั้งแต่ 10 เม.ย. - 20 เม.ย.นี้ และอีก 10 จังหวัดที่ประกาศห้ามขายเหล้าเบียร์ ก่อนหน้านี้
อย่าง สกลนคร 31 มี.ค.-16 เม.ย. , เชียงใหม่ 10-20 เม.ย. , ระยอง 3-15 เม.ย. , บุรีรัมย์ 2-30 เม.ย. , มุกดาหาร 6-30 เม.ย. , สุพรรณบุรี 4-30 เม.ย. , นครปฐม 2-30 เม.ย. , ลำพูน 1-30 เม.ย. , ชลบุรี ตั้งแต่ 6 โมงเย็น ถึง 6 โมงเช้า และ สุรินทร์ 2-30 เม.ย. เป็นต้น
ช่วงเย็น 9 เม.ย. บรรดานักดื่มเลิกจากงานต่างหากันไปซื้อหาเหล้าเบียร์ขนกลับไปกักตุน ทำให้เห็นภาพชั้นวางแผนกเครื่องดื่มมีแอลกอฮอร์ ในห้างซุปเปอร์มาเก็ต ดูว่างลงถนัดตา ซึ่งไม่ต่างจากกรณีการประกาศของ กทม. เรื่องปิดสถานที่ ห้างร้านต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 ทำให้ผู้คนแห่ไปซื้อของกินของใช้เพื่อกักตุนรองรับสถานการณ์พ.ร.ก.ฉุกเฉินและเคอร์ฟิว
ว่ากันว่า กทม.ประกาศคำสั่งครั้งที่แล้ว "เจ้าสัวยักษ์เกษตร-ค้าปลีก" ยิ้มหวาน คนแห่ซื้อของไปกักตุน ยอดขายซึมๆ มาตามกระแสเศรษฐกิจไม่ดี กลับได้อานิสงส์ระยะสั้นจากคำสั่งตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือไม่จริง?
มารอบนี้ คงถึงคิว "เจ้าสัวน้ำเมา" บ้าง? ผู้คนต่างรีบไปซื้อหาเหล้าเบียร์มากักตุนเพราะกลัวจะซื้อหาลำบาก ทำให้ยอดขายน้ำเมาดีขึ้นบ้าง แต่ความจริงจังหวัดปริมณฑล อย่าง นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร ยังไม่ได้ห้ามขายเหล้าเบียร์ เพียงแต่อาจเดินทางไกลจากบ้านอีกนิดหน่อย คงไม่ยุ่งยากนัก
พูดง่ายๆ คำสั่งห้ามขายเหล้าเบียร์ กระตุ้นคอเหล้าคอเบียร์ต้องตัดสินใจซื้อมากักตุนก่อนจะหาซื้อยากขึ้นเท่านั้นเอง หรือไม่จริง
พอพูดถึง "ตลาดเหล้าเบียร์มูลค่า 2 แสนล้าน" ที่มี "บิ๊กเนม" อย่าง "ช้าง-สิงห์" ครองตลาด
น่าสนใจว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ที่มีปริมาณการบริโภคและมูลค่าตลาดสูงสุด คือ เบียร์ สัดส่วน 72.2% ของปริมาณการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหมด ตามด้วย สุรา
ในเชิงมูลค่า ตลาดเบียร์มีสัดส่วนมูลค่า 54.0% จากมูลค่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รวม ตามด้วยสุรามีสัดส่วน 45.0%
อุตสาหกรรมเบียร์ ตลาดในประเทศ ถูกควบคุมโดยผู้ผลิตรายใหญ่ 2 ราย คือ บจก.บุญรอดบริวเวอรี่ อาทิ แบรนด์ สิงห์, ลีโอ, U Beer และ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ อาทิ แบรนด์ ช้าง, อาชา, เฟดเดอร์บรอย กล่าวกันว่า ทั้งสองรายมีส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 93% ของปริมาณจ้าหน่ายเบียร์ในประเทศ
อุตสาหกรรมสุรา ตลาดถูกผูกขาด บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ จึงครองส่วนแบ่งตลาดสูงสุดถึงกว่า 80% มีความพร้อมด้านเงินทุน ศักยภาพในการผลิต และมีอำนาจทางการตลาดสูง
มีโรงงานสุราในเครือ 18 โรง และมีบริษัทในเครือน้าเข้าสุราเข้ามาจ้าหน่าย ปัจจุบัน บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ มีผลิตภัณฑ์สุรา ทุกระดับกว่า 30 แบรนด์ อาทิ 1. สุราขาว - แบรนด์ รวงข้าว, ไผ่ทอง, นิยมไทย, เสือขาว, หมีขาว, มังกรท่าจีน, ไชยา, เจ้าพระยา, พญานาค, พญาเสือ, บางยี่ขัน 2.สุราสี - แบรนด์ แม่โขง, หงส์ทอง, มังกรทอง, แสงโสม, BLEND, CROWN99 และ3.สุราผสม- แบรนด์ เสือด้า, เชียงชุน
นี่เป็นข้อมูลคร่าวๆ ราวสามปีที่แล้ว ซึ่งคงไม่ต้องสาธยายต่อว่า กำไรน้ำเมาของธุรกิจผลิตเหล้าเบียร์ "ช้าง-สิงห์" แต่ละปี จะกี่พันล้านกี่หมื่นล้าน คงไปหาคำตอบได้
ทั้งนี้ ที่กล่าวข้างต้น เพียงเพราะเห็นจาก "ปรากฎการณ์" จึงอยากสะท้อน "สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่" !!