รัฐบาลใจถึงอนุมัติ Google Tax
สองสัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีเหตุการณ์ไม่คาดฝันเมื่อครม.ได้เห็นชอบร่างพ.ร.บ.การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศ
เป็นสิ่งที่ถูกเรียกร้องมานานจากผู้ประกอบธุรกิจดิจิทัลภายในประเทศเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับการแข่งขันและเป็นการนำผู้ประกอบธุรกิจดิจิทัลที่ให้บริการจากต่างประเทศมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกฎหมายไทยหลังจากที่ได้กอบโกยกำไรอย่างมหาศาลจากประเทศไทยโดยที่สามารถหลบเลี่ยงการเสียภาษีหรือการถูกกำกับดูแลจากกฎหมายอื่นๆของประเทศไทยมากว่าทศวรรษหนึ่งแล้ว
ภาษีดิจิทัลของไทยเป็นหนึ่งในรูปแบบของ“ภาษีกูเกิล” (Google Tax) ที่ถูกออกแบบขึ้นเพื่อจัดเก็บภาษีจากธุรกิจดิจิทัลข้ามชาติที่กอบโกยกำไรอย่างมหาศาลและสามารถหลบเลี่ยงการเสียภาษีหรือการถูกกำกับดูแลอื่นๆอันเนื่องมาจากการที่ไร้ซึ่งตัวตนในประเทศนั้นๆเพราะการจดทะเบียนนิติบุคคลการติดตั้งเซอร์เวอร์หรือกระทั่งการจ้างพนักงานในตำแหน่งที่สำคัญล้วนเป็นนิติกรรมในต่างประเทศจึงอยู่นอกอำนาจอธิปไตยของประเทศที่ถูกใช้เป็นตลาด
Google Tax เป็นแนวคิดที่ริเริ่มขึ้นในประเทศอังกฤษซึ่งต่อมากว่าสิบประเทศทั่วโลกก็ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้อย่างประสบความสำเร็จเช่น อิตาลีออสเตรีย ฝรั่งเศส อินโดนีเซีย และอีกกว่าสิบประเทศทั่วโลกกำลังวางแผนที่จะนำแนวคิดดังกล่าวมาใช้ เช่น แคนาดาอิสราเอลสเปนเป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ก็มีข่าวคราวของการข่มขู่โดยรัฐบาลของสหรัฐถึงเหล่าประเทศที่ริอ่านจะเก็บ Google Tax โดยจะนำไปสู่สงครามการค้าหรือการตอบโต้ในรูปแบบอื่นๆต่อไป
ดังนั้นไทยไม่ใช่ประเทศแรกอย่างแน่นอนที่จะเก็บภาษีดิจิทัลจากผู้ให้บริการออนไลน์ต่างประเทศ
แต่ความยุ่งเหยิงภายในประเทศสหรัฐเนื่องมาจากโควิด-19และการประท้วงเรื่องสีผิวอาจมีส่วนช่วยให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านออกมาได้ถึงขั้นตอนนี้เพราะการโหมกระแสของกลุ่มผู้ปกป้องผลประโยชน์ได้บางตาลงไปมาก
อย่างไรก็ดี ร่างกฎหมายนี้ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนและหากสหรัฐสามารถควบคุมปัญหาภายในประเทศได้ก็อาจมีผลต่ออนาคตของร่างกฎหมายฉบับนี้รวมทั้งสหรัฐก็ยังมีเครื่องมืออีกมากที่จะใช้ในการต่อรองกับรัฐบาลของไทย
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีอีกหลายสิบประเทศที่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีจากธุรกิจดิจิทัลต่างประเทศเช่นเดียวกับของไทย แต่อย่างไรก็ตามการเมืองระหว่างประเทศเป็นเรื่องของอำนาจต่อรอง20ประเทศก็สามารถแพ้ประเทศเดียวได้หากประเทศนั้นเป็นอภิมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก
ในอีกแง่มุมหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้กันคือไทยยังคงต้องพึ่งพาบริการของธุรกิจดิจิทัลจากต่างประเทศและยังไม่มีผู้ให้บริการที่มีความแข็งแกร่งเป็นของตัวเองหากธุรกิจต่างประเทศเหล่านี้พร้อมใจกันเลิกให้บริการเข้ามาในประเทศไทยก็ต้องถือเป็นจุดสิ้นสุดของระบบดิจิทัลในประเทศเช่นกัน