เยาวชนว่างงาน-นอกการศึกษา ปัญหายิ่งน่าห่วงช่วงโควิด-19

เยาวชนว่างงาน-นอกการศึกษา ปัญหายิ่งน่าห่วงช่วงโควิด-19

การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม การคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า

จีดีพีของไทยในปีนี้ น่าจะติดลบร้อยละ 8.1 และอัตราว่างงานพุ่ง 8-12 เท่าสูงสุดในรอบ 20 ปี  ซึ่งเป็นความท้าทายที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน หนึ่งในกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ เยาวชน โดยเฉพาะ นักศึกษาจบใหม่ นักเรียน และเด็กด้อยโอกาส ซึ่งผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้พวกเขามีโอกาสมีงานทำน้อยลง เสี่ยงต่อการหลุดออกนอกระบบการศึกษา และมีแนวโน้มตกลงสู่ความยากจนมากขึ้นในที่สุด

 

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่า ผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้อัตราการว่างงานจะสูงถึงร้อยละ 3 ถึง 4 จากเดิมเฉลี่ยร้อยละ 1 ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าแรงงานเยาวชนไทยจะประสบปัญหาการว่างงานรุนแรงกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากโดยปกติแล้วเยาวชนไทยมีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 5 หรือ เกือบ 5 เท่าของแรงงานผู้ใหญ่  เนื่องจากตำแหน่งงานหดตัวไปมากอันเป็นผลจากการระบาดของ โควิด-19 จนไม่พอรองรับบัณฑิตจบใหม่ในปีนี้ บัณฑิตจบใหม่ที่ว่างงานจากที่สะสมในปีก่อนๆ มีมากกว่า 5 แสนคน และคาดว่าจะมีปริมาณสะสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนกว่าภาวะเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติ

 

วิกฤตโควิด-19 ทำให้ปัญหาเยาวชนกลุ่ม NEET ยิ่งน่าเป็นห่วง

เยาวชนว่างงานและนอกระบบการศึกษา หรือ กลุ่ม NEET (Youth not in education, employment, or training) ที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO) นิยามว่า หมายถึงเยาวชนอายุ 15-24 ปี ที่ไม่อยู่ในระบบการศึกษา การจ้างงาน และการฝึกอบรม  ซึ่งในสังคมไทยยังไม่เป็นที่พูดถึงมากนัก จากข้อมูลของการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไทย กลุ่ม NEET ประกอบด้วยเยาวชนที่ 1. ทำงานบ้าน 2. อยู่ว่าง หรือ กำลังพักผ่อน 3. ยังเด็ก ป่วย พิการ จนทำงานไม่ได้ และ 4. ว่างงาน  โดยในปี 2562 ไทยมีจำนวนกลุ่ม NEET มากถึง 1.3 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 14 ของเยาวชนไทย และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีที่ร้อยละ 1 สวนทางกับจำนวนเยาวชนไทยที่ลดลงเฉลี่ยร้อยละ 1.2 ในทศวรรษที่ผ่านมา

 

ปัญหาของกลุ่ม NEET คือ การถูกละเลยจากระบบการศึกษาและการจ้างงาน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการศึกษาไทยยังไม่รองรับกลุ่มเด็กเรียนรู้ช้า (Slow Learner) และ ผู้บกพร่องในการเรียนรู้ (Learning Disabilities) ทำให้เด็กบางส่วนหลุดออกจากระบบการศึกษา ซึ่งการเรียนออนไลน์จะเป็นอุปสรรคใหม่สำหรับเด็กกลุ่มนี้ อีกทั้งกฎหมายคุ้มครองแรงงานมีส่วนที่เกี่ยวกับการใช้แรงงานเด็ก โดยได้ระบุงานที่เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ห้ามทำ แต่ไม่ได้ระบุชัดเจนว่านายจ้างสามารถจ้างเยาวชนในตำแหน่งใดได้บ้าง ทำให้นายจ้างมักหลีกเลี่ยงการจ้างงานเยาวชน

 

นอกจากนี้ยังพบว่า โดยร้อยละ 65 ของกลุ่ม NEET เป็นเพศหญิง และปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยเรียนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เยาวชนหญิงกลายเป็นกลุ่ม NEET จากสถิติพบว่า ร้อยละ 80 ของกลุ่ม NEET คือ เพศหญิงทำงานบ้าน กว่าครึ่งมีสถานภาพสมรสและสำเร็จการศึกษาเพียงระดับมัธยมศึกษา  สอดคล้องกับโครงการสํารวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติร่วมกับองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย ปี 2558-59 พบว่าร้อยละ 88 ของนักเรียนหญิงออกกลางคันด้วยสาเหตุตั้งครรภ์ในระดับมัธมศึกษาตอนปลาย

 

มาตรการเยียวยาและแก้ไขปัญหา NEET ในปัจจุบันอาจยังไม่เพียงพอ

ปัจจุบันมีโครงการจากหน่วยงานต่างๆ ที่มีส่วนช่วยบรรเทาปัญหากลุ่ม NEET เช่น กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ได้พัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information Sytem for Equitable Education: iSEE) เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่คลอบคลุมเด็กและเยาวชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสว่า 4 ล้านคน ระบบนี้สามารถระบุตัวตนนักเรียนยากจนและเด็กนอกระบบการศึกษาเพื่อจัดสรรเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไขและแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ

 

ในช่วงการระบาดของโควิด-19 กสศ.ได้จัดสรรเงินอุดหนุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือค่าอาหาร ให้นักเรียนยากจนพิเศษ จำนวน 753,997 คน ทั่วประเทศ รวมไปถึงโครงการพัฒนาระบบทดลองการพัฒนาทักษะแรงงานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสซึ่งได้ช่วยยกระดับทักษะอาชีพให้กับแรงงานมากกว่า 6,000 คน แต่ก็คาดว่ายังครอบคลุมกลุ่ม NEET ไม่ครบถ้วน

 

โครงการยุวชนสร้างชาติและโครงการย่อยอื่นๆ โดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นอีกส่วนที่ช่วยแก้ปัญหาด้วยการจ้างงานนักศึกษาทั้งที่กำลังศึกษาและสำเร็จการศึกษาแล้ว โครงการบัณฑิตอาสารองรับการจ้างงานบัณฑิตตกงานกว่า 50,000 คน เป็นเวลา 12 เดือน ตั้งแต่ปลายปี 2562 และจะขยายผลเพิ่มจำนวนการจ้างงานจากงบประมานฟื้นฟูเศรษฐกิจ อีกราว 2-3 แสนตำแหน่งงาน

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีโครงการต่างๆ ที่ช่วยบรรเทาปัญหาแต่ก็ไม่สามารถครอบคลุมกลุ่ม NEET ที่มีจำนวนล้านกว่าคนได้ ด้วยเหตุนี้รัฐบาลจำเป็นต้องทุ่มทรัพยากรมากกว่านี้ เพื่อให้เยาวชนได้รับการเยียวยาอย่างทั่วถึง เนื่องจากยังมีเยาวชนจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือและส่วนใหญ่มีฐานะยากจน

 

ปัญหาเยาวชนกลุ่ม NEET จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเร่งด่วน

เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมไม่จมปลักกับความยากจนและไร้อาชีพ จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องช่วยผลักดันให้มีศักยภาพพร้อมทำงาน และเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพของประเทศ รัฐจำเป็นต้องลดช่องว่างทางการศึกษา และสร้างโอกาสแก่เยาวชนในการพัฒนาทักษะและโอกาสในการสะสมประสบการณ์

 

ดังนั้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาเยาวชนอย่างเป็นรูปธรรม รัฐต้องจัดตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว รวมไปถึงมาตรการคุ้มครองทางสังคมเพื่อบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 หากปล่อยไว้จะเป็นปัญหาบานปลาย เยาวชนกลุ่ม NEET มีจำนวนสะสมเพิ่มขึ้น หรือ ในกรณีแย่ที่สุดอาจกลายเป็นปัญหาสังคมในระยะยาว

 

บทความนี้ได้รับการพัฒนาต่อยอดจากโครงการวิจัย “Youth Employability Scoping Study” ภายใต้การสนับสนุนขององค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย

โดย...

สิรวิชญ์ รัตนประทีปทอง

นวทัศน์ ทัศนบรรจง