ธนาคารแห่งอเมริกา (Bank of America) วาณิชธนากรรายใหญ่ของโลกได้ออกงานวิจัยเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมาว่าตั้งแต่มี.ค.แล้ว
หลังจากตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงจากภาวะโควิด-19 แล้ว ตลาดหุ้นทั่วโลกก็มีการเข้าสู่ภาวะกระทิงอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา มูลค่าตลาดของหุ้นทั่วโลกเพิ่มขึ้นชั่วโมงละ 6.2 พันล้านดอลลาร์ หรือคนรวยหุ้นขึ้น 1.86 แสนล้านบาทต่อชั่วโมง เป็นตัวเลขที่น่ากลัวมากนะครับ ยิ่งถ้าเราเจาะลึกลงไป จะเห็นว่าราคาหุ้นของธุรกิจสีเขียวเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ราคาหุ้นของ Tesla ที่ราคาสูงขึ้นกว่า 750% ในปีที่ผ่านมา และมีมูลค่าตลาดประมาณ 8 แสนล้านดอลลาร์ มากกว่าผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เกือบทุกรายรวมกัน หรือ Lucid ที่จะก้าวมาเป็นคู่แข่งของเทสลา สามารถระดมทุนผ่าน SPACs (เครื่องมือทางการเงินที่ได้เล่าให้ฟังเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา) โดยมีมูลค่าตลาดกว่า 2.4หมื่นล้านดอลลาร์ ทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ผลิตรถสักคัน
เมื่อวิเคราะห์แล้วจะเห็นว่าธุรกิจสีเขียว ไม่ว่าจะเป็นบริษัทที่ผลิตรถยนต์อีวี แบตเตอรี่ พลังงานไฮโดรเจน biotech หรือแม้กระทั่ง green bond ได้รับความสนใจอย่างล้นหลาม และล้วนมีราคาที่สูงจนนักวิเคราะห์ต้องหาวิธีการประเมินมูลค่าแบบใหม่ๆ มาอธิบาย ซึ่งก็เริ่มมีผู้เชี่ยวชาญพูดว่าเรากำลังเข้าสู่ภาวะฟองสบู่ของตลาดหุ้น (หรืออาจจะเป็นโครงการคนละครึ่ง เราชนะ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า helicopter money แบบอเมริกันสไตล์ก็ได้ โดยการแจกเงินผ่านการกำไรจากการลงทุนในหุ้น ซึ่งประชากรอเมริกันส่วนใหญ่มีพอร์ตลงทุนอยู่) แต่บ้างก็ว่านักลงทุนในตลาดหุ้นที่ถือว่าเป็นกลุ่มผู้นำที่มองไปในอนาคต ได้ให้ความสำคัญเรื่อง climate change โดยใช้กลไกตลาดทุนในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน
การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านโดยกลไกตลาดทุนเป็นวิธีที่ดี และพิสูจน์แล้วว่าได้ผลมาก แต่ขณะเดียวกัน กระบวนการสำคัญที่จัดการกับธุรกิจดั้งเดิมที่ยังปล่อยคาร์บอนยังเป็นสิ่งที่ต้องตระหนักและกำหนดกลไกต่างๆ เพื่อกำจัดสิ่งที่เรียกว่า externality ทางเศรษฐกิจ (อาจจะพูดเป็นภาษาไทยง่ายๆ ว่า คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ) ตัวอย่างง่ายๆ ก็คงจะเป็นกรณีของรถสิบล้อบรรทุกน้ำหนักเกิน ผลที่ตามมาคือ ต้นทุนการขนส่งสินค้าเราต่ำและแข่งขันได้ แต่เกิดถนนพังแล้วต้องใช้งบประมาณกลางเพื่อซ่อมบำรุงก่อนกำหนด ซึ่งค่าใช้จ่ายดังกล่าวไม่ได้รวมอยู่ในต้นทุนขนส่ง แต่เป็นภาระภาษีที่พวกเราทุกคนต้องจ่ายแทน เพราะถ้ารถบรรทุกเหล่านั้นต้องรับผิดชอบกับความเสียหายเองอาจจะไม่สามารถแข่งขันได้ ก็เป็นได้
อุตสาหกรรมหนักจำนวนมากนั้นมีรอยเท้าคาร์บอน หรือ carbon footprint ที่สูงมาก และความที่ไม่ต้องรับผิดชอบเหมือนรถบรรทุกน้ำหนักเกิน ทำให้บริษัทต่างๆ เหล่านั้น ยังมีผลประกอบการที่ดีและสามารถจ่ายปันผลกับผู้ถือหุ้นได้ ในปี 2017 World Bank ได้ให้นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล Joseph Stiglitz และ Nicolas Stern ศึกษาราคาคาร์บอนที่เหมาะสมที่จะทำให้ความตกลงปารีส Paris Accord 2 °C สามารถบรรลุผลได้ และนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองท่านได้ศึกษาโดยใช้แบบจำลองเศรษฐศาสตร์หลายๆ แบบแล้วสรุปว่า ราคาคาร์บอนที่เหมาะสมคือประมาณ 100 ดอลลาร์ต่อตันในปี 2030 ซึ่งราคาดังกล่าวคิดเป็นประมาณ 2-3 เท่าของราคาที่ซื้อขายกันในยุโรป หรือกว่าร้อยเท่าของราคาที่ซื้อขายในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีการศึกษา 29 บริษัทใหญ่ที่สุดในยุโรป ที่มีการปล่อยคาร์บอนประมาณ 965 ล้านตันในปี 2019 ว่าถ้าต้องจ่ายค่าปล่อยคาร์บอนที่ราคา 100 ดอลลาร์ต่อตัน หมายถึง EBITDA ของกลุ่มบริษัทดังกล่าวจะหายไป 9.65 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี ก็จะทำให้จากที่กำไรอยู่จะกลายเป็นขาดทุนได้ โดยการศึกษาพบอีกว่ามูลค่าตลาดของหุ้น 1,000 บริษัทแรกของโลกจะหายไปประมาณ 2.1 ล้านล้านดอลลาร์ (เป็นตัวเลขก่อนฟองสบู่ข้างบน)
กระบวนการเรียกเก็บค่าคาร์บอน (หรือจะเรียกว่า “ค่ารักษ์โลก” ก็ได้) นั้นน่าจะทำได้สองวิธีคือ การเก็บภาษี carbon tax หรือ การซื้อขายผ่านกลไก cap and trade (ระบบการค้าคาร์บอนแบบกำหนดเพดานการลดและจัดสรรสิทธิ์ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก) โดยมีประเทศเช่น นอร์เวย์ ที่มีการกำหนดมาตรการภาษีคาร์บอนที่ชัดเจน และจะขยับอัตราเพิ่มขึ้นถึง 2,000 โครน (237 ดอลลาร์) ต่อตัน ในปี 2030 (จาก 590 โครนในปัจจุบัน) ขณะที่ออสเตรเลียนั้น แม้จะมีการกำหนดอัตราภาษีคาร์บอน แต่เมื่อมีการเลือกตั้ง ก็มีการปรับเปลี่ยนและยกเลิก ซึ่งความไม่แน่นอนในเชิงนโยบายของรัฐส่งผลต่อการวางแผนธุรกิจ จึงทำให้ระบบการซื้อขายผ่านกลไก cap and trade ได้รับความนิยมมากกว่า โดยมีการออกใบรับรองสำหรับอุตสาหกรรมที่มีการลงทุนในธุรกิจสีเขียวหรือ Renewable Certificate ผ่านองค์กรที่เกี่ยวข้อง และนำมาซื้อขายเพื่อชดเชยหรือ offset การปล่อยคาร์บอนของอุตสาหกรรม การซื้อขายดังกล่าวก็จะเป็นการสนับสนุนให้มีการลงทุนทางด้านพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ผ่านกลไกตลาดทุน โดยล่าสุดประเทศจีนจะเปิดตลาดซื้อขายคาร์บอนสำหรับตลาดพลังงานภายในปีนี้ ซึ่งคาดว่าจะเป็นตลาดซื้อขายที่ใหญ่ที่สุดในโลก
การที่ราคาหุ้นในธุรกิจสีเขียวขึ้นสูงจนใกล้เป็นฟองสบู่ และเกินเลยมูลค่าพื้นฐาน นั้นอาจจะทำให้การเปลี่ยนผ่านทางพลังงานไม่ยั่งยืนและอาจจะทำให้เกิดการช็อกของระบบ ทำให้คนหมดความเชื่อมั่นถึงการเปลี่ยนผ่าน กระบวนการซื้อขายคาร์บอน ผ่านกลไกตลาดทุนจึงน่าจะเป็นวิธีการที่เหมาะสมมากกว่า โดยเป็นการที่เรียกง่ายๆว่า ผู้ใช้เป็นผู้จ่าย กล่าวคือถ้าบริษัทปล่อยคาร์บอนเยอะ ก็ต้องซื้อ certificate เยอะ ซึ่งเงินดังกล่าวก็จะทำให้การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้น และเป็นการเร่งให้ภาคเอกชนเร่งการลงทุนโดยไม่ต้องพึ่งเงินอุดหนุน subsidy จากภาครัฐ จึงทำให้การเปลี่ยนผ่านเกิดขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน และจะช่วยเร่งฟื้นฟูโลกของเราได้ครับ