ความรับผิดชอบที่มีแต่ได้กับได้
ทุกวันนี้ เรายังคงวุ่นอยู่กับเรื่องการฉีดวัคซีนโควิด-19 ว่าจะฉีดหรือไม่ฉีดดี ยี่ห้อไหนดีกว่ากัน มีผลข้างเคียงร้ายแรงมากน้อยเพียงใด หรือ ฯลฯ
เรื่องนี้ เราคงไม่มีทางได้คำตอบที่เป็นข้อยุติที่ชัดเจน เพราะมีข้อมูลมากมายที่ย้อนแย้งกันทั้งด้านวิชาการและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ที่สำคัญที่สุดในวันนี้ ก็คือ ยังไม่มีใครหรือข้อมูลใดที่สามารถทำให้ผู้คนเชื่อมั่นได้อย่างสนิทใจว่าถูกต้องน่าเชื่อถือ เรื่องนี้จึงอาจจะอยู่วังวนที่ผู้คนต้องพูดคุยกันอีกระยะหนึ่ง
แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าเรื่องที่สำคัญที่สุด ก็คือสิ่งที่เราเรียนรู้จากสถานการณ์ COVID-19 เพื่อเราจะได้ “อยู่ให้เป็น” ในอนาคตต่อไป
ว่าไปแล้ว เราได้เรียนรู้อะไรมากมายจากสถานการณ์ COVID-19 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความสำคัญของสุขภาพ การป้องกันการแพร่เชื้อ การต้องใส่หน้ากาก การรักษาระยะห่าง การล้างมือ การฆ่าเชื้อในสถานที่ทำงานและที่บ้านพักอาศัย การต้อง “อยู่บ้าน เพื่อหยุดเชื้อ เพื่อชาติ” (ซึ่งนำไปสู่การต้องให้ความสำคัญกับครอบครัวมากขึ้น และมีความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิดมากขึ้น) และอื่นๆ อีกมากมาย
ความร้ายแรงของสถานการณ์ COVID-19 ในรอบนี้ ทำให้เราเรียนรู้ถึง “ความรับผิดชอบต่อตนเองและสังคม” มากขึ้น นอกจากเราทุกคนต่างต้องดูแลรักษาสุขภาพของตนเอง เพื่อจะไม่ทำให้คนใกล้ชิดต้องติดโควิดและเดือดร้อนแล้ว เรายังต้องรับผิดชอบต่อสังคมด้วยการไม่เป็นผู้แพร่กระจายโรคโควิดให้ผู้คนเจ็บป่วยและเดือดร้อนตามไปด้วย
สถานการณ์ COVID-19 ทำให้เราเรียนรู้และตระหนักถึง “ความเสี่ยงต่อสุขภาพ” ในทุกรูปแบบมากขึ้น ต้องรู้จักหลบเลี่ยงความเสี่ยง และตรวจประเมินสุขภาพตนเองเป็นประจำ เพื่อรีบรักษาได้อย่างทันการณ์ต่อไป
และเมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เราก็จะคุ้นชินจนเป็นปกติวิสัยกับการที่ต้องยกการ์ดสูงในยุคของ “วิถีชีวิตใหม่” หรือ “New Normal” ด้วยการใส่หน้ากาก (2 ชั้น) การรักษาระยะห่าง (1-2 เมตร) การหมั่นล้างมือ โดยเฉพาะการดำรงชีวิตด้วยความรับผิดชอบต่อตนเอง และรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
องค์กรธุรกิจอุตสาหกรรมก็จะต้องปรับเปลี่ยนไปเช่นกัน คือ จะมุ่งแต่กำไรอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องหันมาให้ความสำคัญกับ “พนักงาน” ด้วยการดูแลเอาใจใส่ในเรื่องของสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานมากขึ้น เพราะการเป็นโควิดของใครคนใดคนหนึ่ง จะมีผลกระทบมากมายต่อองค์กรโดยรวม โดยเฉพาะภาพลักษ์ขององค์กร ดังนั้น ทุกองค์กรจะต้องเพิ่มความรับผิดชอบต่อสังคมในทุกรูปแบบ จึงจะอยู่รอดปลอดภัยและเติบโตต่อไปได้ในอนาคต
ตั้งแต่นี้ไป องค์กรส่วนใหญ่จึงต้องยึดเอา “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ( Sustainable development : SD ) เป็นบรรทัดฐาน คือ ต้องประกอบกิจการด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างชัดเจนและจริงจังมากขึ้น
ปัจจุบัน เรามักจะพูดถึง ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจอุตสาหกรรม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ซึ่งหมายถึง การที่ธุรกิจอุตสาหกรรมตระหนักถึงความสำคัญของการประกอบกิจการอย่างมีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการสร้างผลตอบแทนหรือผลประกอบการที่เหมาะสมในทางเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่สำคัญ คือ “การพัฒนาอย่างยั่งยืน” (Sustainable Development) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญขององค์กรว่านอกจากจะสร้างสรรค์การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (กำไร) แล้ว องค์กรยังสามารถเกื้อหนุนชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมให้พัฒนาและเติบโตควบคู่กันอยางสมดุลพร้อมๆ กันไปด้วย
ในการประกอบกิจการอย่างมีความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น องค์กรสามารถใช้ แนวความคิด และวิธีประพฤติปฏิบัติที่มีอยู่หลากหลายให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทของธุรกิจอุตสาหกรรม ปรัชญาในการทำธุรกิจและประกอบกิจการ วิสัยทัศน์ และพันธกิจ ตลอดจนค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กร อาทิ แนวความคิดในเรื่องของ Green and Clean, Creating shared value, Corporate citizenship, ESG, BCG, SDG เป็นต้น
ดังนั้น การอยู่โดยมีความรับผิดชอบร่วมกันทั้งต่อตนเองและสังคม โดยเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตนนั้น จึงเป็นเรื่องที่ “ผู้นำ” จะปฏิเสธไม่ได้อีกแล้ว และมีแต่จะต้องเพิ่มเรื่องนี้ให้ปรากฏชัดเจนมากขึ้น เพื่อจะได้รับการยอมรับทั้งจากภายในองค์กรและสังคมภายนอกอย่างยั่งยืน
การอยู่ร่วมกันด้วยความรับผิดชอบ เราทุกคนจึงมีแต่จะได้กับได้ ครับผม !