Venture Client ทางลัดนวัตกรรม
ถึงแม้การเร่งสร้างนวัตกรรม จะเป็นวาระเร่งด่วนของทุกองค์กร แต่การพัฒนาวัตกรรมส่วนใหญ่ยังคงถูกขับเคลื่อนโดยหน่วยงาน R&D กลาง ภายในองค์กรเอง
มีองค์กรเพียงส่วนน้อยที่สามารถตั้งหน่วยงานเฉพาะกิจ เพื่อโฟกัสกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ที่เฉพาะเจาะจง เช่น Ai Lab หรือ Biotech Lab ส่วนการร่วมมือกับสตาร์ทอัพเพื่อทำให้เกิดธุรกิจหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ก็ยังทำได้ไม่รวดเร็วเพียงพอ เพราะข้อจำกัดด้านโครงสร้างที่ซับซ้อนและปัญหาพื้นฐานเรื่องการบริหารงานและกระบวนการตัดสินใจภายในองค์กร ที่ทำให้การทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสตาร์ทอัพเกิดขึ้นได้ยาก
ผลสำรวจล่าสุดของ MIT และ Capgemini กับองค์กรชั้นนำกว่า 300 องค์กร ที่จัดทำในปีที่ผ่านมา ระบุว่าแหล่งการได้มาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ภายในองค์กรกำลังจะเปลี่ยนไป จากเดิมที่เกือบ 70% ของการสร้างนวัตกรรมจะมาจากหน่วยงาน R&D ภายในองค์กร ในอีก 5 ปีข้างหน้าจะลดลงเหลือแค่ 29% และนวัตกรรมที่มาจากหน่วยธุรกิจหรือ BU จะลดลงเหลือเพียงแค่ 10% เท่านั้น และเมื่อวัด % ความสำเร็จของโครงการพัฒนานวัตกรรมที่เกิดจาการหน่วยงานหลักทั้งจาก R&D กลางและจากฝั่ง BU เองปรากฏว่าอัตราส่วนของโครงการที่ประสบความสำเร็จกลับน้อยกว่าการสรรหานวัตกรรมใหม่จากแหล่งอื่น เช่นจาก Innovation Lab ที่ตั้งขึ้นมาเฉพาะกิจ หรือจาก R&D ที่มาจากภายนอก จากผลสำรวจเดียวกันนี้มีการคาดการณ์ว่าในปี 2025 แหล่งการได้มาซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ภายในองค์กรจะมาจาก Innovation Lab ถึง 70% และอีก 44% จะมาจากสตาร์ทอัพภายนอกองค์กร
ด้วย Pain Points ที่มี องค์กรจึงจำต้องใช้เม็ดเงินลงทุนในการทำ M&A เพื่อซื้อธุรกิจที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาต่อยอด รวมถึงการตั้ง Corporate Venture Capital เพื่อลงทุนและเข้าไปถือหุ้นในบริษัทสตาร์ทอัพ เพื่อเป็นพันธมิตรในเชิงกลยุทธ์ และเชื่อมต่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ตลาดใหม่หรือโมเดลธุรกิจใหม่ แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับยังไม่ตอบโจทย์ความเร่งด่วนของการสร้างนวัตกรรมเท่าไหร่นักเพราะในการตัดสินใจลงทุนมีกรอบเวลาที่ยาวนานและหลายครั้งมีความล่าช้าทำให้ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ต้องการได้อย่างทันท่วงที
โมเดลใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นและได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นทางออกที่ดีในการเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่ขององค์กร ก็คือโมเดล “Venture Client” นั่นคือองค์กรตั้งหน่วยงานที่เป็น Venture Client Unit ขึ้นมาเพื่อแสวงหาโซลูชั่นจากสตาร์ทอัพที่จะตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละหน่วยธุรกิจในองค์กร โดยหน่วยงานนี้จะเน้นไปที่การทดลองทำ Pilot Project กับสตาร์ทอัพและทดลองซื้อผลิตภัณฑ์และบริการจากสตาร์ทอัพ มาใช้งานในสเกลเล็กก่อนที่จะตัดสินใจพาร์ทเนอร์หรือลงทุนในสตาร์ทอัพ วิธีการนี้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมรถยนต์ โดย BMW เป็นรายแรกที่นำเอา Venture Client Model มาใช้จนประสบความสำเร็จกับการทำให้เกิดเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ออกมาอย่างรวดเร็วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ในหลากหลายอุตสาหกรรมอย่าง Bosch, Telefonica, BSH Home Appliances ก็หันมาใช้โมเดลนี้ในการขับเคลื่อนนวัตกรรมใหม่ภายในองค์กร
เมื่อการลงทุนไม่ตอบโจทย์การสร้างนวัตกรรมให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของตลาด องค์กรธุรกิจจำเป็นต้องหันกลับมามองโครงสร้างภายในว่าบทบาทและหน้าที่ของหน่วยงาน CVC กำลังเดินไปในทิศทางเดียวกันกับสปีดที่องค์กรต้องการหรือไม่?