ธรรมชาติของเฟคนิวส์
เฟคนิวส์ หรือข่าวปลอม เป็นคำฮิตติดปากจากสถานการณ์โควิด นักวิชาการทางด้านการจัดการและจิตวิทยาในต่างประเทศได้ศึกษาวิจัยเรื่องนี้พอสมควร
เฟคนิวส์ หรือ ข่าวปลอม ไม่ใช่เรื่องใหม่เพียงแต่สถานการณ์ความไม่แน่นอนของโรคระบาด สื่อออนไลน์ และพฤติกรรมของคนที่เปลี่ยนไป ทำให้ข่าวปลอม เพิ่ม เชื่อ และแชร์กันมากขึ้น แถมยังกระจายได้เร็วและกว้างกว่าข่าวจริงอีกด้วย นักวิชาการทางด้านการจัดการและจิตวิทยาในต่างประเทศได้ศึกษาวิจัยเรื่องของข่าวปลอมกันมาพอสมควรและพบข้อมูลที่น่าสนใจหลายประการ ซึ่งได้รวบรวมมานำเสนอในสัปดาห์นี้
ข่าวปลอม เป็นข่าวสารที่มีความตั้งใจที่จะให้คนรับสารเกิดความรู้หรือเข้าใจที่ผิดพลาดโดยมีข้อมูลที่เป็นเท็จ หรือ ความจริงบางส่วน (ที่เหลือเป็นเท็จ) หรือ การบิดเบือนความจริง อีกทั้งพยายามทำให้ข่าวปลอมดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือ โดยการอ้างอิงหรือทำเสมือนว่ามาจากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้
คำถามสำคัญคือแล้วทำไมคนถึงเชื่อในข่าวปลอม (ถึงขั้นที่บางคนเชื่อถือกว่าข่าวจริง) นักวิชาการก็ได้ให้คำอธิบายไว้ว่ามีสองสาเหตุหลัก สาเหตุแรกมาจากแนวคิดที่เรียกว่า Motivated Reasoning นั้นคือคนจะมีแรงจูงใจที่จะเชื่อในสิ่งที่ยืนยันในความคิดเห็น ความเชื่อ หรือสมมติฐานของตนเอง เช่น ถ้าบุคคลหนึ่งมีความเชื่อว่าโควิดเป็นเพียงแค่ไข้หวัดใหญ่ชนิดหนึ่ง บุคคลผู้นั้นก็จะเชื่อต่อข่าวใดๆ (ถึงแม้จะเป็นข่าวเท็จ) ที่ยืนยันความเชื่อของตนเองว่าโควิดเป็นเพียงแค่ไข้หวัดใหญ่ชนิดหนึ่งเท่านั้น
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมคนจำนวนไม่น้อยถึงได้แชร์ข่าวเท็จออกไป เพราะนอกจากการที่ข่าวดังกล่าวได้ยืนยันในความเชื่อของตนเองแล้ว การแชร์ข่าวดังกล่าวออกไปยังเป็นการแสดงถึงจุดยืนและความคิดของตนเองต่อบุคคลอื่น และถ้าไม่ใช่แค่คนๆ เดียว แต่เป็นคนหมู่มากที่แชร์ข่าวดังกล่าวออกไป ก็จะนำไปสู่ความเชื่อผิดๆ ของสังคมได้
สาเหตุที่สอง มาจากการที่คนไม่ได้มีการคิด วิเคราะห์ และพิจารณาอย่างรอบคอบก่อนที่เชื่อ หรือ แชร์สิ่งใดออกไป บางคนเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าเป็น Lazy Thinking หรือการขี้เกียจคิด สำหรับคนกลุ่มนี้ไม่ว่าข่าวเท็จดังกล่าวจะสอดคล้องกับความเชื่อของตนเองหรือไม่ แต่จากความขี้เกียจคิด เลยทำให้เชื่อและแชร์ต่อข่าวเท็จ โดยขาดการไตร่ตรองอย่างรอบคอบ ดังนั้นการรับข่าวต่างๆ ก็ไม่ต้องเน้นกันที่ความเร็ว แต่ควรจะมีเวลาที่จะหยุดคิดบ้าง ที่สำคัญคือความรู้และข้อมูลที่มีอยู่ก่อนที่จะรับข่าวดังกล่าวก็จะต้องถูกต้องด้วย เพราะถ้าความรู้เดิมนั้นบิดเบี้ยวหรือไม่ถูกต้อง การหยุดคิดก็จะไม่ช่วย
สำหรับการแชร์ข่าวปลอมนั้น โดยธรรมชาติแล้วคนก็จะแชร์ข่าวที่สอดคล้องกับความเชื่อของตน และยิ่งถ้าเป็นข่าวในด้านลบจะยิ่งแชร์กันได้ง่ายและเร็วกว่าข่าวดี การมีความรู้สึกหรือความเชื่อในด้านลบต่อบุคคล หน่วยงาน หรือ นโยบายใดก็ตาม ก็จะยิ่งทำให้มีโอกาสที่จะแชร์ข่าวปลอมเกี่ยวกับด้านลบของบุคคล หน่วยงาน หรือ นโยบายดังกล่าวให้กระจายออกไปได้ง่ายและมากขึ้น เรียกง่ายๆ ว่ายิ่งถ้ามีอารมณ์ในด้านลบ (หรือความรู้สึกที่ไม่ดี) เกี่ยวกับเรื่องหรือบุคคลใด โอกาสที่จะเชื่อและแชร์ข่าวปลอมก็จะยิ่งมากขึ้น
มีงานวิจัยที่พบว่านอกจากปัจจัยในเรื่องความเชื่อส่วนบุคคลแล้ว คุณลักษณะและบุคลิกภาพของบุคคลยังส่งผลต่อการเชื่อในข่าวปลอม ผู้ที่เสี่ยงต่อการเชื่อข่าวปลอมได้ง่ายจะเป็นผู้ที่ไม่ชอบที่จะคิดวิเคราะห์ ขาดความรู้และข้อมูลพื้นฐาน ขาดความรอบคอบและการไตร่ตรอง รวมทั้งไม่เปิดรับต่อความคิดใหม่ๆ
การทำความเข้าใจต่อธรรมชาติของข่าวปลอม จะทำให้เข้าใจได้ว่าการเชื่อและแชร์ข่าวปลอมนั้นเป็นเพียงผล แต่สาเหตุหลักมาจาก ความเชื่อ ความรู้ และข้อมูลที่มีมาก่อนที่จะได้รับรู้ข่าวปลอม การมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อบุคคลหรือเรื่องราวต่างๆ อีกทั้งการที่สามารถคิด วิเคราะห์ ไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และความพร้อมที่จะเปิดรับต่อสิ่งที่แตกต่าง จะแก้ข่าวปลอมได้นั้นไม่ใช่เพียงแค่การหยุดข่าวปลอม แต่ควรต้องเริ่มด้วยสาเหตุทั้งหลายด้วย.