รัฐบาลในฐานะผู้บริหารจัดการความเสี่ยง
ทุกครั้งที่สังคมไทยเกิดปัญหาขึ้นก็มักมีเสียงเรียกต้องให้รัฐบาลยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ หรือแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนถึงบทบาทหนึ่งที่รัฐบาลจะลืมไม่ได้เลย คือ การเป็นผู้บริหารจัดการความเสี่ยง
ในอดีต บทบาทของรัฐบาลในการรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นมักจำกัดอยู่แค่เรื่องของภัยพิบัติและโรคระบาด เมื่อไหร่มีน้ำท่วม ไฟไหม้ แผ่นดินไหว ไข้หวัดนก ก็จะเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดตั้งทีมเฉพาะกิจขึ้นมารับมือ เรื่องไหนที่เกิดขึ้นบ่อยเข้า หน่วยงานเฉพาะกิจเหล่านี้จะกลายสภาพเป็นหน่วยงานที่เป็นตัวเป็นตนอย่างเป็นทางการ เมื่อเกิดเรื่องไม่คาดฝันเหล่านี้ขึ้น ก็สามารถรับมือได้ดีในระดับหนึ่ง
หากจะมองตามความเป็นจริงแล้ว ความเสี่ยงของประเทศไทยไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องดินฟ้าอากาศและโรคระบาด ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองก็สามารถสร้างความเสียหายให้กับบ้านเมืองและประชาชนได้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราเผชิญกับมรสุมทางเศรษฐกิจและการเมืองมาสารพัด ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก การเมืองระหว่างประเทศ ราคาน้ำมันที่และอัตราแลกเปลี่ยนที่ฉุดให้ค่าครองชีพสูงขึ้นตามไปด้วย รวมถึงวิกฤติจากโควิด-19 ที่กำลังสำแดงอิทธิฤทธิ์ดันยอดคนว่างงานให้สูงขึ้นเรื่อย ๆ ทำลายความเข้มแข็งของธุรกิจ และส่งผลต่อความสัมพันธ์ภายในชุมชน
โครงสร้างการบริหารจัดการและกรอบความคิดในการบริหารที่ตั้งอยู่บนฐานคิดว่า “ความแน่นอน” เป็นเหตุการณ์ปกติส่วน “ความเสี่ยง” เป็นเหตุการณ์พิเศษ อาจไม่เหมาะสมกับโลกในวันนี้ หากไม่นำความเสี่ยงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการกำหนดแนวทางในการดูแลประเทศและประชาชน เราก็จะเห็นอาการลุกลี้ลุกลนของหน่วยงานของรัฐทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น
อาการลุกลี้ลุกลนเหล่านี้ทำให้วิธีการออกมารับมือกับปัญหาไม่เป็นระบบเท่าที่ควร แถมยังมีโอกาสก่อให้เกิดผลเสียต่อรัฐและบ้านเมืองในระยะยาว นอกจากนี้แล้ว ความเชื่อที่ว่ายังไงเสียรัฐก็ต้องเข้ามาช่วยเหลือ ใครจะทำอะไรก็เลยไม่ระมัดระวังเท่าที่ควร ถ้ายังจำกันได้ ศัพท์ยอดฮิตคำหนึ่งช่วงเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งคือ “ล้มบนฟูก” ซึ่งสะท้อนทัศนคติของสังคมว่ามองวิธีการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 อย่างไร
ไม่กี่ปีหลังจากนั้น เมื่อราคาน้ำมันเริ่มสูงขึ้น กองทุนน้ำมันเอาเงินที่มีอยู่มาพยุงราคาน้ำมัน เพราะคิดว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นเพียงพักเดียว ภาวะน้ำมันแพงนี้เป็นความผันผวนระยะสั้น คงไม่บานปลายยืดเยื้อ อดทนอีกหน่อย เดี๋ยวราคาก็ลดลงมาเอง ประกอบกับแรงกดดันจากฝ่ายการเมืองที่ไม่ต้องการเสียคะแนนนิยม เลยทำให้กองทุนน้ำมันต้องตะแบงรับภาระไปเรื่อย จนสุดท้ายก็กระเป๋าแห้ง ยกธงขาวยอมแพ้ไปตามระเบียบ มองย้อนกลับไปก็เสียดายเงินที่อุตส่าห์เก็บหอมรอมริบมาตั้งนาน
อิทธิฤทธิ์ของวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกบดบังด้วยวิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันก็ทำให้เศรษฐกิจออกอาการได้ไม่น้อย ถ้ายังจำกันได้ ช่วงนั้นสำนักงานประกันสังคมพยายามหาทางช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อน มีการแถลงว่าจะนำเงินของกองทุนราว 1 หมื่นล้านบาทมาปล่อยกู้ให้กับนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ โดยหวังว่าเงินกู้นี้จะช่วยให้ลูกจ้างที่ตกงานสามรถประคองตัวต่อไปได้ นายจ้างสามารถพยุงกิจการต่อไปได้ เป็นการลดดีกรีความรุนแรงของปัญหาการว่างงาน นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการประกันสังคมยังมีมติเอาเงินอีก 1 พันล้านไปซื้อข้าวสารแจกผู้ประกันตนซึ่งมีอยู่เกือบสิบล้านคน
คำถามก็คือ นี่เป็นหนทางที่ดีที่สุดในการรับมือกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหรือเปล่า? มีทางอื่นที่ดีกว่านี้หรือไม่ แม้ว่าจะเป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นจากความหวังดี ต้องการช่วยเหลือประชาชน แต่เงินจำนวน 1.1 หมื่นล้านไม่ใช่เงินน้อยๆ การจะใช้เงินมากขนาดมีเหตุผลมารองรับที่เพียงพอหรือไม่
ตัวอย่างทั้งสามเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่ากรอบความคิดที่ว่าโลกนี้เป็นโลกแห่งความแน่นอน ทุกอย่างสามารถคาดการณ์ได้ อะไรที่แตกต่างไปจากเรื่องปกติเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นชั่วเพียงชั่วคราว เกิดเมื่อไหร่ก็แก้กันเป็นเรื่องๆ ไป ไม่มีการเตรียมการรับมือกับสิ่งเหล่านี้อย่างเป็นระบบ
การมองโลกแบบนี้ค้านกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเป็นรายวัน ยิ่งใช้กรอบความคิดแบบเก่ามารับมือกับโจทย์ใหม่ที่จะทยอยเข้ามา โอกาสทำพลาดยิ่งมีมากขึ้น ผลสะสมของความผิดพลาดเหล่านี้แม้เพียงเล็กน้อย หากปล่อยเอาไว้มันจะกลายเป็นดินพอกหางหมู ดีไม่ดีอาจกลายเป็นปัญหาเรื้อรังของประเทศ ต้องตามแก้กันไปอีกนาน ไหนจะต้องรับมือกับเรื่องใหม่ ไหนจะต้องตามแก้ของเก่า แบบนี้เมื่อไหร่บ้านเมืองเราจะก้าวไปข้างหน้าได้เสียที.