UN Food Systems Summit : เพื่อความมั่นคงทางอาหารโลก
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สหประชาชาติได้ประชุมสมัชชาใหญ่ (General Assembly) สมัยสามัญที่ 76 ประจำปี 2564 ซึ่งนับเป็นการประชุมระดับโลกครั้งแรกในกรอบสหประชาชาติที่ผู้นำโลกกลับมาเจอหน้ากันอีกครั้ง
การประชุมมีหลายวาระ มีการจัดประชุมในรูปแบบผสมผสาน (hybrid) แบบกายภาพ และออนไลน์
การประชุมสุดยอดผู้นำ ว่าด้วยระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit) จัดขึ้นเป็นครั้งแรกภายใต้ข้อริเริ่มของเลขาธิการสหประชาชาติ ในห้วงสัปดาห์การประชุมผู้นำ (High-Level Week) ของการประชุมสมัชชาใหญ่ฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมพลังให้ประชาชนทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์จากระบบอาหารเพื่อการฟื้นตัวจากโควิด-19
รวมทั้ง เปิดโอกาสให้ผู้นำประเทศทั่วโลกแสดงความมุ่งมั่นและนำเสนอแผนการดำเนินงานด้านการพลิกโฉมระบบอาหารเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนตลอดช่วงทศวรรษแห่งการดำเนินการอย่างจริงจัง (Decade of Action)
ในส่วนของประเทศไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงในการประชุมสุดยอดผู้นำว่าด้วยระบบอาหารโลก (UN Food Systems Summit) ย้ำเจตนารมณ์ของไทยด้านการพลิกโฉมระบบอาหารสู่ความยั่งยืนและสมดุล แสดงวิสัยทัศน์ของไทย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในการพลิกโฉมระบบอาหารตามนโยบาย 3S
“นายกรัฐมนตรีเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมกันพลิกโฉมระบบอาหารสู่ความยั่งยืนและความสมดุลในทุกมิติ เสริมสร้างความมั่นคงทางอาหาร และส่งเสริมให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ”
นายกรัฐมนตรี ให้คำมั่นว่ารัฐบาลไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ทั้งภายในและระหว่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อพลิกโฉมระบบอาหารโลกสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้แสดงวิสัยทัศน์ของไทย “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ในการพลิกโฉมระบบอาหารตามนโยบาย 3S ที่ให้ความสำคัญ ได้แก่
1.ความปลอดภัยทางอาหาร (Safety)
2.ความมั่นคงทางอาหาร (Security)
และ 3.ความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและนิเวศการเกษตร (Sustainability)
ตลอดจนการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model: BCG Model) เพื่อการเติบโตที่ยั่งยืน สมดุล และทั่วถึง โดยได้น้อมรับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเข็มทิศนำทางสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ยุทธศาสตร์ BCG ทั้ง 4 ด้านยังเกี่ยวโยงกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ในไทย โดยมีมูลค่า 3.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 21% ของ GDP และมีการจ้างงานรวม 16.5 ล้านคน หรือประมาณครึ่งหนึ่งของแรงงานทั้งประเทศ อีกทั้ง ยุทธศาสตร์ BCG ยังครอบคลุมการพัฒนาอุตสาหกรรม 4 ด้านด้วยกัน
ในด้านการเกษตรและอาหาร การปรับโครงสร้างการผลิตสินค้าเกษตรส่งผลให้มูลค่า GDP เพิ่มขึ้นเป็น 1.7 ล้านล้านบาท โดยเพิ่มความหลากหลายของผลผลิต และนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้จัดการระบบต่าง ๆ อาทิ วิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภค เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด ลดของเหลือทิ้ง และลดการบุกรุกป่า เนื่องจากมีการจัดการพื้นที่ทำเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ ยังนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในระบบการผลิตเพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย มีความหลากหลาย ได้รับการยอมรับในระดับสากล และคำนึงถึงความยั่งยืนด้วย
ขณะที่การยกระดับคุณภาพ สร้างมาตรฐาน และความปลอดภัยในผลิตภัณฑ์อาหาร อีกทั้งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ในกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ จะเพิ่มมูลค่า GDP เป็น 0.9 ล้านล้านบาทอีกด้วย