ข้าราชการไทยร่ำรวยจริงหนอ | อมร วาณิชวิวัฒน์
สำนักข่าวอิสราเผยแพร่รายงานบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของข้าราชการระดับสูง ซึ่งมีเงินที่เก็บหอมรอมริบเป็นหลักร้อยล้านบาทขึ้นไปกันถ้วนหน้า
ผู้ว่าราชการจังหวัดหลายจังหวัดที่ผมรู้จักดีมาตั้งแต่เรียนหนังสือด้วยกัน หรือไปพบปะกันในหลักสูตรการศึกษาอื่นๆ พบว่า ท่านเหล่านี้มีเงินที่เก็บหอมรอมริบเป็นหลักร้อยล้านบาทขึ้นไปกันถ้วนหน้า
หลายคนที่ผมรู้จักจำได้เลยว่าเมื่อครั้งเรียนหนังสือหรือเริ่มต้นทำงานแรกๆ ท่านพักอาศัยอยู่หอพักบ้าง อยู่วัดก็มี เพราะเป็นเด็กต่างจังหวัด บางคนทุนรอนไม่พอต้องขอทุนอาหารกลางวันของมหาวิทยาลัย
มาวันนี้สถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของท่านเหล่านั้นเพิ่มพูนทวีคูณขึ้น เชื่อว่าเกิดขึ้นด้วยศักยภาพและความสามารถที่พัฒนาตัวเอง ส่วนท่านใดจะได้มาจากสินสมรสประการใดเป็นเรื่องของโชควาสนาของตัวบุคคล
แต่สังคมบางทีก็ช่างคิดช่างถาม มาตั้งข้อสังเกตที่ถ้าคิดดีก็ดีไป แต่คิดไปในทางไม่เหมาะสมก็อาจทำให้เกิดปัญหาขึ้นได้ ผมเลยพยายามศึกษาถามไถ่ผู้รู้ ก็ได้ความชัดเจนว่า การดำรงตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการจังหวัด” มีเงินถูกกฎหมายที่นำมาใช้จ่ายทางการบริหารงานจังหวัด เป็นรายได้ถูกกฎหมาย
เหมือนคนเป็นอธิบดีกรมศุลกากร จะมีเงินรางวัลสินบนนำจับเป็นส่วนแบ่งปีละหลายล้านบาท ไม่ต่างกับเบี้ยประชุม การเป็นกรรมการโน่นนี่ตามตำแหน่งแห่งที่ของข้าราชการบางแห่ง ใครมีเส้นมีสายอาจได้ไปเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจบางที่ซึ่งจ่ายเบี้ยหลักหมื่นต่อครั้งแต่ “โบนัส” หลักหลายล้านบาทต่อปี
จำได้ว่า อดีตปลัดกระทรวงท่านหนึ่งที่ผมเคยชวนมาร่วมประมูลงานศึกษาวิจัยบางเรื่องด้วยกัน ท่านถามก่อนเลยว่าจะเอา “สลิปเงินเดือน” ไปทำอะไร ท่านเลยเผยความจริงให้ทราบว่ารายได้ต่อปีหลังเกษียณนอกเหนือบำเหน็จบำนาญ ท่านยังรับสิ่งที่ติดตัวในตำแหน่งท่านอยู่เช่นนี้อีกหลายล้านบาท
ทำให้เมื่อมีการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อสาธารณะ เท่าที่ผ่านมามีข้าราชการตำแหน่งสูงๆ น้อยรายที่มีทรัพย์สินน้อยกว่าร้อยล้านบาท บางคนอาจมีคนบอกว่าได้มาทางภรรยาเป็นผู้มีฐานะอยู่แล้ว บางท่านมีคนบอกว่าท่านได้รับมรดกมา
แต่ผมไม่ได้หมายความว่า ผมมี “ร้อยล้าน” หรือมากกว่านั้น แต่การมีเงิน “ร้อยล้าน” ในยุคปัจจุบันเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องยาก ทางภาคเอกชน คนหนึ่งทำงานเงินเดือนหลักแสนหรือหลายแสน เก็บหอมรอมริบเมื่อเกษียณได้หลักหลายสิบล้านเป็นเงินเก็บไม่น่ายาก เมื่อไปรวมกับทรัพย์สินมรดก (ถ้ามี) และอาจได้จากทางฝ่ายภริยาหรือสามีบวกเข้าไปอีก การมีเงินร้อยล้านเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ในยุคเงินเฟ้อกระจายอย่างปัจจุบัน
แต่เรื่องที่มีผู้รู้บอกเล่าให้ฟังเกี่ยวกับเงินพิเศษของจังหวัดต่างๆ คือ มีเงินบำรุงมาจาก “สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล” ร้อยละสอง เดือนละหลักหลายแสน กระทั่งเป็นหลักล้านบาทต่อเดือน ขึ้นกับจังหวัดใหญ่เล็กและการขายสลากกินแบ่งของจังหวัดนั้นๆ เป็น Fake news หรือ ข่าวบิดเบือนนะครับ
ทางหน่วยต้านข่าวปลอมเขาแถลงชี้แจงมาแล้ว ตรงนี้เป็นเงินที่ได้รับการจัดสรรมาเพื่อบริหารจัดการดูแลการจัดจำหน่ายสลากรายย่อยในจังหวัด "อย่างถูกกฎหมาย" ส่วนการจะใช้ถูกประเภทหรือไม่เป็นหน้าที่ของ “สตง. หรือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน” จะเป็นผู้ดูแลการใช้จ่าย
แต่เรื่องที่ต้องฝากทางหลายหน่วยงานของกระทรวงการคลังช่วยดูแล คือ ทั้งสำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง ต้องเข้าไปหาความจริงว่า กรณีการจัดสรรงบประมาณโครงการต่างๆ ของแต่ละพื้นที่เป็นไปในลักษณะใด
เคยมี นายกองค์การบริหารจังหวัดฯ จังหวัดหนึ่งที่มีงบประมาณค่อนข้างมาก เพราะเป็นจังหวัดท่องเที่ยวมาเล่าให้ฟัง ต้องบอกก่อนว่าผมไม่เชื่อทั้งหมดแต่จริงเท็จอย่างไรเมื่อเขามาเล่าก็อยากให้ผู้เกี่ยวข้องลองพิจารณาตรวจทานดูว่าเป็นอย่างไร
เขาอ้างว่างบประมาณของ อบจ. จะมีการจัดโครงการบางส่วนเพื่อให้จังหวัดร่วมทำโครงการด้วย ตรงนี้ถ้ามองในแง่ดีน่าจะเป็นกรณีที่จังหวัดมีประสบการณ์ คงมิได้บีบบังคับว่าทุกโครงการต้องจัดให้ เพราะรายได้งบประมาณของแต่ละจังหวัดไม่เท่ากัน มากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป
ส่วนการเลือกตั้งท้องถิ่นที่เพิ่งผ่านพ้นไป และมีเสียงเรียกร้องให้มีการเลือกตั้งไปถึงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดแบบกรุงเทพมหานครนั้น ยังเป็นเรื่องห่างไกล แต่คนขับรถของผมขอลากลับบ้านต่างจังหวัดเพื่อไปใช้สิทธิในการเลือกตั้ง เห็นในข่าวคนพิการต้องมีคนอุ้มมาใช้สิทธิถึงคูหาเลือกตั้ง
ทำให้มองว่า “คนไทยเราตื่นตัวกับการเลือกตั้งมากขนาดนี้จริง ก็น่ายินดี” คงได้เห็นประชาธิปไตยเบ่งบานได้ แต่ต้องมาด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่ใช่ด้วยอามิสสินจ้างดังคำร่ำลือ ว่าเลือกตั้งทีหนึ่ง นับหัวแต่ละครัวเรือน เอาห้าพันคูณเข้าไป เพราะจำนวนเสียงที่ชนะกันนั้นอยู่ในหลักร้อย ทำให้การซื้อสิทธิขายเสียงมีการอ้างกันว่า ทำได้ง่ายแล่ะมีเจ้าบุญทุ่มเยอะ เพราะกะเกณฑ์คะแนนได้แม่นยำกว่าการเลือกตั้งแบบอื่นๆ บางคนลือว่ามีบริการรถรับส่งเลยก็มี
ไว้คนขับรถผมกลับมาคงได้ความจริงว่า เขารักประชาธิปไตยจริงแท้เพียงไร.
คอลัมน์ธรรมรัฐวิจารณ์
อาจารย์อมร วาณิชวิวัฒน์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย