เมื่อ "จีน" งัดข้อกับ "อเมริกา" รอบใหม่ด้วยประเด็น “ประชาธิปไตยแบบจีน”
การประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 19 ครั้งที่ 6 มีการรับรองมติประวัติศาสตร์ภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ที่เริ่มพูดถึงแนวคิด “ประชาธิปไตยแบบจีน”
ตั้งแต่ช่วงก่อนประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 19 ครั้งที่ 6 จีนได้เริ่มพูดถึงแนวคิด “ประชาธิปไตยแบบจีน” ในการประชุมเต็มคณะซึ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยของ สี จิ้นผิง และหลังจบการประชุมมาราวหนึ่งเดือน ประเด็นนี้ก็ถูกยกขึ้นมาตีแผ่ผ่านสื่อต่างๆ ของจีน และมีการออกสมุดปกขาวชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับประชาธิปไตยแบบจีน ในช่วงเวลาเดียวกับที่สถาบันการเงินศึกษาฉงหยาง มหาวิทยาลัยเหรินหมิน มหาวิทยาลัยชื่อดังของจีน ซึ่งได้รับการยกย่องเป็นคลังสมองของจีน เผยแพร่งานวิจัยเรื่อง 10 ประเด็นข้อสงสัยในประชาธิปไตยแบบอเมริกา
"ประชาธิปไตยแบบอเมริกา" งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยเหรินหมิน
ในงานวิจัยของทางมหาวิทยาลัยเหรินหมิน ประเด็นหลักๆ ระบุว่า อเมริกาใช้ประชาธิปไตยเป็นข้ออ้างในการเข้าไปละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในประเทศของอเมริกาเอง และยังใช้ในการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่นๆ อีก ตามข้อมูลที่อ้างอิงจาก CGTN สื่อภาคภาษาอังกฤษในเครือ China Media Group สื่อหลักของรัฐบาลจีน
งานวิจัยที่ทางมหาวิทยาลัยเหรินหมินทำออกมา ในจังหวะช่วงเวลาห่างจากการเผยแพร่สมุดปกขาวประเด็น "ประชาธิปไตยแบบจีน" เพียงไม่กี่วัน ประจวบเหมาะกับการจัดเวทีเสวนา A Dialogue on Democracy ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อ 2 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา โดยมีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวสุนทรพจน์เปิดงาน
โดยมีประโยคเด็ดที่เปรียบเทียบประชาธิปไตยกับประชาธิปไตยแบบอื่น ระบุว่า...
“ประชาธิปไตยแบบจีนที่เรียกว่าประชาธิปไตยในทุกกระบวนการ เป็นประชาธิปไตยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ที่ประชาชนได้ประโยชน์อย่างแท้จริง มีสิทธิรับรู้ แสดงออก กำกับดูแล มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ในทุกกระบวนการ ไม่ใช่ประชาธิปไตยของชนกลุ่มน้อย หรือประชาธิปไตยที่สวยแต่รูป และไม่ใช่ประชาธิปไตยที่เพียงแต่ปลุกประชาชนให้ตื่นไปเพื่อลงคะแนนเสียง แต่หลังจากนั้น กลับมีแต่ความเงียบงันเมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนแล้ว”
อ่านมาถึงจุดนี้ คิดว่าทุกคนคงจะถึงบางอ้อกันแล้วว่า การผลักดันแนวคิด ประชาธิปไตยแบบจีน หรือ ประชาธิปไตยที่ประชาชนมีส่วนร่วมทั้งกระบวนการ (Whole-Process People's Democracy) ไม่ใช่เพียงเพื่อใช้ในการพัฒนาประเทศจีน เหมือนที่การประชุมเต็มคณะของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์ชุดที่ 19 ครั้งที่ 6 ได้รับรองแนวความคิดนี้เพียงเท่านั้น แต่ยังเป็น หนึ่งในมาตรการที่จีนนำมาใช้งัดกับอเมริกา มหาอำนาจตัวแทนฝั่งประชาธิปไตย โดยเฉพาะสองสามเดือนมานี้ที่อเมริการุกหนักในประเด็นเอกราชไต้หวัน และดูเหมือนจะสถานการณ์ดีขึ้น หลังการประชุมออนไลน์ครั้งแรกระหว่าง สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน และ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีอเมริกา เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา
แต่ความขัดแย้งระหว่างจีนและอเมริกากลับมารุนแรงอีกครั้งในช่วงสองสัปดาห์มานี้ เมื่อทางสหรัฐอเมริกากลับมาจุดประเด็นบอยคอต หรือคว่ำบาตรทางการทูต ไม่ส่งเจ้าหน้าที่รัฐเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาว กรุงปักกิ่ง ที่จะมีขึ้นต้นปี 2022 มันจึงไม่น่าแปลกใจที่ทำไม จีน ถึงเอาแนวความคิดประชาธิปไตยแบบจีนมาโหมกระหน่ำทั้งภายในและนอกประเทศหนักขนาดนี้ พร้อมกันกับชี้ปัญหาของประชาธิปไตยแบบอเมริกาไปในเวลาเดียวกัน
สรุป ประชาธิปไตยแบบจีน ที่จีนพยายามสื่อออกมา มันเป็นแบบไหน?
ผู้เขียนขอสรุปพอสังเขปว่า แม้จีนจะมีรูปแบบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ แต่จีนภายใต้ยุค สี จิ้นผิง พยายามสร้างภาพลักษณ์มาโดยตลอดว่า “รับฟังเสียงประชาชน” หลายนโยบายมีการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นทั้งออฟไลน์และออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มที่ทางรัฐกำหนดไว้ ก่อนจะนำมาตรการหรือนโยบายนั้นไปใช้จริง และอีกหนึ่งแนวคิดประชาธิปไตยของจีนที่ สี จิ้นผิง นำเสนอแนวคิดนี้คือ พรรคคอมมิวนิสต์เป็นศูนย์กลางการปกครองประเทศจีน แต่มีการขยายการมีส่วนร่วมทางการเมืองไปสู่ประชาชน ตามสิทธิที่ทางรัฐบาลให้ ยกตัวอย่างเช่นการร่วมแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายและมาตรการภาครัฐตามที่ผู้เขียนได้ยกตัวอย่างไปข้างต้น
นอกจากนี้ กลไกการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐให้ดำรงตำแหน่งต่างๆ มีการกำหนดให้มีช่วงเวลาสำหรับการเปิดรับความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชาและผู้บังคับบัญชา เพื่อพิจารณาว่าเหมาะสมในตำแหน่งนั้นหรือไม่ นี่คือส่วนหนึ่งในกลไกปกครองของจีน ภายใต้สิ่งที่จีนเรียกว่าประชาธิปไตย ที่นำมาทดแทนการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยตะวันตก
การประชุมพรรคทุก 5 ปี และการประชุมสภาปรึกษาการเมืองแห่งประชาชนจีน ทางจีนยังระบุว่าคือส่วนของประชาธิปไตยเช่นกัน เนื่องจากสภาที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติจีน (CPPCC) มาจากทุกภาคส่วนในสังคมจีน
อีกประเด็นสำคัญที่จีนเน้นย้ำมาก คำว่าประชาธิปไตยของพวกเขาคือ ประชาธิปไตยในมุมมองของแต่ละประเทศแตกต่างกัน โดยประชาธิปไตยจะเกิดประโยชน์หรือไม่ ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนตามอัตลักษณ์ของแต่ละประเทศ
อย่างไรก็ตาม จีนเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ก็อยู่ที่มุมมองของแต่ละคนจริงๆนั่นแหล่ะครับ แต่มันน่าสนใจไม่น้อยเลยใช่หรือไม่ ที่จีนภายใต้การนำของ สี จิ้นผิง จะนำประเด็นนี้มาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งเพื่องัดข้อกับอเมริกา ประเทศที่ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยมาโดยตลอด เรื่องนี้จึงน่าจับตามองต่อไปจริงๆ
ผู้เขียน : ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่